เปิดเอกสารสำคัญ "เศรษฐา" เยือนจีน ลงนามความร่วมมือ 7 ฉบับ

15 ต.ค. 2566 | 07:35 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2566 | 07:54 น.

ไทย-จีน เตรียมลงนามความร่วมมือ 7 ฉบับ ในช่วง นายกรัฐมนตรี "เศรษฐาทวีสิน" และคณะ เดินทาง เยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ วันที่ 17 - 19 ตุลาคม 2566 เช็ครายละเอียดของเอกสารทั้งหมด รวมไว้ที่นี่ครบ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะ มีกำหนดเยือนประเทศจีน อย่างเป็นทางการ ในช่วงระหว่างวันที่ 17 - 19 ตุลาคม 2566 โดยนายกฯ จะเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ครั้งที่ 3 ณ กรุงปักกิ่ง จากนั้นในวันที่ 19 ตุลาคม 2566 นายรัฐมนตรี มีกำหนดการในพิธีเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ นายกฯ มีกำหนดเข้าเยี่ยมคารวะนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และพบหารือทวิภาคีกับนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน และนายจ้าว เล่อจี้ ประธานสภาประชาชนแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสานต่อความร่วมมือด้านต่าง ๆ ระหว่างสองประเทศ

สำหรับเรื่องสำคัญที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน เตรียมหารือและมีการลงนามความร่วมมือระหว่างกันนั้น ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบเอกสารสำคัญไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างน้อย 7 ฉบับ ทั้งร่างพิธีสาร เอกสารข้อริเริ่มปักกิ่ง และร่างบันทึกความเข้าใจ มีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้ 

 

ภาพประกอบ นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ มีกำหนดเยือนประเทศจีน อย่างเป็นทางการ

ส่งออกผลิตภัณฑ์เป็ดแช่แข็ง

ครม.เห็นชอบต่อร่างความตกลงเพื่อแก้ไขพิธีสารระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แห่งราชอาณาจักรไทย กับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบการกักกัน และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์ เพื่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและชิ้นส่วนสัตว์ปีกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน 

มีสาระสำคัญ คือการ แก้ไขพิธีสารฯ ฉบับปี 2561 โดยยังคงรายการผลิตภัณฑ์ไก่แช่แข็งไว้เช่นเดิม และเพิ่มเติมรายการผลิตภัณฑ์เป็ดแช่แข็ง จำนวน 18 รายการ ประกอบด้วย ตีนเป็ด ข้อปีกเป็ด ปีกกลางเป็ด ปลายปีกเป็ด ปีกบนเป็ด ตับเป็ด คอเป็ด กึ๋นเป็ด หัวใจเป็ด ไตเป็ด ลิ้นเป็ด หัวเป็ด ปากเป็ด กระดูกเป็ด กระดูกอ่อนเป็ด เอ็นเป็ด ไขมันเป็ด และ หนังเป็ด

การจัดทำความตกลงครั้งนี้ เชื่อว่า จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยทำให้สามารถส่งออกเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและชิ้นส่วนสัตว์ปีกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีนได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการขยายตลาด และสร้างโอกาสการลงทุนทางการค้าจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ของไทยขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดย กรมปศุสัตว์ ระบุว่า ถ้าเปิดตลาดเป็ดได้ ปีแรกจะส่งออกไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

 

เปิดเอกสารสำคัญ \"เศรษฐา\" เยือนจีน ลงนามความร่วมมือ 7 ฉบับ

ส่งออกผลิตภัณฑ์จากผึ้ง

ครม.เห็นชอบต่อร่างพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยอาหารด้านการสัตวแพทย์ และการปกป้องพืช เพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์จากผึ้งจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน โดยกรมปศุสัตว์ได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง ว่า สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ได้จัดทำร่างพิธีสารฯ

โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบ การกักกันความปลอดภัยอาหาร และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์ เพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์จากผึ้งจากฝ่ายไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์จากผึ้ง (น้ำผึ้ง นมผึ้ง1 และเกสรผึ้ง2) ที่ส่งออกจากฝ่ายไทยไปยังฝ่ายจีน 

ส่งออกผลเสาวรสสด-ต้นสนใบพาย

ครม.เห็นชอบตามร่างพิธีสาร 2 ฉบับ คือ ร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกผลเสาวรสสดจากราชอาณาจักรไทย ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) 

รวมทั้งร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกต้นสนใบพายจากไทยไปยังจีนระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ GACC 

ทั้งนี้ การจัดทำร่างพิธีสารทั้ง 2 ฉบับ เป็นการกำหนดแนวทางการปฏิบัติสำหรับการส่งออกผลเสาวรสสดและต้นสนใบพายไปยังจีนเพื่อให้เกษตรกรและผู้ส่งออกมีหลักปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินการและถือเป็นการสร้างความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าไทยในตลาดจีน อีกทั้งยังเป็นการขยายโอกาสสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยอีกด้วย 

โดยที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกไม้ประดับไปยังจีนเป็นจำนวนมาก เช่น ต้นหน้าวัว ต้นชวนชม ต้นกระบองเพชร เป็นต้น แต่ต้นสนใบพายถือเป็นไม้ประดับชนิดแรกที่มีการจัดทำพิธีสารเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ด้านสุขอนามัยสำหรับพืช 

