ผ่าสเปคเรือดำน้ำไททัน ส่องข้อจำกัด-กลไกความปลอดภัย 

22 มิ.ย. 2566 | 07:45 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มิ.ย. 2566 | 08:01 น.

ออกซิเจนเหลือน้อยลงทุกทีสำหรับ 5 ชีวิตที่อยู่ในเรือดำน้ำไททันซึ่งขาดการติดต่อขณะเดินทางสู่ห้วงน้ำดำมืดของมหาสมุทรแอตแลนติคเมื่อวันอาทิตย์ (18 มิ.ย.) เมื่อผ่าสเปคของเรือ เราพบข้อจำกัดที่เป็นความท้าทายนานัปการ

 

จากการเปิดเผยของ บริษัทโอเชียนเกต เอ็กซ์พีดิชันส์ (OceanGate Expeditions)ระบุว่า เรือดำน้ำไททัน เป็นเรือดำน้ำขนาดเล็กประเภท submersible ซึ่งมีข้อจำกัดหลายประการ ไม่ได้มีระบบขับเคลื่อนแบบอิสระเหมือนเรือดำน้ำขนาดใหญ่ (submarine) สามารถใช้ความเร็ว 3 น็อต (5.56 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขณะอยู่ในน้ำ

ตัวเรือสร้างจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์และไทเทเนียม ขับเคลื่อนด้วย 4 เครื่องยนต์ไฟฟ้า พร้อมอุปกรณ์ติดตาม โซนาร์ และอุปกรณ์ระบุพิกัด

จากข้อมูลของบริษัท ชี้ว่า อุปกรณ์ระบุพิกัดจะเป็นไฟสีแดงซึ่งจะเปิดตลอด และสามารถค้นหาตำแหน่งเรือได้ตลอดเวลา สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ทีมค้นหาไม่พบสัญญาณระบุพิกัดดังกล่าว จึงเป็นไปได้ว่าระบบได้เกิดการขัดข้องแล้ว

ผ่าสเปคเรือไททัน (ภาพจาก OceanGate Expeditions)  

ส่วนขนาดของเรือดำน้ำไททัน สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 5 คน ตามข้อมูลของทางบริษัท มีน้ำหนักโดยรวม 10,432 กิโลกรัม ความยาวลำเรือ 6.7 เมตร(22 ฟุต) 

สามารถดำลงใต้ทะเลลึกสุด 13,123 ฟุต หรือราวๆ 4,000 เมตร (4 กิโลเมตรนั่นเอง)

เรือดำน้ำไททันมีอากาศออกซิเจนสำรองสำหรับการดำรงชีพของผู้โดยสาร 5 คน นานสุด 96 ชั่วโมงหรือ 4 วัน ปฏิบัติการค้นหาใช้เวลานับตั้งแต่ได้รับแจ้งเรือสูญหายมากว่า 3 วันแล้ว วินาทีนี้นับว่า อากาศในเรือเหลือน้อยเต็มที 

ทุกคนภาวนาขอให้การค้นหาประสบความสำเร็จ ขอให้ทุกคนปลอดภัย

กลไกรับมือมาตรการฉุกเฉินภายในเรือ
เรือดำน้ำขนาดเล็กนี้ (submersible) บางสื่อเรียกว่า "ยานดำน้ำ" เพราะมันแตกต่างจากเรือดำน้ำทั่วไป(submarine)

องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ ระบุว่า เรือดำน้ำ(submarine)สามารถเคลื่อนตัวสู่มหาสมุทรได้ด้วยตนเองจากท่าเรือ แต่ “ยานดำน้ำ”อย่างไททันนั้น มีพลังงานจำกัด ทำให้ต้องใช้เรือแม่เพื่อปล่อยยานลงน้ำและเก็บกู้ขึ้นมาและลากเข้าสู่ฝั่ง

เมื่อปีที่แล้ว เดวิด โปกิว ผู้สื่อข่าวจากสถานีข่าวซีบีเอส ได้เข้าร่วมในการเดินทางของโอเชียนเกตเพื่อไปชมซากเรือไททานิคด้วยเรือดำน้ำไททัน เขาได้รับแจ้งจากทางบริษัทว่า เรือไททันมีระบบความปลอดภัย 7 อย่าง ที่จะช่วยให้กลับขึ้นสู่ผิวทะเลได้ ซึ่ง ระบบความปลอดภัยเพื่อการนำยานขึ้นสู่ผิวทะเล 7 อย่าง ที่ว่านี้ ได้แก่

  1. การทิ้งน้ำหนัก: เรือไททันสามารถปลดทิ้งท่อตะกั่ว 3 ท่อ ด้วยระบบไฮดรอลิก เพื่อทำให้ยานหรือตัวเรือลอยตัวขึ้นได้
  2. ทิ้งน้ำหนักแบบกลิ้ง: หากระบบไฮดรอลิกไม่ทำงาน ลูกเรือและผู้โดยสารในเรือดำน้ำสามารถพลิกตัวเรือได้ ด้วยการเคลื่อนตัวไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อกลิ้งเรือดำน้ำไปอีกด้าน จนทำให้ท่อถ่วงน้ำหนักถูกปลดออกเอง ด้วยแรงโน้มถ่วง
  3. ถุงอับเฉา: สามารถใช้มอเตอร์เพื่อปลดทิ้งถุงบรรจุกเหล็ก ที่แขวนอยู่ใต้เรือดำน้ำได้
  4. สลัก: สลักที่จะละลายในน้ำทะเล หลังเวลาผ่านไป 16 ชั่วโมง ทำให้ถุงอับเฉาถูกปลดออกมาโดยอัตโนมัติ ในกรณีที่ระบบไฟฟ้าและไฮดรอลิกล้มเหลว
  5. เครื่องยนต์: ส่งแรงดันทำให้เรือขึ้นสู่ผิวน้ำได้
  6. ขาเรือดำน้ำ: ผู้บังคับเรือสามารถปลดปล่อยขาเรือดำน้ำเพื่อทิ้งน้ำหนัก และนำเรือลอยสู่ผิวน้ำได้
  7. ถุงอากาศ: ลูกเรือสามารถเป่าอากาศใส่ถุงอากาศด้านนอก เพื่อทำให้เรือลอยตัวขึ้นมาได้

ผู้เชี่ยวชาญเรือดำน้ำกล่าวว่า หากเป็นเรือดำน้ำทางทหารทั่วไป มาตรการแรกหากเผชิญเหตุฉุกเฉินคือ "ขึ้นสู่ผิวน้ำฉุกเฉิน" ซึ่งมีหลายวิธีการ อาทิ ปล่อยน้ำหนักถ่วงฉุกเฉิน อัดอากาศไล่น้ำในตัวถังออก ไปจนถึงกระสวย (pod) ฉุกเฉินในกรณีเรือดำน้ำไม่สามารถลอยตัวขึ้นมาได้

แต่หากเป็นยานขนาดเล็กแบบเรือดำน้ำไททัน ทางเลือกที่จะทำได้ก็น่าจะจำกัดน้อยลงไปอีก