นักท่องเที่ยวพร้อมกัปตันเรือรวม 5 ชีวิตก้าวขึ้น เรือดำน้ำ "ไททัน" (Titan) เพื่อเที่ยวชม ซากเรือไททานิค (Titanic) ใต้มหาสมุทรแอตแลนติกตามโปรแกรมท่องเที่ยวที่ซื้อมาในราคาแสนแพงหัวละ 250,000 ดอลลาร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยไม่คาดคิดมาก่อนว่า พวกเขาจะต้องติดอยู่ใต้น้ำลึกเป็นเวลาติดต่อกันหลายวันอย่างไม่รู้ชะตากรรม
ตามกำหนดการแล้วเรือดำน้ำไททันดำน้ำรอบนี้ จะต้องกลับขึ้นสู่ผิวน้ำและเข้าฝั่งตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ (18 มิ.ย.) ทว่าไททันกลับสูญเสียการติดต่อกับเรือแม่ที่รออยู่บนผิวน้ำ หลังออกเดินทางดำดิ่งลงมุ่งหน้าสู่ซากเรือไททานิคที่ความลึก 3,800เมตร (12,500 ฟุต) ได้เพียง 1 ชั่วโมง 45 นาทีเท่านั้น
การสูญหายไปของเรือดำน้ำไททันส่งผลให้เจ้าหน้าที่เร่งออกปฏิบัติการค้นหาแบบเป็นวงกว้าง แต่จนถึงขณะนี้ (21 มิ.ย.) ก็ยังค้นหาไม่พบ ขณะที่โอกาสรอดของผู้ที่อยู่ในเรือลดน้อยลงทุกที ๆ เพราะเหลืออากาศสำหรับหายใจภายในเรือเพียงราว 30 ชั่วโมง ดังนั้น ทุกนาทีของการค้นหาจึงมีความหมายถึงนาทีชีวิต
แม้จะริบหรี่ แต่ก็ยังมีความหวัง
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากบันทึกภายในของรัฐบาลว่า ระบบค้นหาวัตถุใต้น้ำด้วยคลื่นเสียง (โซนาร์) ของคณะค้นหาเรือดำน้ำไททัน ได้ยิน “เสียงกระแทก” ทุก ๆ 30 นาทีเมื่อวันอังคาร (20 มิ.ย.) และ 4 ชั่วโมงให้หลัง หลังจากที่มีการระดมอุปกรณ์ค้นหาวัตถุเพิ่มเติม ก็ยังได้ยินเสียงกระแทกดังต่อเนื่อง
แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเสียงกระแทกที่ดังขึ้นนั้นเกิดขึ้นเมื่อเวลาเท่าไร และยาวนานเพียงใด นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ยินเสียงดังเพิ่มเติมในช่วงคืนวันอังคาร แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นเสียง "กระแทก"
เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีคำอธิบายว่า “เสียงดังเพิ่มเติมจะช่วยในการค้นหาทิศทางของวัตถุบริเวณผิวน้ำ และบ่งชี้ว่ายังคงมีความหวังเกี่ยวกับผู้รอดชีวิต" ข้อมูลบันทึกภายในของรัฐบาลสหรัฐระบุ
นอกจากนี้ เครื่องบิน P3 ของแคนาดายังตรวจพบวัตถุสี่เหลี่ยมมุมฉากสีขาวในน้ำ แต่เรือที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบถูกถ่ายโอนไปช่วยในภารกิจวิจัยเสียงที่ดังขึ้นแทน
แม้เป็นความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย แต่ก็ทำให้มีความหวังว่าอาจพบผู้รอดชีวิตในไม่ช้านี้
ข้อสันนิษฐานเกิดอะไรขึ้นกับไททัน
จนถึงขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรือดำน้ำไททัน แต่ผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสันนิษฐานเอาไว้หลายประการด้วยกันดังนี้
ย้อนเส้นทางทริปในฝันชมซากเรือไททานิค
การเที่ยวชมซากเรือไททานิกด้วยเรือดำน้ำไททันนั้น เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการเดินทาง 8 วันที่จัดขึ้นโดยบริษัททัวร์โอเชียนเกต เอ็กซ์พีดิชัน (OceanGate Expeditions) โดยทริปนี้เริ่มต้นที่เมืองเซนต์จอห์นในเกาะนิวฟันด์แลนด์ของแคนาดา นักท่องเที่ยวมีกำหนดเดินทางในระยะทาง 400 ไมล์ทะเลไปยังจุดจมของซากเรือไททานิค ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งเคปค้อดในรัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐไปประมาณ 900 ไมล์ (1,450 กิโลเมตร)
เรือดำน้ำไททันเริ่มต้นเดินทางไปยังซากเรือไททานิคตั้งแต่ช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 18 มิ.ย.ตามเวลาท้องถิ่น ก่อนสูญเสียการติดต่อกับเรือโพลาร์ ปรินซ์ (Polar Prince) ในเวลา 1 ชั่วโมง 45 นาทีให้หลัง (การดำดิ่งจากผิวน้ำสู่จุดที่เรือไททานิคจมอยู่ปกติใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง) โดยเรือโพลาร์ ปรินซ์ ซึ่งดัดแปลงมาจากเรือตัดน้ำแข็งเป็นเรือแม่ที่ขนส่งไททันไปยังจุดเริ่มต้นการเดินทาง
