นายเรเจพ ทายยิพ แอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกี วัย 69 ปี ครองอำนาจเป็นผู้นำประเทศมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งนับจนถึงปีนี้ที่กำลังจะมี การเลือกตั้งทั่วประเทศ และ เลือกตั้งประธานาธิบดี ในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. ก็นับว่าเขายึดครองอำนาจอย่างเหนียวแน่นมาเกือบ 20 ปี ความนิยมที่เคยมีเคยได้ เริ่มจะลดน้อยถดถอยลง และมีแรงกดดันจากคู่แข่งขันเพิ่มมากขึ้น การรักษาอำนาจต่ออีกสมัยอาจไม่ง่ายเหมือนที่เคยเป็นมา
คู่แข่งคนสำคัญของนายแอร์โดอาน ณ เวลานี้ คือ นายเคมาล คิลิชดาโรกลู วัย 74 ปี เป็นข้าราชการวัยเกษียณและเป็นตัวแทนของพันธมิตรพรรคฝ่ายค้านที่จับมือรวมกัน 6 พรรค สิ่งที่เป็นความท้าทายที่สุดก็คือ การพิชิตใจและสร้างความนิยมให้เกิดขึ้นในหมู่ “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก” ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีจำนวนมากถึง 5 ล้านคน
ที่กล่าวว่าเป็นความท้าทาย ก็เนื่องมาจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร
ชายหนุ่มวัย 20 ปีคนหนึ่งกล่าวว่า แอร์โดอานเป็นผู้นำที่มีเสน่ห์ และน่าจะสานต่อความสำเร็จที่เคยทำมาในอดีต ทั้งเรื่องพลังงานและการทหาร ขณะที่สตรีวัย 20 ปีอีกคนก็ยืนยันว่า แอร์โดอานทำให้ชาวตุรกีมีเสรีภาพมากขึ้นจากการที่เขายกเลิกคำสั่งห้ามสตรีสวมฮิญาบในมหาวิทยาลัยและสถานที่ราชการ
ท่าทีนี้สวนทางกับวัยรุ่นคนหนุ่มสาวอีกหลายคนที่ประกาศว่า พวกเขาจะลงคะแนนเสียงให้กับฝ่ายค้าน เพราะไม่พอใจเรื่องเงินเฟ้อที่สูงมากถึง 44% ในขณะนี้ และเรื่องที่รัฐบาลชุดปัจจุบันพยายามปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน
นักวิเคราะห์มองว่า อีกจุดเปลี่ยนอาจจะขึ้นอยู่กับ กลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่เป็นสตรี ทั้งนี้ กลุ่มสตรีสายอนุรักษนิยมเคยช่วยให้แอร์โดอานชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของตุรกีเมื่อเดือนมีนาคม 2546 ต่อมาก็ยังทำให้เขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 12 เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 อีกด้วย
แต่สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่า เขาได้รับคะแนนสนับสนุนจากกลุ่มสตรีลดน้อยลง เหตุผลเกิดจากเขานำตุรกีออกจากอนุสัญญาอิสตันบูลที่ปกป้องสตรีจากความรุนแรงในครอบครัว นอกจากนี้ แอร์โดอานยังเคยกล่าวถึงสตรีที่ไม่มีบุตรว่า “เป็นสตรีแค่ครึ่งเดียว” ทั้งยังแนะนำให้สตรีมีบุตรอย่างน้อย 3 คน และเห็นว่าชายหญิงไม่ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
ด้วยเหตุนี้ บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา จึงระบุว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีตุรกีที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์นี้ (14 พ.ค.) จะเป็นด่านยากที่สุด หินที่สุด สำหรับปธน.แอร์โดอาน
ตัวแปรทางเศรษฐกิจไม่เป็นใจอย่างยิ่ง
ท่ามกลางความไม่แน่นอน ความวิตกกังวล ความคาดหวังปนเปกับความตึงเครียดในความรู้สึกของชาวตุรกีที่กำลังเผชิญกับเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ตุรกีเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของยุโรป มีประชากร 85 ล้านคน ขณะนี้กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง ขณะที่ค่าเงินลีราตกดิ่ง มาตรฐานการครองชีพตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว เมื่อต้องมาเผชิญกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 50,000 ราย และอีกหลายล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย ก็ยิ่งเหมือนผีซ้ำด้ามพลอย ทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจยิ่งยากลำบาก
นักวิเคราะห์ที่ติดตามเส้นทางการขึ้นสู่อำนาจของนายแอร์โดอานมานานกว่า 30 ปี เชื่อว่านายแอร์โดอานจะต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อกุมอำนาจเอาไว้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ชาวตุรกีส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ พวกเขาต้องการความเปลี่ยนแปลง
ในระยะหลัง ๆนี้ โพลหลายสำนักชี้ว่า คู่แข่งจากพรรคฝ่ายค้านอย่างนายคิลิชดาโรกลูแม้จะมีความได้เปรียบมากขึ้น แต่นายแอร์โดอานเองก็ยังอาจเอาชนะได้เนื่องจากฐานเสียงสนับสนุนที่แข็งแกร่งของเขาในดินแดนที่เคร่งครัดศาสนาแห่งนี้ มีเพียงปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่อาจผลักดันให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง หันไปลงคะแนนให้คู่แข่งของนายแอร์โดอาน เพียงเพราะพวกเขาต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง
ในช่วงใกล้ถึงกำหนดการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของตุรกีในวันนี้ (14 พ.ค.) เทรดเดอร์ในตลาดการเงิน คาดการณ์ว่า ค่าเงินรีลาของตุรกีจะทรุดตัวลงอย่างหนัก หากประธานาธิบดีแอร์โดอาน ชนะการเลือกตั้งและได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปอีกหนึ่งสมัย
ปัจจุบัน ค่าเงินลีราแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 19.56 ลีราเทียบดอลลาร์สหรัฐ และนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า สกุลเงินลีรายังมีสิทธิ์ที่จะร่วงลงได้อีก นี่คือหนึ่งในสกุลเงินที่กำลังเผชิญกับสภาวะผันผวนมากที่สุดในตลาดเงินตราโลก
ไมค์ แฮร์ริส ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา Cribstone Strategic Macro (คริบสโตน สตราทิจิค มาโคร) ให้ความเห็นกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า หากปธน.แอร์โดอาน คว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ค่าเงินลีราจะทรุดหนักภายในเวลาไม่กี่เดือน "ท้ายที่สุดแล้ว หากเกิดการขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน ค่าเงินลีราของตุรกีอาจจะเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ทรุดตัวลงมากที่สุดในโลกไปอีกระยะหนึ่ง"
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับสตีฟ เอช. แฮงก์ ศาสตราจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ประจำมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ที่กล่าวว่า สกุลเงินลีราของตุรกีตกอยู่ในภาวะวิกฤตและเผชิญความผันผวนอย่างมากมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และนั่นก็เป็นผลมาจากแนวคิดนโยบายทางการเงินที่ล้มเหลวของนายแอร์โดอานในฐานะผู้นำประเทศ