กองทัพอากาศยูเครนแถลงวานนี้ (6 พ.ค.) ถึงการใช้ ระบบป้องกันขีปนาวุธ “แพทริออต” (Patriot) ที่ ยูเครน ได้มาจากสหรัฐอเมริกา ทำให้สามารถสกัดการโจมตีโดยขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก หรือ ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง “คินชาล” (Kinzhal) ของ รัสเซีย ที่ถูกยิงมาในวิถีเพื่อการโจมตีกรุงเคียฟเมื่อคืนวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา
ถ้อยแถลงดังกล่าว นับเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ที่ฝ่ายความมั่นคงของยูเครนเปิดเผยถึงการใช้ระบบป้องกันแพทริออตในสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ทั้งนี้ รัฐบาลเคียฟได้รับมอบระบบแพทริออตชุดแรกเมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา จากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ แต่ไม่มีการเปิดเผยอย่างชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนอุปกรณ์ รายงานข่าวระบุว่า ระบบแพทริออต 1 ชุด ต้องใช้ทหารมากถึง 90 นาย ในการใช้งานและดูแล
ก่อนหน้านี้ ยูเครนมีความพยายามขอความสนับสนุนจากสหรัฐและพันธมิตรชาติตะวันตกเกี่ยวกับอาวุธยุทโปกรณ์เพื่อการป้องกันตนเองมาหลายปีแล้ว โดยนายโอเล็กซี เรซนิคอฟ รัฐมนตรีกลาโหมยูเครน ได้ขอความสนับสนุนด้านระบบแพทริออตจากสหรัฐระหว่างการเยือนกรุงวอชิงตันตั้งแต่เมื่อเดือนส.ค. 2564 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนรัสเซียรุกรานยูเครนเกือบ 1 ปี โดยในเวลานั้นทั้งสองประเทศมีความขัดแย้งยืดเยื้อระหว่างกัน จากกรณีคาบสมุทรไครเมีย แต่สหรัฐก็เพิ่งจะดำเนินการตามคำขอของยูเครนเมื่อเร็วๆนี้เอง
สำหรับระบบป้องกันแพทริออตนั้น ผลิตโดยบริษัทล็อกฮีด มาร์ตีน ร่วมด้วยโบอิ้ง และเรย์เธียน ซึ่งเป็นบริษัทของสหรัฐอเมริกา ถูกนำเข้าประจำการในกองทัพสหรัฐเป็นครั้งแรกเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1980 โดยจรวดสกัดขีปนาวุธแต่ละนัดมีราคาประมาณ 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 134.88 ล้านบาท )
ขณะที่รัฐบาลมอสโกยังไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องนี้ สื่อรายงานว่า รัสเซียเปิดตัว ขีปนาวุธคินชาล (Kinzhal) อย่างเป็นทางการเมื่อเดือน มี.ค. 2561 เป็นครั้งแรก และปัจจุบัน กองทัพรัสเซียมีขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกอย่างน้อย 3 รุ่น ซึ่งนอกจากคินชาล ซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเหนือเสียง 10 เท่าและมีพิสัยทำการเป็นระยะทางไกลถึง 2,000 กิโลเมตรแล้ว รัสเซียยังมีขีปนาวุธ “เซอร์คอน” และ “อาวองการ์ด” อีกด้วย