โดยข้อเสนอที่จะทำงานร่วมกับ เมียนมา ดังกล่าว ถูกระบุในจดหมายวันที่ 14 มิ.ย. ออกโดย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ไปยัง รัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกอาเซียน รวมทั้งรมว.ต่างประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งข่าวออกมาว่า นายพลตาน ฉ่วย รมว.กต.เมียนมา ตอบตกลงจะมาร่วมหารือด้วยแล้ว ขณะที่ชาติสมาชิกรายอื่น รวมทั้งอินโดนีเซียซึ่งเป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียนปีนี้ รวมทั้งสิงคโปร์ และมาเลเซีย ได้ปฏิเสธที่จะส่งรัฐมนตรีต่างประเทศของตนเองเข้าร่วมการประชุม
เรื่องนี้ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ถึงกับออกมาให้สัมภาษณ์ปกป้องรัฐมนตรีดอน ที่สื่อระบุ “ถูกชาติสมาชิกอาเซียนเมิน” ด้วยการไม่มาร่วมประชุม ว่าปัญหาความไม่สงบในเมียนมาทำให้ไทยที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านได้รับผลกระทบโดยตรง ชาติใดไม่มา ก็คือไม่มา “เรื่องนี้เป็นการแก้ปัญหาของอาเซียน เราก็จำเป็นจะต้องพูดคุยกัน”
ความเคลื่อนไหวของไทยครั้งนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า เรื่องนี้เหมาะสมที่จะทำโดยรัฐบาลรักษาการหรือไม่ หรือควรรอให้เป็นการดำเนินการของรัฐบาลใหม่ สำหรับ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ของไทยนั้น ให้คำตอบว่า การหารืออย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้มิได้มาแทนความพยายามแก้ปัญหาในเมียนมาที่มีอาเซียนรับบทบาทนำ และบรรดาประเทศสมาชิกมีอิสระที่จะเข้าร่วมหรือไม่ก็ได้ เนื่องจากเป็นการหารือที่ไม่ได้อยู่ในกรอบของอาเซียน
สำหรับ ประวัติของนายดอน ปรมัตถ์วินัย นั้น เขาเกิดเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2493 ปัจจุบันอายุ 73 ปี เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศคนที่ 45 และได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีควบอีกตำแหน่งด้วยในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/2
ประวัติการทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ
นายดอนเริ่มงานในกระทรวงการต่างประเทศเมื่อปี 2517 ในกรมการเมือง ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในกระทรวงบัวแก้วมาแล้วมากมาย รวมทั้งตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา, สาธารณรัฐประชาชนจีน, สหภาพยุโรป และอีกหลายประเทศ อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และอธิบดีกรมสารนิเทศ
ก่อนเกษียณอายุราชการในตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประเทศไทยประจำสหประชาชาติ
ในช่วงเปิดวิกฤติการเมืองไทยเมื่อปี 2553 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รับหน้าที่ดูแลโครงการโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องไทย-สหรัฐอเมริกาในระดับทั่วประเทศ จนกระทั่งออกจากตำแหน่ง โดยเขาลาออกจากราชการในเดือนสิงหาคม 2553 ก่อนเกษียณอายุราชการเพียง 1 เดือน
จากนั้น ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนั้น นายดอนเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเขาเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537
ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2557 ได้ลาออกจากบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) และเข้ารับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แทน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2558 และนั่งตำแหน่งนี้ต่อเนื่องมา จนถึงรัฐบาลประยุทธ์ 2 หลังเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562
กล่าวได้ว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมานายดอน พบเจอมรสุมการเมืองมาแล้วหลายเรื่อง โดยเฉพาะกรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวหาว่า เขาขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เนื่องจากกรณีภรรยาถือครองหุ้นขัดกฎหมาย โดยภรรยามีหุ้นในธุรกิจเกินกว่า 5% แล้วไม่แจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งได้มีการเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ต่อมาในวันที่ 31 ต.ค. 2561 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า ภรรยานายดอน โอนหุ้นภายใน 30 วัน ตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 และเป็นการโอนหุ้นที่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้น นายดอนจึงไม่ต้องสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีตามที่ กกต.ร้อง
ทั้งนี้ จากผลงานการทำงานในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ นายดอนได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และในปี 2563 นายดอนได้รับการแต่งตั้งให้นั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีควบอีกหนึ่งตำแหน่งมาจนถึงปัจจุบัน