สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ขณะนี้ ยูเครน กำลังรับมือกับ ภัยพิบัติ ด้านมนุษยธรรมและด้านระบบนิเวศครั้งใหญ่ เนื่องจากมวลน้ำมหาศาล ได้ไหลทะลักเข้าท่วมหลายพื้นที่ในแคว้นเคอร์ซอน ทางตอนใต้ของยูเครน หลัง เขื่อนโนวา คาคอฟกา (Nova Kakhovka) ถูกระเบิดพังเสียหายเมื่อวันอังคาร (6 มิ.ย.)
รายงานระบุว่า ยูเครนและรัสเซียต่างกล่าวโทษกันไปมาว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ที่โจมตีเขื่อนในช่วงเช้าตรู่ของวันอังคาร (6 มิ.ย.) ซึ่งเหตุระเบิดเขื่อนจนแตกเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ได้สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างในเวลาต่อมา และส่งผลให้ประชาชนหลายหมื่นคนต้องอพยพออกจากที่พักอาศัย และชุมชน 80 แห่งรายรอบพื้นที่ต้องเสี่ยงเผชิญปัญหาอุทกภัย โดยระดับน้ำได้แตะระดับสูงตั้งแต่วันพุธ (7 มิ.ย.)
จากคลิปวิดีโอที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน และเจ้าหน้าที่รายอื่นเผยให้เห็นภาพน้ำที่ไหลบ่าลงมาเหนือสันเขื่อนที่พังเสียหาย โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า เขื่อนดังกล่าว สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต จุน้ำปริมาณ 18 ลูกบาศก์กิโลเมตร (4.3 ลูกบาศก์ไมล์) หรือเทียบเท่าทะเลสาบเกรตซอลต์ (Great Salt Lake) ที่ตั้งอยู่ในรัฐยูทาห์ของสหรัฐอเมริกา
ทางการยูเครนกล่าวหาว่า กองกำลังรัสเซียเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการระเบิดเขื่อนครั้งนี้ โดยมีเจตนาจะชะลอการโจมตีตอบโต้ของยูเครนในดินแดนทางตอนใต้ที่ถูกกองทัพรัสเซียยึดครองอยู่
ขณะที่รัสเซียได้ออกมาปฏิเสธพร้อมโต้กลับว่า ยูเครนเองเป็นฝ่ายจงใจทำลายเขื่อนดังกล่าว เพื่อสร้างความเสียหายให้กับแหล่งน้ำในดินแดนไครเมียทางตอนใต้ของยูเครนที่รัสเซียยึดครองอยู่ และเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากปฏิบัติการรุกตอบโต้ของฝ่ายยูเครน
นักวิเคราะห์แสดงความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่เขื่อนจะได้รับความเสียหายในเชิงโครงสร้างและจากการจัดการที่ผิดพลาด ซึ่งบั่นทอนความแข็งแรงของเขื่อนก่อนที่มันจะแตกออกเมื่อวันอังคาร
สำนักข่าวทาสส์ของรัสเซียรายงานว่า หน่วยงานของรัสเซียซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ยึดครองได้บางส่วนของแคว้นเคอร์ชอนของยูเครนได้ประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว หลังจากบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมหนักทวีจำนวนมากขึ้น
เกี่ยวกับเขื่อนโนวา คาคอฟกา (Nova Kakhovka)
เขื่อนขนาดใหญ่แห่งนี้ ตั้งอยู่บนแม่น้ำดนิโปร (Dnipro) ในเมืองโนวา คาคอฟกา (Nova Kakhovka) ของแคว้นเคอร์ซอน (Kherson) ทางภาคใต้ของประเทศยูเครน ก่อสร้างขึ้นมาในปีพ.ศ. 2499 ตั้งแต่สมัยรัสเซียยังเป็นสหภาพโซเวียต
เขื่อนโนวา คาคอฟกา จุน้ำได้ปริมาณ 18 ลูกบาศก์กิโลเมตร และเป็นส่วนหนึ่งของโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟกา
ขณะเดียวกัน เขื่อนดังกล่าวยังจัดสรรน้ำให้กับคาบสมุทรไครเมียซึ่งรัสเซียผนวกดินแดนในปี 2557 และยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งน้ำสำหรับหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอร์ริซเซีย ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซียเช่นกัน
นอกจากนี้ น้ำจากอ่างเก็บน้ำคาคอฟกายังถูกใช้ในสถานีไฟฟ้าพลังน้ำ ระบบชลประทาน และฟาร์มปลาน้ำจืดด้วย
พื้นที่ตั้งเขื่อนได้ถูกรัสเซียยึดครองไว้ภายใต้สงครามที่ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2565 การที่เขื่อนแตกครั้งนี้ ได้สร้างความหวั่นวิตกด้านความปลอดภัย อุปทานน้ำ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป ที่ต้องใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำโนวา คาคอฟกาในการหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
ประกาศภาวะฉุกเฉินพื้นที่ภัยพิบัติ
ขณะที่ยูเครนและรัสเซียยังโทษกันไปมา ว่าต่างฝ่ายเป็นผู้ลงมือระเบิดเขื่อน แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงของคำกล่าวอ้างดังกล่าว
ทั้งนี้ คลิปวิดีโอที่ตรวจสอบโดยสำนักข่าวเอ็นบีซี แสดงให้เห็นภาพน้ำไหลบ่าลงมาเหนือสันเขื่อนที่พังเสียหายและท่วมเอ่อชุมชนในบริเวณรายรอบ โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการอพยพประชาชนที่ได้รับผลกระทบกว่า 4 หมื่นคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่ำบริเวณปลายน้ำ
หน่วยบริการฉุกเฉินกล่าวกับสำนักข่าวทาสส์ว่า บ้านเรือน 2700 หลังในชุมชน 15 แห่งของเคอร์ชอน ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยหลายหมื่นคน ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม มีการอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ ขณะที่ระดับน้ำ ณ เขื่อนโนวา คาคอฟกาสูงเกิน 12 เมตรวานนี้ (7 มิ.ย.)
รัสเซียประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตโนวา คาคอฟกาแล้ว ด้านประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ประกาศว่า รัฐบาลและสำนักงานสาธารณะของยูเครนกำลังพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อปกป้องประชาชน โดยผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตอันตรายถูกสั่งให้อพยพออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด
บริษัท อูเครฮีโดรเนอร์โก (Ukrhydroenergo) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของรัฐบาลยูเครนระบุว่า เหตุระเบิดครั้งนี้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเขื่อนโนวา คาคอฟกา และต้นตอมาจากห้องเครื่องยนต์
"การจุดชนวนระเบิดจากภายในห้องเครื่องยนต์ส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟกาเสียหายโดยสิ้นเชิง และไม่สามารถกอบกู้สถานีโรงไฟฟ้าดังกล่าวกลับมาได้อีก"
ครึ่งหนึ่งของเขื่อนโนวา คาคอฟกาดูเหมือนจะพังเสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้ และสำนักข่าวทาสส์ของรัสเซียรายงานว่า โครงสร้างของเขื่อนดังกล่าวพังทลายลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เจ้าหน้าที่รัสเซียในเมืองโนวา คาคอฟการะบุว่า ไม่สามารถซ่อมแซมเขื่อนแห่งนี้ได้แล้ว
นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ระบุว่า การทำลายเขื่อนโนวา คาคอฟกานั้นเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของประชาชนหลายพันคน และสร้างความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง ขณะที่สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) ระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า กำลังจับตาสถานการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียอย่างใกล้ชิด แต่ขณะนี้ยังไม่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าดังกล่าว