GISTDA พบจุดความร้อนในไทยพุ่ง 502 จุด พื้นที่เกษตรมากสุด

29 เม.ย. 2566 | 12:32 น.
อัปเดตล่าสุด :29 เม.ย. 2566 | 12:44 น.

GISTDA รายงานจุดความร้อนในไทยทั้งสิ้น 502 จุด พื้นที่เกษตรมากสุด 172 จุด "น่าน” เป็นจังหวัดที่พบมากสุดถึง 57 จุด ขณะที่เมียนมาพุ่งปรี๊ด 1,527 จุด, สปป.ลาว 752 จุด, เวียดนาม 250 จุด, กัมพูชา 118 จุด และมาเลเซีย 13 จุด

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 28 เมษายน 2566 ว่า ไทยพบ จุดความร้อน ทั้งสิ้น 502 จุด ในขณะที่จุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา มีจำนวน 1,527 จุด, สปป.ลาว 752 จุด, เวียดนาม 250 จุด, กัมพูชา 118 จุด และมาเลเซีย 13 จุด

GISTDA พบจุดความร้อนในไทยพุ่ง 502 จุด พื้นที่เกษตรมากสุด

จุดความร้อนในประเทศไทยวานนี้พบในพื้นที่เกษตรมากที่สุด 172 จุด, ป่าสงวนแห่งชาติ 127 จุด, ป่าอนุรักษ์ 86 จุด, พื้นที่เขต สปก. 51 จุด, พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 50 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 16 จุด ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือ น่าน 57 จุด

ส่วนค่าฝุ่น PM2.5 เมื่อตรวจสอบจากแอปพลิเคชัน "เช็คฝุ่น" แบบรายชั่วโมง เมื่อเวลา 08:00 น. ที่ผ่านมา พบ 19 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางที่มีค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในระดับสีส้ม ขอให้ประชาชนควรสวมหน้ากากอนามัย และงดกิจกรรมภายนอกอาคารสถานที่เพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจที่จะตามมา ส่วนภาพรวมของกรุงเทพมหานครมีค่าคุณภาพอากาศดี 

สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ประกอบกับภูมิประเทศทางภาคเหนือของไทยมีลักษณะเป็นหุบเขาแอ่งกระทะ จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการพัดและการเคลื่อนตัวของกระแสลมในพื้นที่เป็นสำคัญ

ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบให้กับระบบต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้คือ การสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น