ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ฯ ล้มละลาย หลุมที่ใหญ่เกินถมในวิกฤตอสังหาฯ จีน

19 ส.ค. 2566 | 01:46 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2566 | 02:37 น.

บริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ของจีน "ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ฯ" ยื่นต่อศาลในสหรัฐขอความคุ้มครองการล้มละลายเมื่อวันศุกร์ (18 ส.ค.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ สร้างความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่เลวร้ายลง ขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังอ่อนแอ

 

ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป (China Evergrande Group) ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในฐานะ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อันดับต้นๆ ของจีน แต่มาในขณะนี้ ได้กลายมาเป็นตัวอย่างของ วิกฤตหนี้ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดมาก่อนสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าตลาดคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของ เศรษฐกิจจีน โดยรวม

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันอังคาร (15 ส.ค.) ธนาคารกลางจีนเพิ่งประกาศลดอัตราดอกเบี้ยโดยที่ไม่มีการส่งสัญญาณล่วงหน้ามาก่อนท่ามกลางตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่สดใสนัก ตลาดยังคาดหมายว่า จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกหนี้ชั้นดี (Loan Prime Rate) ในวันจันทร์หน้าอีกด้วย แต่ถึงกระนั้น นักวิเคราะห์ต่างมองว่าท่าทีและมาตรการของทางการจีน ยังถือว่าน้อยเกินไป ทั้งยังช้าเกินไปอีกด้วย ที่สำคัญคือ ควรจะมีมาตรการที่เฉียบขาดกว่านี้ เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจจีน ที่กำลังดิ่งหนัก โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์

ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ฯ ยักษ์ใหญ่รายนี้เผชิญปัญหาหนี้สินและขาดสภาพคล่องมาตั้งแต่กลางปี 2564 หลังจากประคับประคองสถานะมาเกือบสองปี ในที่สุดก็ตัดสินใจยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 15 ของกฎหมายล้มละลายของสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (18 ส.ค.) กฎหมายดังกล่าวจะปกป้องบริษัทที่ไม่ใช่บริษัทอเมริกันซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ จากผู้ให้กู้ยืมหรือบรรดาเจ้าหนี้ที่หวังจะฟ้องหรือยึดทรัพย์สินของบริษัทที่มีอยู่ในสหรัฐ

ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ฯ ยักษ์ใหญ่อสังหาฯจีน ยื่นล้มละลายแล้วเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2566

ในระหว่างที่ขั้นตอนดังกล่าวอาจดูเป็นเพียงกระบวนการหนึ่ง แต่มันได้สะท้อนว่า เอเวอร์แกรนด์กำลังเข้าใกล้จุดสิ้นสุดของกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ หลังจากที่ได้เจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้มาเป็นเวลามากกว่า 1 ปีครึ่ง

นอกจากนี้ ทางเอเวอร์แกรนด์ยังระบุในเอกสารที่ยื่นต่อทางการสหรัฐเมื่อวันศุกร์ (18 ส.ค.) ว่า บริษัทจะขอให้ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐ รับรู้ถึงกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศ ทั้งในฮ่องกงและหมู่เกาะบริติชเวอร์จินด้วย

ทั้งนี้ ในการปรับโครงสร้างหนี้ของเอเวอร์แกรนด์มูลค่า 31,700 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.12 ล้านล้านบาท  ทางบริษัทมีกำหนดการหารือกับกลุ่มเจ้าหนี้ปลายเดือนสิงหาคมนี้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กระแสการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนหลังจากวิกฤตเอเวอร์แกรนด์ กำลังนำไปสู่ปัญหาบ้านที่สร้างไม่เสร็จ และอสังหาฯ ที่ค้างชำระอีกจำนวนมหาศาล ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคของจีนในเวลานี้ ท่ามกลางบริบทที่การลงทุน ยอดขาย และการสร้างอสังหาริมทรัพย์ใหม่ในจีน หดตัวลงอย่างมากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

การขยับตัวของภาครัฐ ทั้งช้าและไม่มากพอ

วิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้เพิ่มความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ขยายวงกว้างในระบบการเงินจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแออยู่แล้วจากความต้องการภายในและต่างประเทศที่ลดลง กิจกรรมด้านการผลิตในอุตสาหกรรมที่หดตัวและอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น

บริษัทกองทุนรายใหญ่ของจีนผิดนัดชำระหนี้และเตือนถึงวิกฤตสภาพคล่อง โดยล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทคันทรี การ์เดน (Country Garden) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของจีนก็ได้กลายเป็นบริษัทรายล่าสุดที่แสดงตัวว่ากำลังเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องเข้าให้แล้ว

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนที่ทุ่มเงินไปกับกองทรัสต์ของบริษัทจงหรง อินเตอร์เนชันแนล ทรัสต์ (Zhongrong International Trust) ได้ส่งจดหมายร้องเรียนไปยังหน่วยงานกำกับดูแลของจีนให้เข้ามาจัดการเรื่องนี้ หลังจากบริษัทดังกล่าวผิดนัดชำระหนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นในภาคอสังหาฯ นับเป็นปัจจัยลบที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแออยู่แล้วในช่วงเวลานี้ บริษัทหลักทรัพย์โนมูระ ได้เจริญรอยตามโบรกเกอร์รายใหญ่ของโลกอีกหลายราย ในการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปี 2566 นี้ โดยคาดว่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของจีนปีนี้จะเติบโตที่อัตรา 4.6% เท่านั้น ซึ่งเป็นการลดลงจากประมาณการเดิมที่ 5.1%

