สถานการณ์ที่บ่งชี้ว่า จีน กำลังเข้าสู่ ภาวะเงินฝืด (deflation) ทำให้มีความกังวลว่า เศรษฐกิจ ที่เติบโตช้ามากของจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก(รองจากสหรัฐอเมริกา) อาจทำให้จีนเข้าสู่สภาวะคล้ายกับ “lost decades” ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาผู้บริโภคและรายได้ของชาวญี่ปุ่นอยู่ในระดับ “คงที่” นานหลายสิบปี สวนทางกับภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก
การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ชะลอตัวลง แม้จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาสแรก โดยความต้องการอุปโภคบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศขาดแรงขับเคลื่อน ขณะที่นโยบายต่าง ๆ ไม่สามารถกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กระเตื้องขึ้นมาได้
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (9 ส.ค.) สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index) ของจีนในเดือนกรกฎาคมลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่การประเมินของสำนักข่าวบลูมเบิร์กก่อนหน้านี้ (ซึ่งมาจากการสำรวจความคิดเห็นของบรรดานักเศรษฐศาสตร์) คาดว่า ดัชนีดังกล่าวจะลดลง 0.4% โดยดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021
ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer prices) ของจีนอ่อนตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 โดยลดลงที่อัตรา 4.4% มากกว่าที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 4.1%
เมื่อจีนเผชิญเงินฝืด โลกต้องกังวล
จีน เป็นประเทศแรกในกลุ่มจี20 ที่รายงานว่า ราคาผู้บริโภคลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า นับตั้งแต่ญี่ปุ่นเผชิญภาวะเดียวกันนี้เมื่อเดือนสิงหาคม 2021
นอกจากนี้ ภาวะเงินฝืดของจีนยังทำให้เกิดความกังวลถึงผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าของจีน นายแกรี อึง นักวิเคราะห์อาวุโสภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของบริษัท Natixis ให้ความเห็นว่า
"เศรษฐกิจของจีนจะเติบโตด้วยความเร็วสองระยะในช่วงครึ่งหลังของปีนี้...และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนนั้นจะช้ากว่าที่คาดไว้ และยังไม่ฟื้นตัวมากพอที่จะชดเชยความต้องการที่ลดลงทั่วโลกและดันราคาสินค้าขึ้นมาได้"
ทั้งนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจของจีนถูกเผยแพร่หนึ่งวันหลังมีการเปิดเผยข้อมูลการค้าว่า ภาคการนำเข้าและส่งออกของจีนในเดือนกรกฎาคมชะลอตัวลง รายงานหลายฉบับยังระบุด้วยว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนก็กำลังเผชิญกับปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคและบริษัทต่าง ๆ เริ่มเก็บเงินสดไว้กับตัว แทนการใช้จ่ายหรือลงทุน แม้ว่าดอกเบี้ยในจีนจะลดต่ำลงก็ตาม
รายงานเศรษฐกิจของจีนที่สะท้อนถึงการฟื้นตัวที่ชะลอตัวลงนี้ ยังทำให้ดัชนีหุ้นในเอเชียดิ่งตัวลงเมื่อวันพุธ(9 ส.ค.) ด้วย
ทั้งนี้ ราคาผู้บริโภคในจีนซึ่งคงที่ สวนทางกับภาวะเงินเฟ้อที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ กำลังเผชิญ และธนาคารกลางในหลายประเทศต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปตามๆกัน
อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณเช่นกันว่าภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกอาจกำลังถึงจุดสูงสุด และอาจชะลอตัวลงในบางประเทศ ยกตัวอย่างเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประเทศบราซิลลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบสามปีขณะที่สภาวะเงินเฟ้อในประเทศเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น
ยอมรับต้องใช้เวลาฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
จีนกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อในภาคการบริโภคอยู่ที่ 3% ในปีนี้ เพิ่มจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 2% และขณะนี้ ทางการจีนยังไม่กังวลเกี่ยวกับภาวะเงินฝืดมากนัก โดยเมื่อเดือนที่แล้ว นายหลิว กั๋วเฉียง รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีน กล่าวว่า จีนจะไม่เผชิญความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดในช่วงครึ่งปีหลังนี้ แต่เศรษฐกิจจีนต้องใช้เวลาเพื่อกลับมาสู่ภาวะปกติ หลังการระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคที่ลดลงของจีนในเดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาเนื้อหมูที่ลดลงอย่างรวดเร็วถึง 26% จากเดิมที่ลดลง 7.2% เนื่องจากมีการบริโภคเนื้อหมูลดลงแม้ว่าจะมีอุปทานในตลาด อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้บริโภคกลับเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับเมื่อเดือนมิถุนายน เนื่องจากมีการท่องเที่ยวช่วงวันหยุดเพิ่มขึ้นในช่วงนั้น
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานในจีนเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และ 0.4% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน
เซี่ย ชุน หัวหน้านักวิเคราะห์เศรษฐกิจของบริษัทลงทุน Yintech Investment Holdings ในฮ่องกง คาดการณ์ว่า ภาวะเงินฝืดของจีนจะกินเวลาราว 6-12 เดือน แต่เชื่อว่าจีนจะไม่เข้าสู่สถานการณ์เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่เผชิญภาวะเงินฝืดยาวนานมากกว่า 20 ปี
ลุ้นรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้กำหนดนโยบายของจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นการขายรถและอุปกรณ์ ขณะที่ทางการท้องถิ่นลดมาตรการควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์ลง แต่นักวิเคราะห์เห็นว่า จีนควรต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างตรงจุดมากกว่านี้
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings ระบุว่า จีนยังมีแผนฟื้นฟูภาคการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่คลุมเครือและไม่แน่นอน โดยแผนดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะกลับมาหรือไม่ รวมทั้งขึ้นอยู่กับการบังคับใช้นโยบายของรัฐบาลท้องถิ่น
นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงรอให้ฝ่ายนโยบายออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมหลังมีการประชุมของโปลิตบูโรพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ทอมมี วู นักวิเคราะห์เศรษฐกิจอาวุโสของธนาคาร Commerzbank ให้ความเห็นว่า "ภาคธุรกิจควรปรับตัวให้สอดรับกับความปกติใหม่ (new normal) ซึ่งหมายถึงการที่รัฐบาลจีนจะหลีกเลี่ยงออกมาตรการกระตุ้นใหญ่ๆที่ครอบกว้าง แต่จะออกมาตรการกระตุ้นเฉพาะจุด และจะมีการนำเสนอนโยบายและมาตรการส่วนใหญ่เพื่อรับมือกับภาคอุปทานแทน"
ข้อมูลอ้างอิง