ส่วนของการส่งออกผลไม้ไปยังจีนนั้น ที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกผลไม้ที่สำคัญได้แก่ มะม่วง ลิ้นจี่ มังคุด ลำไย ทุเรียน ภายใต้บันทึกความเข้าใจร่วมกันด้านความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 

ขณะที่การจัดทำพิธีสารเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ด้านสุขอนามัยสำหรับพืชในทำนองเดียวกันนี้ กระทรวงเกษตรฯ แจ้งว่า ที่ผ่านมามีเพียงชมพู่เท่านั้นที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยได้ผ่านความเห็นชอบจากครม.ไปแล้ว เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558

 

เปิดเอกสารสำคัญ \"เศรษฐา\" เยือนจีน ลงนามความร่วมมือ 7 ฉบับ

 

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล

ครม.เห็นชอบเอกสารข้อริเริ่มปักกิ่งว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้กรอบสายแถบและเส้นทาง และร่างบันทึกความเข้าใจ ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานข้อมูลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล

1. เอกสารข้อริเริ่มปักกิ่งฯ

เอกสารข้อริเริ่มปักกิ่งฯ เป็นเอกสารที่ระบุถึงเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีความสำคัญมากขึ้น รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยกระดับการผลิตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ พัฒนาตลาดและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และช่วยให้บรรลุการเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อขยายความร่วมมือในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล 

โดยคำนึงถึงหลักการเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างกัน นวัตกรรม การเปิดกว้าง ความสามัคคีและความไม่แบ่งแยกผลประโยชน์ร่วมกัน และความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย

สำหรับเอกสารข้อริเริ่มประกอบด้วยประเด็นความร่วมมือสาขาต่าง ๆ ได้แก่ การเสริมสร้างการเชื่อมต่อโครงข่ายดิจิทัล การส่งเสริมความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล การประสานงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลและการพัฒนาแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาและความร่วมมือด้านการค้าดิจิทัลและความเป็นผู้ประกอบการ 

การส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การส่งเสริมทักษะดิจิทัล ความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การส่งเสริมการลงทุน ด้านเทคโนโลยี และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเมืองในมิติเศรษฐกิจดิจิทัล

2. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ

มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งสองประเทศระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างต่อเนื่อง และเน้นย้ำเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ขอบเขตความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ดังนี้

1.ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมการประสานงานด้านนโยบายดิจิทัล เสริมสร้างการประสานงานและความร่วมมือในการพัฒนากลยุทธ์สำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล ประสานงานการวางแผนและการดำเนินการตามนโยบายที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดความครอบคลุมมากขึ้น

2.ทั้งสองฝ่ายจะยกระดับนวัตกรรมและการนำใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกระชับความร่วมมือด้านนวัตกรรมในสาขาต่าง ๆ อาทิ ข้อมูลขนาดใหญ่ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คลาวด์คอมพิวติ้ง เทคโนโลยีบล็อกเชน และปัญญาประดิษฐ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลอย่างครอบคลุม และหาโซลูชั่นทางเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนและสร้างสรรค์มากขึ้น

3.ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลในอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ เกษตรกรรม การผลิต และบริการ และการนำความร่วมมือในรูปแบบใหม่ไปใช้ในอตุสาหกรรมสาขาใหม่ ได้แก่ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ

4.ทั้งสองฝ่ายจะสร้างแพลตฟอร์มระดับภูมิภาคสำหรับนำเสนอความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล กระชับความร่วมมือในการสร้างเมืองอัจฉริยะและเขตอุตสาหกรรม (Industrial park)

 

เปิดเอกสารสำคัญ \"เศรษฐา\" เยือนจีน ลงนามความร่วมมือ 7 ฉบับ

 

เอ็มโอยู ไทย-จีน คุมเฟคนิวส์ 

นอกจากการเดินทางเยือนของนายฯ แล้ว ล่าสุด นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ด้านสื่อสารมวลชนและสารสนเทศระหว่าง กรมประชาสัมพันธ์กับกลุ่มสื่อแห่งชาติจีน (China Media Group : CMG) ช่วงวันที่ 18-20 ตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นโอกาสเดียวกับที่ นายกรัฐมนตรี เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ด้วย

นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยและจีนมีความสัมพันธ์และความร่วมมือในทุกมิติ ซึ่งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้หารือกับนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ถึงประเด็นที่รัฐบาลไทยและจีนให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการข่าวลวง การปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ และปัญหาแก็งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีอย่างต่อเนื่อง

“เราเห็นตรงกันว่าสื่อไทย-จีน ควรร่วมมือและแบ่งปันข่าวสารกัน เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาที่กล่าวมา โดยในการเดินทางเยือนสาธารณประชาชนจีนอย่างเป็นทางการครั้งนี้ จะหารือกับ นายเซิ่น ไห่สง ผู้อำนวยการและบรรณาธิการใหญ่  CMG  เพื่อวางแนวทางการให้ความร่วมมือกันระหว่าง 2 ประเทศ”