ในระหว่างที่นักวิเคราะห์ออกมาเตือนว่า จีนน่าจะพลาดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้หากไม่อัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมออกมา แต่ล่าสุด ทางการจีนยังออกมาประกาศยึดเป้าหมายจีดีพีว่าจะโต 5% ในปีนี้ตามที่กำหนดไว้ 

และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต.ของจีน ยังได้ออกมาประกาศเมื่อวันศุกร์ (18 ส.ค.) ว่า จะปรับลดต้นทุนการซื้อขายหลักทรัพย์ และสนับสนุนการซื้อหุ้นคืนเพื่อหวังฟื้นฟูตลาดหลักทรัพย์จีนให้กลับมาสดใสอีกครั้ง

แต่จนถึงตอนนี้มาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลปักกิ่งยังไม่ส่งผลต่อตลาดการเงินเท่าใดนัก และนักวิเคราะห์ต่างกังวลว่า มาตรการเหล่านี้อาจจะเพิ่มความเสี่ยงเข้าไปในภูเขาหนี้จากการกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาลของจีนในช่วงที่ผ่านมาอีกด้วย

หลุมดำที่ใหญ่เกินกว่าจะกลบ

สำหรับการแก้ไขปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารกลางจีนย้ำว่า จะมีการปรับปรุงนโยบายด้านอสังหาฯ อ้างอิงจากรายงานประจำไตรมาสล่าสุดที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ แต่ยังไม่มีรายละเอียดออกมามากนัก

จากการรวบรวมของรอยเตอร์พบว่า นับตั้งแต่กลางปี 2564 เป็นต้นมา บริษัทอสังหาฯ ที่มียอดขาย 40% ของปริมาณบ้านในจีนต่างผิดนัดชำระหนี้กันทั้งสิ้น และส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเอกชน

อลัน ลุค ซีอีโอของบริษัทจัดการกองทุนวินเนอร์ โซน (Winner Zone Asset Management) กล่าวกับรอยเตอร์ว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนเหมือนกับหลุมดำ บริษัทผู้พัฒนาอสังหาฯ หลายรายถูกดูดเข้าไปในนั้นตั้งแต่ 2 ปีก่อน หลังจากที่เอเวอร์แกรนด์มีปัญหาสภาพคล่องและผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งในเวลานั้น รัฐบาลกลางของจีน ก็ยังไม่ได้นำเสนอมาตรการที่เข้มแข็งเพียงพอออกมา เพราะนี่คือหลุมที่ใหญ่เกินกว่าจะกลบได้

นายอี้ กัง ผู้ว่าฯแบงก์ชาติจีนในช่วงเวลานั้น (ปัจจุบัน มีผู้ว่าแบงก์ชาติจีนคนใหม่แล้ว) กล่าวถึงภาพรวมของตลาดอสังหาฯ จีนย้อนไปเมื่อสองปีที่ผ่านมาว่า ความเสี่ยงในระยะสั้นของบริษัทต่างๆ ในภาคอสังหาฯ จะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบภาคการเงินของจีนทั้งในระยะกลางและระยะยาวอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะประเด็นความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ มองว่าเป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งในตลาดที่ยังสามารถจัดการได้ตามกรอบหลักการและกฎหมายที่มีอยู่ ขณะที่ผลประโยชน์ของผู้ลงทุนจะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายด้วยเช่นกัน

ท่าทีของหน่วยงานภาครัฐในเวลานั้น ตอกย้ำถึงความชัดเจนของรัฐบาลปักกิ่งว่าไม่มีแผนการที่จะเข้าไปแทรกแซงเพื่อช่วยให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีนเดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้การควบคุมของรัฐแต่อย่างใด

แม้ความกังวลเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์จะสะเทือนตลาดเงินตลาดทุนของจีนอย่างหนักในช่วงปี 2564 แต่ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์หลายราย เห็นว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องการหลีกเลี่ยงการส่งสัญญาณที่ผิดๆ ในระหว่างที่ทางการจีนพยายามควบคุมบริษัทต่างๆ ให้ปรับลดภาระหนี้ในองค์กรของตัวเองลงมา ไม่ใช่ว่ามีปัญหาแล้วจะคาดหวังให้ภาครัฐเข้ามาอุ้ม

สิ่งที่รัฐบาลจีนทำในช่วงเวลานั้นคือ แบงก์ชาติได้ปล่อยเงินทุนสำรองราว 1.2 ล้านล้านหยวนออกมาสำหรับการกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทที่มีปัญหา นักเศรษฐศาสตร์มองว่า การขาดสภาพคล่องและผิดนัดชำระหนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้สำหรับกรณีของเอเวอร์แกรนด์ แต่เชื่อว่ารัฐบาลปักกิ่งจะยังสามารถทำให้ตลาดกู้ยืมเงินดำเนินการต่อไปได้แม้ยักษ์ใหญ่รายนี้จะมีปัญหา และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของจีนจะยังสามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนเพื่อควบคุมความวุ่นวายโกลาหลในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนได้