“เยอรมนี” ฟอร์มตก “เศรษฐกิจอ่อนแอที่สุดในโลก”

26 พ.ค. 2566 | 09:08 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2566 | 09:37 น.

“เยอรมนี” ที่ได้ชื่อว่า “เศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุด” ประเทศหนึ่งของโลก ตกอยู่ใน “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศ “ใช้จ่ายลดลงมากที่สุดของยุโรป” หลังราคาพลังงานพุ่งสูง ด้าน IMF ชี้ กลายเป็นประเทศ “เศรษฐกิจอ่อนแอที่สุดปีนี้”

หลังจากที่ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเยอรมนี และทำให้เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย

เยอรมนี ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรป จีดีพี "หดตัวลงลง 0.3% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566" เป็นการหดตัวต่อเนื่อง หลังจากไตรมาสสุดท้ายปี 2565 จีดีพีหดตัว 0.5% 

สำนักงานสถิติแห่งชาติ "ปรับลดจีดีพีโตเป็น 0"   เทียบกับในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเมื่อ ไม่เติบโตติดต่อกัน 2 ไตรมาส นั่นแปลว่า "เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย" จากผลผลิตที่ลดลงติดต่อกัน

ราคาพลังงานที่สูงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของเยอรมนี ลดลง 1.2% ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2566

ผลสืบเนื่องมาจาก "รัสเซียบุกยูเครน" เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ส่งผลให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และรัฐบาลมอสโกก็หยุดส่งก๊าซไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป กระตุ้นให้เยอรมนีประกาศภาวะฉุกเฉิน

ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติยังยืนอยู่ที่ระดับทรงตัว ตั้งแต่ปลายปี 2564 ชี้ให้เห็นว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อผ่อนคลายลง

อัตราเงินเฟ้อในเยอรมนีเมื่อเดือนเมษายน ชะลอตัวลงอยู่ที่ระดับ 7.2% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเขตยูโร แต่ "ต่ำกว่าสหราชอาณาจักร"  ที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 8.7% 

“การใช้จ่ายของผู้บริโภคพุ่งสูงขึ้นเมื่ออัตราเงินเฟ้อผ่อนคลายลง" แต่ยังไม่ชัดเจนว่า จีดีพีจะยังคงลดลงในไตรมาสต่อๆไปหรือไม่ ซึ่งเวลานี้ "ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง”

แต่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยของเยอรมนี "อาจเป็นแค่ชั่วคราว" หลังการสำรวจเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ากิจกรรมทางธุรกิจในประเทศขยายตัวอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม แม้ว่าภาคการผลิตจะชะลอตัวลงอย่างมากก็ตาม

“โอลาฟ สกอลซ์” นายกรัฐมนตรีเยอรมัน กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจว่า “สดใสมาก” โดยชี้ไปที่มาตรการขยายการผลิตพลังงานหมุนเวียนและดึงดูดแรงงานต่างชาติ ที่รัฐบาลของเขาได้ดำเนินการในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เขาเผยว่า "มีการลงทุนจำนวนมาก" ในเยอรมนี ทั้งโรงงานแบตเตอรี่และเรือเพิ่มขึ้นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม “ฟรังซิสกา พาลมาส” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของยุโรปที่ Capital Economics คาดการณ์ว่า "ผลผลิตของเยอรมันจะหดตัวอีกครั้งในไตรมาสที่ 3 และ 4"

เธอกล่าวว่า “อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จำเป็นต้องควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ที่จะยังส่งผลกระทบต่อทั้งการบริโภค การลงทุน และการส่งออก เพราะประเทศคู่ค้าที่เศรษฐกิจยังเปราะบาง ทำให้อุปสงค์ลดลง โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของเยอรมนี รองจากสหรัฐฯ การส่งออกรถยนต์เยอรมันไปยังจีนลดลง 24% ในไตรมาสแรกปีนี้”

เดือนเมษายนที่ผ่านมา สถาบันเศรษฐกิจเยอรมัน 5 แห่ง ออกรายงานพยากรณ์เศรษฐกิจเยอรมนี ระบุ GDP ของประเทศจะหดตัว 2.2% ในปี 2566 หากกระบวนการจัดส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียหยุดชะงัก

ทั้งนี้ เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว รัสเซียปิดท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซหลักของเยอรมนีเพื่อทำการซ่อมบำรุง และขยายเวลาปิดออกไปอย่างไม่มีกำหนด สิ่งนี้ถือเป็นปัจจัยลบที่ท้าทายการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีอย่างมาก

ด้าน "ธนาคารกลางเยอรมนี" หรือ Bundesbank คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปในไตรมาสเดือนเม.ย.-มิ.ย. การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมในประเทศ จะชดเชยการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ซบเซา

 "กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF" คาดการณ์ว่า เยอรมนีจะเป็นประเทศก้าวหน้าที่มี “เศรษฐกิจอ่อนแอที่สุดในโลก” ในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัว 0.1% ในปีนี้ เทียบกับอังกฤษที่ปรับตัวเลขคาดการณ์ จากติดลบ 0.3% มาเป็นเป็นเติบโต 0.4%