นับตั้งแต่วันที่ กองกำลังติดอาวุธฮามาส เริ่มโจมตี อิสราเอล เมื่อเช้าตรู่วันเสาร์ที่ 7 ต.ค. โดยระดมยิงมาจากเขตฉนวนกาซาและมีหน่วยรบภาคพื้นดินบุกเข้าสู่หมู่บ้านชายแดนของอิสราเอลทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,400 คนและมีการจับคนอิสราเอลและต่างชาติกว่า 200 คนไปเป็นตัวประกัน นำไปสู่การตอบโต้อย่างหนักหน่วงของกองทัพอิสราเอล จนถึงวันนี้ (13 พ.ย.) การสู้รบที่ยกระดับเข้าสู่ภาวะสงครามอย่างเต็มรูปแบบ ได้เข้าสู่วันที่ 38 แล้ว
การต่อสู้ภาคพื้นดินระหว่างกองกำลังอิสราเอลที่บุกเข้าทางตอนเหนือของฉนวนกาซาเริ่มขึ้นเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป้าหมายเพื่อถล่มฐานบัญชาการของฮามาสโดยเฉพาะในกาซาซิตี้ ซึ่งอยู่ทางเหนือของฉนวนกาซา และเป็นที่ที่กองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอล (IDF) ระบุว่า เป็นศูนย์บัญชาการและมีอุโมงค์ใต้ดินที่เป็นเครือข่ายการลำเลียงและเคลื่อนย้ายกำลังพลของฮามาสอยู่เป็นจำนวนมาก
จนถึงขณะนี้ พื้นที่การสู้รบหลักๆยังอยู่ทางเหนือของฉนวนกาซา ซึ่งประกอบไปด้วย เขตกาซาเหนือ และกาซาซิตี้ การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด โดยพื้นที่ที่ถูกโจมตีรวมถึงโรงพยาบาลซึ่งมีผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ และผู้อพยพที่ไปอาศัยโรงพยาบาลเป็นที่พักพิง จำนวนหลายหมื่นคน อิสราเอลอ้างเหตุผลว่า เป็นเพราะฮามาสจงใจจัดตั้งศูนย์บัญชาการหลายแห่งไว้ที่ใกล้ ๆ กับโรงพยาบาล รวมทั้งขุดอุโมงค์สร้างแหล่งกบดานและขุมกำลังอยู่ใต้โรงพยาบาล ทำให้อิสราเอลจำเป็นต้องโจมตีเป้าหมายเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มฮามาสได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของอิสราเอลที่ว่า ฝ่ายตนใช้โรงพยาบาลเป็นเกราะกำบังศูนย์บัญชาการและใช้พลเรือนผู้บริสุทธิ์เป็นโล่มนุษย์
กองกำลังอิสราเอลระบุว่า นับตั้งแต่เปิดฉากโจมตีภาคพื้นดิน สามารถสังหารกลุ่มฮามาสกว่า 50 คนแล้วโดยมีทั้งระดับแกนนำ ผู้บังคับบัญชา หน่วยสอดแนม และสมาชิกกลุ่ม ล่าสุด อิสราเอลสามารถเด็ดปีกนายโมห์เซน อาบู ซินา ผู้พัฒนาและผลิตอาวุธคนสำคัญของกลุ่มฮามาสได้สำเร็จ จากการโจมตีทางอากาศใส่ฉนวนกาซา
ทั้งนี้ กองทัพอิสราเอลไม่เพียงต้องการโจมตีฐานที่มั่นของฮามาสในฉนวนกาซา แต่ยังต้องการบุกช่วยเหลือและปลดปล่อยตัวประกันกว่า 200 คนให้เป็นอิสระ ซึ่งแม้กระทั่งขณะนี้ ก็ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าพวกเขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหน
ในช่วงต้นๆของสงคราม มีรายงานข่าวว่าจำนวนผู้ถูกจับเป็นตัวประกันซึ่งคาดว่าฮามาสจะนำตัวพวกเขาเข้าไปกักกันไว้ในเขตกาซานั้น มีจำนวนกว่า 240 คน (ข้อมูลของ IDF ระบุตัวประกันมี 242 คน) มีความพยายามจากหลายประเทศที่เกี่ยวข้องในการเจรจากับฮามาสเพื่อให้มีการปล่อยตัวประกัน ซึ่งที่ผ่านมาทางฝ่ายฮามาสปล่อยตัวประกันมาแล้ว 4 คน และมี 1 คนที่ทหารอิสราเอลบุกไปช่วยออกมาได้ แต่ที่เหลือนอกนั้น ก็ยังไม่รู้ชะตากรรม
