ADB เผยเศรษฐกิจลาวแอ่นปัญหาหนี้ ซ้ำด้วยเงินเฟ้อ ทำ GDP ปีนี้โตช้ากว่าคาด

22 ก.ย. 2566 | 22:54 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ย. 2566 | 23:35 น.

เศรษฐกิจลาวได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ผสมแรงกดดันทางเศรษฐกิจมหภาคอันเกิดจากหนี้สาธารณะที่ไม่ยั่งยืน และสกุลเงินกีบลาวที่อ่อนค่าลงมากทำให้เงินเฟ้อพุ่ง ตัวเลขประมาณการณ์การขยายตัวของ GDP ปีนี้จึงถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ 3.7%

 

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของ เศรษฐกิจลาว ในปีนี้ (2566) จากประมาณการณ์เดิมในเดือนเมษายน คาดว่าจะโตในอัตรา 4% ได้ปรับลดมาอยู่ที่ 3.7% เมื่อประเมินจากผลกระทบอุทกภัยเมื่อไม่นานมานี้ และแรงกดดันทางเศรษฐกิจมหภาคอันเกิดจาก หนี้สาธารณะ ที่ไม่ยั่งยืน และ สกุลเงินกีบลาวอ่อนค่า ลงมากทำให้ อัตราเงินเฟ้อ ยังคงอยู่ในระดับสูงที่สุดในภูมิภาค 

รายงานฉบับล่าสุดเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ ADB เมื่อวันพุธ (20 ก.ย.) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจลาวจะยังคงเติบโตในอัตรา 4% ในปีหน้า (2567) โดยอัตราเงินเฟ้อยังคงระดับสูงจนถึงสิ้นปี ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้นอยู่ที่อัตรา 28%

ธนาคาร ADB ชี้ว่าราคาอาหารที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนในลาว จึงจำเป็นต้องมีการจัดการเศรษฐกิจมหภาคที่ดี ซึ่งรวมถึงการประสานงานนโยบายการคลังและการเงินอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ

ภาวะเงินเฟ้อราคาอาหารสูงขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 45.6% ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคมปีนี้ (แฟ้มภาพซินหัว)

สำนักข่าวซินหัว สื่อใหญ่ของจีน รายงานว่า หนึ่งในความท้าทายหลักของลาว คือการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ แม้อัตราเงินเฟ้อของลาวจะลดลงจากระดับ 28.64% ในเดือนมิถุนายน และ 27.8% ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 25.88% ในเดือนสิงหาคม แต่ยังคงเป็นหนึ่งในอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในภูมิภาคเอเชียอยู่ดี ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติลาวระบุว่า เงินกีบที่อ่อนค่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ผลักดันภาวะเงินเฟ้อในประเทศ

รายงานระบุว่า ภาวะเงินเฟ้อราคาผู้บริโภคของลาวยังคงเพิ่มขึ้น และเคยแตะจุดสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ระดับ 41.3% เมื่อเทียบปีต่อปี ก่อนจะค่อยๆลดลงมาอยู่ที่เกือบๆ 25.9% ในเดือนสิงหาคม ส่วนภาวะเงินเฟ้อราคาอาหารสูงขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 45.6% ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคมปีนี้ เนื่องจากอาหารนำเข้าและต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากปัจจัยผลิตทางการเกษตรนำเข้า

อย่างไรก็ดี การเติบโตของเศรษฐกิจลาวเป็นไปในทางบวกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งได้แรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งและการกลับมาเปิดประเทศของจีนในยุคหลังการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

ธนาคาร ADB ระบุว่า การท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัว ภาคการบริการที่มีความยืดหยุ่น และการแลกเปลี่ยนการเงินในภูมิภาค รวมทั้งสภาพทางการเงินที่ดีขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของลาว