ญี่ปุ่นจ่อแบกสวัสดิการผู้สูงวัยหลังแอ่น เมื่อประชากร 10% อายุเกิน 80 ปี

18 ก.ย. 2566 | 17:05 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2566 | 23:56 น.

นายกฯญี่ปุ่นยอมรับจำเป็นต้องใช้มาตรการแก้ไขปัญหาประชากรหดตัว-ตลาดขาดแคลนวัยแรงงาน อย่างจริงจังและเร่งด่วน ก่อนสูญเสียศักยภาพในการทำงานและการแข่งขัน รัฐจ่อแบกสวัสดิการผู้สูงวัยหลังแอ่น เมื่อ 10% ของประชากรอายุยืนยาวเกิน 80 ปี

 

รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยรายงานประจำปีเนื่องใน วันผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น วานนี้ (18 ก.ย.) พบว่า ปัจจุบัน จำนวนประชากรที่มีอายุเกิน 80 ปีคิดเป็นสัดส่วนกว่า 10% ของประชากรทั้งหมดในประเทศเป็นครั้งแรก โดย อัตราการเกิดต่ำเรื้อรัง และการที่ประชากรมีอายุยืนยาว ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มี ประชากรผู้สูงอายุ มากที่สุดในโลก เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนประชากรที่อายุเกิน 65 ปี ซึ่งปีนี้แตะ 29.1% ของสัดส่วนประชากรทั้งหมดในประเทศ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การใช้จ่ายประกันสังคมที่เพิ่มสูงขึ้น ได้ซ้ำเติมเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีหนี้สินมหาศาลอยู่แล้วนอกจากนี้ การขาดแคลนคนหนุ่มสาวที่เป็นวัยทำงานยังส่งผลให้อุตสาหกรรมจำนวนมากขาดแคลนแรงงาน รวมถึงผู้ดูแลคนสูงอายุ

นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นระบุว่า ญี่ปุ่นเสี่ยงที่จะสูญเสียศักยภาพในการทำงาน หากไม่ใช้มาตรการที่เข้มงวด เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้

ปัจจุบัน จำนวนประชากรที่มีอายุเกิน 80 ปีคิดเป็นสัดส่วนกว่า 10% ของประชากรทั้งหมดของญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก

ความพยายามแก้ไขปัญหาที่ยังไม่สัมฤทธิ์ผล

รายงานข่าวระบุว่า ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นอัตราการเกิด แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ โดยในปีที่ผ่านมา (2565) ญี่ปุ่นมีเด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 800,000 คนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลในศตวรรษที่ 19

ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าวและภาวะขาดแคลนประชากรวัยหนุ่มสาว ทางการญี่ปุ่นก็ยังคงมีความลังเลที่จะเปิดรับแรงงานต่างชาติในปริมาณมาก เพื่อชดเชยภาวะขาดแคลนแรงงานภายในประเทศ

นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า ประชากรโดยรวมของญี่ปุ่นลดลงประมาณ 500,000 คน สู่ระดับ 124.4 ล้านคน และคาดการณ์ว่าประชากรจะลดเหลือไม่ถึง 109 ล้านคนภายในปีพ.ศ. 2588 

ไม่เพียงเฉพาะญี่ปุ่นเท่านั้น ปัจจุบันหลายประเทศในทวีปเอเชีย รวมทั้งไทย ต่างก็กำลังเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุและประชากรหดตัว โดยเกาหลีใต้นั้น มีแนวโน้มที่จะแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นมาเป็น “ประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก” ภายในช่วงไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ส่วนประชากรจีน ก็เริ่มหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปีในปี 2565

ในปี 2565 ญี่ปุ่นมีเด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 800,000 คนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลในศตวรรษที่ 19

จำนวนผู้อายุยืนเกิน 100 ปีสูงเป็นประวัติการณ์

ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ยังระบุด้วยว่า จำนวนประชากรที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปหรือที่เรียกว่า "ศตวรรษิกชน" (centenarian) ในญี่ปุ่นนั้น มีอยู่ 92,139 คน ซึ่งเป็นสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันเป็นปีที่ 53 แล้ว

รายงานระบุว่า สถิติดังกล่าวนับถึงวันศุกร์ที่ 15 ก.ย.2566 และเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,613 คน โดยผู้มีอายุ 100 ปีขึ้นไปของญี่ปุ่นแบ่งเป็นผู้หญิง 81,589 คน คิดเป็น 88.5% ของทั้งหมด และเป็นผู้ชาย 10,550 คน

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีผู้มีอายุ 100 ปีขึ้นไปเฉลี่ย 73.74 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน โดยสถิติบันทึกไว้ว่า ผู้หญิงที่มีอายุมากที่สุดในญี่ปุ่น ได้แก่ นางฟูสะ ทัตซูมิ อายุ 116 ปี จากจังหวัดโอซากา ส่วนผู้ชายที่อายุมากที่สุดในญี่ปุ่น ได้แก่ นายจิสะบูโร โซโนเบะ อายุ 111 ปี จากจังหวัดชิบะ