เมื่อได้รับแจ้งเหตุเรือไททันสูญหาย เจ้าหน้าที่ยามชายฝั่งก็เริ่มต้นออกปฏิบัติการค้นหาในวันเดียวกันนั้น (18 มิ.ย.) แต่จนถึงขณะนี้ (21 มิ.ย.) ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับไททัน เพราะเหตุใดจึงสูญเสียการติดต่อ และไททันอยู่ใกล้กับซากเรือไททานิคเพียงใดในช่วงที่สูญหายไป
ความยากลำบากที่ต้องแข่งกับเวลา
"ไม่มีแผนสำรอง ไม่มีกระสวยฉุกเฉิน...หากเรือขึ้นสู่ผิวน้ำไม่ได้ ก็คือจบชีวิต"
เดวิด โพกิว ผู้สื่อข่าวสถานีข่าวซีบีเอส ที่เคยโดยสารเรือดำน้ำลำนี้เมื่อปีที่แล้ว (2565) ระบุว่า แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้โดยสารเรือดำน้ำ จะรอดออกมาเองได้ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ
ตอนนี้ กองทัพเรือสหรัฐและแคนาดา กำลังใช้เครื่องบิน เรือดำน้ำ และทุ่นโซนาร์ เพื่อทำการค้นหาแบบกวาดลานใจกลางมหาสมุทรแอตแลนติก และล่าสุดได้ใช้ยานบังคับทางไกล ลงไปค้นหาใต้ทะเลลึก ในจุดที่คาดว่าเรือดำน้ำสูญหายแล้ว
รายงานข่าวระบุว่า เรือดำน้ำไททันนั้นไม่เหมือนกับเรือดำน้ำทั่วไปที่สามารถออกเดินทางและกลับเข้าท่าได้ด้วยตัวเอง แต่ไททันเป็นเรือดำน้ำขนาดเล็กประเภท submersible (ขนาดประมาณรถตู้ 1 คัน บรรทุกผู้โดยสารได้คราวละ 5 คน) ต้องอาศัยเรือแม่เป็นผู้ปล่อยลงน้ำและนำขึ้นจากน้ำ โดยเรือดำน้ำไททันถูกปล่อยออกจากเรือโพลาร์ ปรินซ์ ซึ่งเป็นเรือตัดน้ำแข็งดัดแปลงที่โอเชียนเกตฯว่าจ้างมา
เอกสารที่โอเชียนเกตฯ ยื่นต่อศาลแขวงในรัฐเวอร์จิเนียของสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องเรือไททานิกระบุว่า เรือดำน้ำไททันนั้นสามารถดำน้ำลึกสูงสุด 4,000 เมตร (13,120 ฟุต) โดยมีการเผื่อส่วนต่างเพื่อความปลอดภัยเอาไว้แล้ว ขณะที่วัสดุที่ใช้ผลิตตัวเรือเป็นไทเทเนียมและคาร์บอนไฟเบอร์ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความทนทานต่อแรงกดดันมหาศาลใต้ท้องทะเลลึก
ในเอกสารที่ยื่นต่อศาลเมื่อเดือนพ.ค. 2564 โอเชียนเกตฯระบุว่า เรือดำน้ำไททันมีคุณสมบัติด้านความปลอดภัยที่เหนือชั้น โดยผ่านการทดสอบดำน้ำกว่า 50 ครั้ง ซึ่งรวมถึงการทดสอบดำน้ำลึกเทียบเท่าจุดที่ซากเรือไททานิคจมอยู่ บริเวณนอกชายฝั่งบาฮามาส
อย่างไรก็ตาม อดีตพนักงาน 2 รายของโอเชียนเกตฯ เคยออกมาเตือนเรื่องความปลอดภัยของเรือดำน้ำไททันสมัยที่ยังทำงานให้กับบริษัทดังกล่าวเมื่อหลายปีก่อน โดยพนักงานรายหนึ่งถูกบริษัทไล่ออกและฟ้องร้องดำเนินคดีโทษฐานเปิดเผยข้อมูลลับของบริษัท
นับเวลาถอยหลัง 30 ชั่วโมง
สำนักข่าวบีบีซี สื่อใหญ่ของอังกฤษรายงานว่า ขณะนี้ผู้โดยสารทั้ง 5 คนบนเรือดำน้ำไททัน (อ่านเพิ่มเติม: ใครเป็นใคร? 5 คนบนเรือดำน้ำ Titan สูญหายหลังดำดิ่งชมซากเรือไททานิค )มีอากาศสำหรับหายใจอีกประมาณ 30 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งเป็นการประมาณการอย่างเป็นทางการ โดยไททันนั้นมีออกซิเจนฉุกเฉินสำรองสำหรับระยะเวลา 4 วัน
แม้เจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งออกปฏิบัติการค้นหาอย่างเร่งด่วน ทว่ายังไม่พบเรือดำน้ำไททัน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงเดินหน้าค้นหาทั้งในพื้นที่ผิวน้ำและใต้น้ำในพื้นที่ห่างไกลบริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างไม่หยุดยั้ง โดยหน่วยยามชายฝั่งระบุเมื่อวันอังคาร (20 มิ.ย.) ว่า จะมีการจัดส่งอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าช่วยเหลือเพิ่มเติมเร็ว ๆ นี้