ล่าสุด เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์รายหนึ่งที่ใกล้ชิดกับการเจรจาช่วยเหลือตัวประกันกล่าวกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (12 พ.ย.) ว่า ทางกลุ่มฮามาสจำเป็นต้องระงับกระบวนการเจรจาปล่อยตัวประกันเป็นการชั่วคราว โดยอ้างเหตุผลเป็นเพราะปฏิบัติการของอิสราเอลโจมตีโรงพยาบาลอัล ชีฟา ในเขตกาซา มีการปะทะกันตลอด 24 ชั่วโมง(ของวันที่ 11 พ.ย.) และกองทัพอิสราเอลก็ได้นำรถถังมาตีกรอบล้อมพื้นที่รอบโรงพยาบาลเอาไว้
ด้านกองกำลังอิสราเอล หรือ IDF แม้ว่าจะสามารถเปิดเผยแผนผังที่ตั้งของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆทางการทหารของฮามาสในกาซาซิตีซึ่งมีทั้งเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดิน คลังเก็บอาวุธ จุดฝึกซ้อมการสู้รบ รวมไปถึงฐานบัญชาการใหญ่ของฮามาสที่อยู่ในอุโมงค์ใต้ดินพิกัดอยู่ใต้โรงพยาบาลอัล ชีฟา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดของเขตกาซา แต่พวกเขาก็ยังไม่สามารถระบุชัดเกี่ยวกับตำแหน่งสถานที่ของตัวประกันเหล่านั้น
นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล กล่าวกับสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี สื่อใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับความพยายามช่วยเหลือตัวประกันว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการเจรจาเพื่อนำไปสู่ข้อตกลง “ที่น่าจะเกิดขึ้น” แต่หลังจากนั้น อิสราเอลได้เรียนรู้ว่า การเสนอข้อตกลงเหล่านั้นไม่เคยมีความจริงใจ และทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อกองทัพอิสราเอลเปิดฉากปฏิบัติการภาคพื้นดิน
อย่างไรก็ตาม ผู้นำอิสราเอลยืนยันว่ายังมี “ความเป็นไปได้” ในการบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มฮามาส ผ่านกาตาร์และอียิปต์ เพื่ออิสรภาพของตัวประกัน แต่เขาขอไม่ลงลึกในรายละเอียด ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความมั่นคง ทั้งนี้ ในโพสต์ทางเอ็กซ์ (X) ของรายการ Meet the Press สถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี ที่ถามนายเนทันยาฮูว่า ยังมีความเป็นไปได้หรือไม่สำหรับการตกลงปล่อยตัวประกัน ผู้นำอิสราเอลตอบว่า "อาจจะเป็นไปได้" แต่เขาคิดว่า ยิ่งพูดให้น้อยๆไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ โอกาสที่จะทำให้มันกลายเป็นจริงก็จะเพิ่มมากขึ้น
ถึงกระนั้น นายเนทันยาฮูยืนยันว่า จะไม่มีการหยุดยิงเพื่อแลกกับตัวประกัน และจะไม่มีการขยายระยะเวลาของการพักรบทางเทคนิค ที่หลายฝ่ายมองว่า จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ตัวประกันออกมาได้อย่างปลอดภัย
ทางด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวออกมาให้ข่าวล่าสุดว่า สหรัฐจะพยายามหาทางช่วยเหลือตัวประกันทุกคนที่ถูกกลุ่มฮามาสควบคุมตัวอยู่ในฉนวนกาซา แต่ สหรัฐยอมรับว่า “ไม่มั่นใจ” เกี่ยวกับสวัสดิภาพของตัวประกัน
ทั้งนี้ นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวถึงสถานการณ์ตัวประกันที่กลุ่มฮามาสควบคุมตัวอยู่ว่า จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีฝ่ายใดสามารถระบุจำนวนตัวประกันทั้งหมดได้อย่างชัดเจน เท่าที่มีการประเมินไว้ คือราวๆ 240 คน ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐคือมีตัวประกันเป็นชาวอเมริกัน 9 คน และเป็นผู้ที่มีกรีนการ์ดอเมริกัน 1 คน จุดยืนของสหรัฐคือต้องการให้กลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกันทั้งหมดอย่างปลอดภัย และรัฐบาลวอชิงตันก็มีส่วนร่วมในการเจรจาเพื่อช่วยเหลือตัวประกันทุกคน
นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงกรณีที่กลุ่มฮามาสและเครือข่ายอ้างว่า มีตัวประกันมากกว่า 60 คนเสียชีวิตแล้วจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในฉนวนกาซา เรื่องนี้นายซัลลิแวนกล่าวว่า อย่าไปให้ราคา แต่ก็ยอมรับว่า สหรัฐยังไม่สามารถยืนยันหรือปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าวของกลุ่มฮามาส และที่สำคัญก็คือ ยังไม่มีความชัดเจนว่า ณ ขณะนี้ ตัวประกันยังมีชีวิตอยู่กี่คน
นางสาวพรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้พบหารือกับนายเอริยาฮู เรวิโว (Eliyahu Revivo) สมาชิกรัฐสภาอิสราเอลและประธานคณะกรรมาธิการว่าด้วยแรงงานต่างชาติ ขอให้ทางการอิสราเอลเร่งติดตามตัวประกันชาวไทย คุ้มครองความปลอดภัยของแรงงานไทยที่ยังอยู่ในอิสราเอล และขอให้นายเรวิโวช่วยผลักดันการจัดตั้งกองทุน Deposit Fund สำหรับแรงงานต่างชาติในภาคเกษตรกรรม และการเจรจาความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอลเพื่อจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในภาคการก่อสร้างของอิสราเอลด้วย
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ แจ้งเพิ่มเติมล่าสุดวานนี้ (12 พ.ย.) ว่า ทางการอิสราเอล ได้แจ้งยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 5 ราย ภายหลังจากการพิสูจน์อัตลักษณ์ได้เพิ่มเติม ทำให้ผลกระทบต่อคนไทยขณะนี้คือ มีคนไทยเสียชีวิตจากเหตุการณ์สู้รบในอิสราเอล 39 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 4 ราย และถูกจับกุมเป็นตัวประกัน 25 ราย
ในโอกาสนี้ นายเรวิโวได้ยืนยันว่า ทางการอิสราเอลจะติดตามและช่วยเหลือตัวประกันชาวไทยเฉกเช่นกับชาวอิสราเอล และยินดีที่จะผลักดันการจัดตั้งกองทุน Deposit Fund อันจะเป็นการปกป้องและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทย ตลอดจนผลักดันให้การจัดทำความตกลงกับรัฐบาลไทยเพื่อจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในภาคการก่อสร้างของอิสราเอลบรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว
รายงานจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยภาพรวมเศรษฐกิจปาเลสไตน์เสี่ยงล่มสลาย หลังจากผ่านพ้น 1 เดือนของสงครามอิสราเอล-ฮามาส ทั้งนี้ ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ในเวสต์แบงค์และกาซา หดตัวลง 4% ในเดือนแรกที่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาสปะทุขึ้น ผลักให้ผู้คนกว่า 400,000 คนต้องเข้าสู่ภาวะยากจน ซึ่งเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนในสงครามซีเรียและยูเครน หรือแม้กระทั่งในสงครามอิสราเอล-ฮามาสเมื่อครั้งอดีต
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจในกาซาครั้งนี้ ได้รับการเปิดเผยโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (9 พ.ย.) ถือเป็นรายงานฉบับแรกของยูเอ็นที่สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบอันเลวร้ายของความขัดแย้งนี้ต่อชาวปาเลสไตน์
ทั้งนี้ ยูเอ็นคาดการณ์ว่า หากสงครามดำเนินเข้าสู่เดือนที่ 2 จีดีพีของปาเลสไตน์ ที่มีมูลค่า 20,400 ล้านดอลลาร์ก่อนสงครามจะเริ่มขึ้น จะหดตัวลงถึงระดับ 8.4% คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และถ้าหากสงครามยืดเยื้อออกไปเป็นเดือนที่ 3 จีดีพีปาเลสไตน์จะร่วงลงถึง 12% และความสูญเสียทางเศรษฐกิจจะคิดเป็นมูลค่า 2,500 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ประชาชนกว่า 660,000 คนจะต้องเข้าสู่ภาวะยากจน
รายงานของ UNDP ชี้ว่า หากจีดีพีปาเลสไตน์หดตัวลงถึง 12% ภายในสิ้นปีนี้ จะถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะเมื่อเทียบกับสงครามในซีเรีย เศรษฐกิจซีเรียหดตัว 1% ต่อเดือนในช่วงที่ความขัดแย้งรุนแรงถึงขีดสุด และกรณีของยูเครน ใช้เวลาราว 1 ปีครึ่งกว่าจีดีพียูเครนจะหดตัวลงไป 30% นั่นเท่ากับว่าจีดีพียูเครนหดตัวลงราว 1.6% ต่อเดือน
ยูเอ็นให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้เป็นต้นมา ดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งรวมความถึงเวสต์แบงค์และฉนวนกาซา ถูกจัดอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางในระดับต่ำ ขณะที่เส้นแบ่งความยากจนในปาเลสไตน์อยู่ที่ 6 ดอลลาร์ต่อคนต่อวัน และข้อมูลในเดือนมกราคมชี้ว่า กาซาเผชิญกับปัญหาการว่างงานที่ 46% ซึ่งสูงกว่าในเวสต์แบงค์ที่มีอัตราว่างงานที่ 13% อย่างไรก็ตาม ภายในไม่กี่สัปดาห์หลังสงครามปะทุขึ้น ตำแหน่งงานในพื้นที่ก็ถูกสลายอย่างรวดเร็ว โดยยูเอ็นชี้ว่า ในช่วงที่สงครามเข้าสู่เดือนแรก การจ้างงานราว 61% ในกาซา (ราว 182,000 ตำแหน่ง) หายไปเพราะสงคราม และ 24% ของการจ้างงานในเขตเวสต์แบงค์ หรือราว 208,000 ตำแหน่งก็หายไปในช่วงเวลาเดียวกัน โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ การเกษตรและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในดินแดนปาเลสไตน์
ทั้งนี้ ชาวปาเลสไตน์ราว 2 ใน 3 ของประชากร 2.3 ล้านคน ต้องพลัดถิ่นหลังจากโจมตีทางอากาศและทางภาคพื้นของอิสราเอล โดยทางกระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์ที่บริหารโดยฮามาสในฉนวนกาซา ระบุเมื่อวันพฤหัสบดีว่ามีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตจากการสู้รบแล้ว 10,818 ราย โดยในจำนวนนี้กว่า 4,400 คนเป็นเด็ก