สหรัฐ ประสบปัญหาตัวเลขหนี้สาธารณะ “แตะเพดาน” ที่ 31.38 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อ 19 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา "รัฐมนตรีคลังสหรัฐ" เคยเตือนว่า จะเกิด "หายนะทางเศรษฐกิจ" หากรัฐบาล ไม่เพิ่มเพดานหนี้ และต้องผิดนัดชำระหนี้ เพราะคลังจะมีเงินใช้จ่ายถึงแค่ต้นเดือน มิ.ย.นี้เท่านั้น
ตลอดกว่า 200 ปีที่ผ่านมา สหรัฐไม่เคยค้างชำระหนี้เลย แต่ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สหรัฐมี "หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า" และยังมีการก่อหนี้เพิ่มเรื่อยๆ ปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะ ต่อ GDP ของสหรัฐ "สูงถึง 133 %"
สภาผู้แทนราษฎรที่มี "พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก" มีท่าทีไม่ต้องการผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้อีก 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ นอกเสียจากว่า "รัฐบาลโจ ไบเดน" จะ “ตัดลดงบประมาณ” ในโครงการต่างๆ ไบเดนได้เสนอแนวทาง “ปรับเพิ่มรายได้” โดย “เพิ่มการจัดเก็บภาษี" จากบุคคลที่ร่ำรวยและบริษัทเอกชน แต่ดูเหมือนพรรครีพับลิกันจะไม่ชอบใจนัก
เมื่อวันอังคาร (16 พ.ค.) การประชุมร่วมระหว่างไบเดน กับ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และแกนนำในสภาคองเกรสเพื่อหารือเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ "ยังไม่สามารถตกลงกันได้ "
หากสหรัฐไม่สามารถเพิ่มเพดานหนี้ทันเวลา ก็มีความเสี่ยงที่เงินจะหมดคลัง และ “ผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์” และอาจก่อให้เกิดหายนะทั้งทางการเงินและเศรษฐกิจตามมา
การผิดชำระหนี้ คืออะไร
การผิดชำระหนี้ เกิดขึ้นเมื่อผู้กู้ไม่สามารถชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยที่จำเป็นให้แก่ผู้ให้กู้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
“การผิดนัดที่เกิดขึ้นจริง” หรือ Actual default เกิดจากกรณีรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ไม่สามารถชำระหนี้ในส่วนของตน เช่น หนี้พันธบัตรรัฐบาล
ส่วน “การผิดนัดทางเทคนิค” หรือ Technical default ที่แม้รัฐบาลชำระพันธบัตรตามกำหนดเวลา แต่ยังไม่ชำระเงินสำหรับภาระหน้าที่อื่นๆ เช่น จ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิประกันสังคมและพนักงานของรัฐ ซึ่งส่งผลเสียต่อชาวอเมริกันหลายล้านคนที่พึ่งพารายได้จากรัฐบาลสหรัฐฯ สิ่งนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญของการชำระหนี้ของรัฐบาล
ผลจากการผิดชำระหนี้ของสหรัฐ
ผลจากการที่สหรัฐผิดชำระหนี้ ไม่เพียงส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงแต่ในสหรัฐเท่านั้น แต่ยัง "ส่งผลกระทบไปทั่วโลก" ด้วย และแม้ว่าเราจะไม่สามารถคาดเดาผลลัพธ์ที่แน่นอนได้ แต่จากการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญ นี่คือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
1.ระบบการเงินทั่วโลกปั่นป่วน เนื่องจากระบบการเงินโลกพึ่งพาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ การผิดนัดอาจนำไปสู่การ "สูญเสียความเชื่อมั่น" ในรัฐบาลสหรัฐ และความตื่นตระหนกในตลาดโลก และมีผลให้ "ราคาสินทรัพย์ลดลง" และการหยุดชะงักของการค้าระหว่างประเทศ
2.เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า จะมีผลต่อการ "ตลาดแรงงานของสหรัฐ" หากเป็นการผิดนัดทางเทคนิค จะเพิ่มการว่างงานจาก 3.4% เป็น 7% และการผิดนัดจริง จะเพิ่มจาก 3.4% เป็นกว่า 12% การว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ อาจนำไปสู่ "การลดการใช้จ่ายของผู้บริโภค" และภาวะเศรษฐกิจถดถอย
3.อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ย้อนไปในปี 2522 กระทรวงการคลังสหรัฐ มีความล่าช้าในการชำระพันธบัตรรัฐบาล จำนวน 122 ล้านดอลลาร์ ทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้น พุ่งขึ้น 0.6 % หากสหรัฐผิดนัดจริง ต้นทุนการกู้ยืมจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจหยุดชะงักในที่สุด
4.การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ การผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐ อาจทำให้ "ความเชื่อมั่นในเงินดอลลาร์ลดลง" และผลักดันให้หลายประเทศ มองหาหาสินทรัพย์ทางเลือกอื่นที่น่าเชื่อถือมากกว่า สิ่งนี้จะลดความต้องการเงินดอลลาร์ ทำให้ "มูลค่าลดลง" เพิ่มต้นทุนการนำเข้าสินค้า และนำไปสู่ "อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น" ในที่สุด
5.อันดับเครดิตลดลง หากสหรัฐผิดนัดชำระ หน่วยงานจัดอันดับเครดิตจะปรับลดอันดับเครดิตของสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ "การกู้ยืมในอนาคตแพงขึ้น" สำหรับรัฐบาลสหรัฐ ก่อนหน้านี้ สหรัฐเคยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นครั้งแรกในปี 2554 โดย Standard & Poor’s แม้ว่าจะไม่เคยเกิดการผิดนัดชำระหนี้
6.การทำงานของรัฐบาลบกพร่อง การผิดนัดชำระหนี้ อาจบังคับให้รัฐบาล "ชะลอการจ่ายเงิน" ให้กับผู้รับประกันสังคม หรือพนักงานบริษัท ประชาชนชาวอเมริกันหลายล้านคนจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่ลง มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
7.ผลเสียทางการเมือง จากที่คนอเมริกันจำนวนมากที่เคยเทคะแนนให้พรรครัฐบาลปัจจุบัน อย่างพรรคเดโมแครต อาจเทคะแนนไปอีกฟากทางการเมืองให้ "โดนัลด์ ทรัมป์" ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2567
ก่อนหน้านี้ในปี 2554 การงัดข้อระหว่างพรรครีพับลิกันและเดโมแครตเรื่องการเพิ่มเพดานหนี้ เคยทำให้ประเทศสหรัฐ "เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้" มาครั้งหนึ่งแล้ว และสหรัฐถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงมา
คงต้องรอติดตามภายในสุดสัปดาห์นี้ ว่าสภาคองเกรสสหรัฐ จะบรรลุข้อตกลงเพื่อฝ่าวิกฤตินี้ได้หรือไม่ เพราะนี่ถือเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน