กต.แจงการหารือสันติภาพเมียนมาในไทย 19 มิ.ย.ไม่อยู่ในกรอบอาเซียน

18 มิ.ย. 2566 | 18:55 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2566 | 19:34 น.

กต.ชี้แจงกรณีไทยจัดประชุมพบปะแบบสนทนาอย่างไม่เป็นทางการว่าด้วยเรื่องความขัดแย้งในเมียนมา ไม่ได้เป็นการประชุมในกรอบอาเซียน หลังรัฐมนตรีต่างประเทศหลายชาติสมาชิกปฏิเสธเข้าร่วมการประชุม

 

กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ชี้แจงแล้ว จากกรณีสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลรักษาการของไทย กำลังเสนอแผนเพื่อให้เกิดการทำงานร่วม ระหว่าง อาเซียน กับ รัฐบาลทหารเมียนมา อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง ด้วยการจัดประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการพูดคุยกันถึงแผนสันติภาพที่ยังขาดความคืบหน้า โดยข้อเสนอที่จะทำงานร่วมกับเมียนมาถูกระบุในจดหมายวันที่ 14 มิ.ย. ออกโดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ไปยังรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกอาเซียน รวมทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมา แต่อินโดนีเซียซึ่งเป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียน ได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

นอกจากนี้ รอยเตอร์ยังอ้างอิงรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ที่ออกมาระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลทหาร(ของเมียนมา) อีกครั้ง ไม่ว่าจะในระดับการประชุมสุดยอด หรือระดับรัฐมนตรีก็ตาม ขณะที่มาเลเซียและฟิลิปปินส์ แหล่งข่าวระบุว่า จะไม่ส่งรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมที่ไทยเสนอจัดขึ้นเช่นกัน

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ด้านรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาของเมียนมา ก็ออกแถลงการณ์ตำหนิการดำเนินการของทางการไทย โดยระบุว่า การเชิญรัฐบาลทหารที่มิชอบด้วยกฎหมายมาหารือในครั้งนี้ จะไม่นำไปสู่การแก้ไขวิกฤตการเมืองของเมียนมาแต่อย่างใด

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจง เนื้อหาระบุว่า การประชุมที่จะมีขึ้นในวันจันทร์ (19 มิ.ย.) ไม่ได้เป็นการประชุมในกรอบของอาเซียน แต่จะช่วยส่งเสริมความพยายามของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาในเมียนมา ซึ่งไทยได้แจ้งอย่างเป็นทางการต่อที่ประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) ของอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ แล้วเมื่อปีที่ผ่านมา (2565) ว่า ไทยจะดำเนินการให้มีการพูดคุยเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาในเมียนมาอย่างสันติ ซึ่งสมาชิกอาเซียนต่างก็รับทราบและไม่มีผู้คัดค้าน

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ไทยยังเคยจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับเมียนมาแล้วหลายครั้ง ในหลากหลายรูปแบบและหลายระดับ โดยครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 3

อีกทั้งไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับเมียนมาถึง 2,400 กิโลเมตร ต้องการเห็นสันติภาพและเสถียรภาพกลับคืนสู่เมียนมาอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนการพูดคุยกันเพื่อหาทางออกโดยสันติวิธีและยุติการใช้ความรุนแรง การสู้รบตามชายแดนมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย ทั้งด้านการค้าชายแดนที่มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ความมั่นคงทางพลังงาน การลักลอบค้ายาเสพติด การลักลอบค้าอาวุธ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และอาชญากรรมข้ามชาติต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาประจำที่เกิดขึ้น ไทยจึงไม่อาจรั้งรอในการแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ แม้ว่าหลายชาติสมาชิกอาเซียนจะปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่แถลงการณ์ของกต.ระบุว่า จะมีผู้แทนระดับสูงจาก ลาว กัมพูชา เมียนมา อินเดีย จีน บรูไน เวียดนาม เข้าร่วม

ก่อนหน้านี้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ผู้นำระดับสูงของรัฐบาลทหารเมียนมาถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของอาเซียน เนื่องจากรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง "ฉันทามติ 5 ข้อ" ของอาเซียนเมื่อปี 2021 ซึ่งภายใต้กรอบฉันทามติดังกล่าว จะต้องมีการหยุดใช้ความรุนเเรง เปิดทางให้ทุกฝ่ายเจรจากัน และอนุญาตให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าถึงประชาชนเมียนมา 

ข้อมูลอ้างอิง รอยเตอร์ / กระทรวงการต่างประเทศ