หน่วยยามชายฝั่งสหรัฐ (USCG) ทวีตข้อความระบุว่า ยานสำรวจใต้น้ำควบคุมระยะไกล (ROV) ที่มีการส่งลงไปค้นหา เรือดำน้ำไททัน ได้ตรวจพบบริเวณที่มีเศษชิ้นส่วนดังกล่าว แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่า เศษชิ้นส่วนที่พบนี้มีความเกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำไททันหรือไม่ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังทำการประเมินข้อมูล
เจ้าหน้าที่จากสหรัฐ แคนาดา และฝรั่งเศส ยังคงเดินหน้าค้นหาเรือดำน้ำไททันของ บริษัท โอเชียนเกต เอ็กซ์พีดิชันส์ ซึ่งได้ขาดการติดต่อระหว่างดำลงไปชมซากเรือไททานิกในมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา(18 มิ.ย.)
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ไททันสามารถอัดก๊าซออกซิเจนรองรับการเดินทางนาน 96 ชั่วโมง ซึ่งหากคำนวณจากการที่ไททันเริ่มดำลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อวันอาทิตย์เวลา 19.00 น.(ตามเวลาไทย) พบว่า ออกซิเจนในไททันได้หมดลงเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. เวลา 17.00-18.00 น. (เวลาไทย)
ต่อมาล่าสุด พลเรือตรีจอห์น เมาเกอร์ หัวหน้าทีมค้นหาจากหน่วยดูแลชายฝั่งสหรัฐ ได้แถลงข่าวที่เมืองบอสตัน แสดงความเสียใจว่า ยานสำรวจที่ส่งลงไปสำรวจ เจอซากชิ้นส่วนเรือ มั่นใจว่าเป็นของเรือของไททัน 5 ชิ้น เช่น บริเวณหางเรือรูปกรวย หัวเรือ ส่วนปลายแหลมด้านหน้าเรือ ชิ้นส่วนที่ติดกับห้องแรงดัน สอดคล้องกับการเกิดระเบิดจากด้านใน เป็นลักษณะที่เรือไททัน ถูกแรงดันน้ำบดขยี้ จุดที่เจออยู่ห่างจากจากเรือไททานิค 1,600 ฟุต เจ้าหน้าที่ฝ่ายสอบสวนจะยังอยู่ในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ เนื่องจาก ยังไม่ชัดเจนว่าการระเบิดเกิดจากอะไรและเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด และไม่สามารถระบุถึงตำแหน่งของร่างของทั้ง 5 ได้ เนื่องจากใต้ทะเลมีสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายมาก
ส่วนเสียงดังใต้ทะเลที่ตรวจพบก่อนหน้านี้ตั้งแต่คืนวันอังคารจนถึงวันพุธ หน่วยยามฝั่ง เชื่อว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องระหว่างเสียงกับตำแหน่งที่พบเศษซากของเรือไททัน
หลังจากนี้จะเดินหน้าปฏิบัติการค้นหาต่อไปเพื่อความกระจ่าง แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะกู้ร่างผู้เสียชีวิตขึ้นมาได้หรือไม่อย่างใด
ด้านบริษัท โอเชียนเกต เอ็กส์พีดิชันส์ (OceanGate Expeditions) ผู้ให้บริการนำเที่ยวใต้ทะเลลึก ออกแถลงการณ์ว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ราย คือ นักสำรวจที่แท้จริง พวกเขาเสียชีวิตจากสิ่งที่หน่วยยามชายฝั่งเชื่อว่าเป็น "การระเบิดที่รุนแรง"
ผู้โดยสารทั้ง 5 รายบนเรือดำน้ำไททัน ประกอบด้วย
ทั้งนี้ ก่อนร่วมการเดินทางดังกล่าว ผู้โดยสารจะต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และลงนามรับทราบในเอกสารที่ระบุว่า "โอเชียนเกตจะไม่รับผิดชอบ กรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้โดยสารบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต"
"แนวโน้มถือว่าริบหรี่(สำหรับการรอดชีวิต) นี่เป็นคำเดียวที่สามารถพูดได้ในโศกนาฎกรรมนี้ ขณะที่ปฏิบัติการได้เปลี่ยนแปลงจากการช่วยเหลือผู้รอดชีวิต ไปสู่ภารกิจในการกู้ซากชิ้นส่วน" ไรอัน แรมซีย์ อดีตกัปตันเรือดำน้ำของกองทัพเรือสหรัฐกล่าว