สหรัฐเดินหน้าขับเคลื่อน IPEF “ปานปรีย์” ชี้การหารือยังติดประเด็นการค้า

13 พ.ย. 2566 | 10:27 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2566 | 11:04 น.

การเจรจากรอบการค้าที่สหรัฐอเมริกา เจ้าภาพจัดประชุม "เอเปคซัมมิต" ในปีนี้ ริเริ่มไว้ภายใต้ชื่อ IPEF หรือ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา แม้จะมีความคืบหน้าแต่ก็ยังติดขัดในบางประเด็นการหารือ   

 

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 30 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในช่วง สัปดาห์แห่งการประชุมผู้นำ (APEC Economic Leaders’ Week: AELW) เริ่มขึ้นแล้วในสัปดาห์นี้ (13-17 พ.ย.2566) ที่นครซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยประเด็นที่ไทยจะนำเข้าหารือที่เอเปค มีโจทย์หลักในเรื่องการค้าและการลงทุน ส่วนสาระจากการหารือนอกรอบคาดว่าจะครอบคลุมหลากหลายหัวข้อที่สะท้อนวาระการทูตที่ไทยต้องการเห็นความคืบหน้า

สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ภาคภาษาไทย สัมภาษณ์ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นครซานฟรานซิสโก เมืองเจ้าภาพการประชุมสุดยอดเอเปคในครั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (12 พ.ย.) ระบุว่า หนึ่งในประเด็นที่สหรัฐซึ่งเป็นเจ้าภาพให้ความสำคัญคือ การเจรจากรอบการค้าที่สหรัฐริเริ่มไว้ เรียกว่า IPEF (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity) หรือ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งนายปานปรีย์กล่าวกับวีโอเอว่า เรื่องนี้มีความคืบหน้าในหลายด้าน จะติดแต่เพียงเรื่องการค้าที่เป็นเสาหลักหนึ่ง ในทั้งหมดสี่เสาหลักของ IPEF ซึ่งประกอบด้วย

  1. การค้า
  2. ห่วงโซ่อุปทาน
  3. เศรษฐกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
  4. และความโปร่งใสและยุติธรรมทางเศรษฐกิจ

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ขอบคุณภาพจากวีโอเอไทย)

"ผมคิดว่า ทั้งสี่เสาหลักมาถูกทางแล้ว และค่อนข้างเป็นเรื่องที่ทันสมัย... เมื่อถามถึงความคืบหน้า เวลานี้สามเสาหลักหลังมีความคืบหน้าไปเยอะแล้วก็พร้อมที่จะลงนามกัน แต่เสาหลักแรกซึ่งเป็นเรื่องการค้าหรือ trade เป็นเสาหลักที่ต้องเจรจากัน เพราะยังมีรายละเอียดอีกหลาย ๆ ด้านที่ยังไม่ลงตัว แต่ก็เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้จะจบลงด้วยดี"

ทั้งนี้ ประเทศที่ร่วมเจรจากรอบเศรษฐกิจ IPEF มี 14 ประเทศ ได้เเก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บรูไน ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เวียดนาม และไทย โดยอินเดียและฟิจิไม่ได้อยู่ในกลุ่มเอเปค แต่ร่วมหารือในกรอบ IPEF

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 พ.ย.)ว่า แหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์เอ่ยนาม 3 รายกล่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า เสาหลัก IPEF เรื่องการค้าเป็นหัวข้อที่ยากที่จะให้เกิดความเห็นพ้องต้องกัน โดยหลายประเทศยังไม่เต็มใจตอบรับข้อเรียกร้องของสหรัฐ บ้างก็ขอเวลาพิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องมาตรฐานแรงงานและสิ่งเเวดล้อม

ภาพจาก US-ASEAN Business Council

IPEF คืออะไร และท่าทีของไทย

กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) เป็นหนึ่งในแผนงานภายใต้ Indo-Pacific Strategy หรือยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐ ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ประกาศยุทธศาสตร์ดังกล่าวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565

มีเป้าหมายที่จะยกระดับภูมิภาคอินโด- แปซิฟิกให้เสรีและเปิดกว้าง เชื่อมโยง มั่งคั่ง และพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ รวมถึงเพื่อปกป้อง ผลประโยชน์ของสหรัฐ ทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง และรักษาบทบาทมหาอำนาจเดี่ยวในภูมิภาคดังกล่าว

ปัจจุบัน IPEF เป็นกรอบยุทธศาสตร์ที่สหรัฐให้ความสนใจเป็นอย่างมากหลังจากที่เคยผลักดันข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) ก่อนหน้านี้

IPEF มีสมาชิก 14 ประเทศ ประกอบด้วย (เรียงตามอักษรภาษาอังกฤษ) ออสเตรเลีย บรูไนดารุสชาลาม ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม มีมูลค่าเศรษฐกิจรวมกันกว่า 40% ของ GDPโลก และมีจำนวนประชากรครอบคลุม 60% ของประชากรโลก

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ของไทยเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศ (กต.)ให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย มีอำนาจลงนามในข้อตกลงการดำเนินการเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง (IPEF) ว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน และการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงฯของ IPEF

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้ในการเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ที่ประเทศไทยจะผลักดันการลงทุนให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำคัญในซัพพลายเชนของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกด้วย

สำหรับสาระสำคัญในการเข้าร่วม IPEF คือ ที่ผ่านมาสมาชิกได้ร่วมเจรจาร่างเอกสารความร่วมมือที่ครอบคลุมทั้ง 4 เสาหลักความร่วมมือของ IPEF มาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ด้านการค้า ห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเสาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

ภายใต้เสาความร่วมมือที่ 2 ประเทศหุ้นส่วน IPEF ได้เจรจาจัดทำร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อร่วมลงนามก่อนที่จะดำเนินการให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับต่อไป

ร่างความตกลงฯ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสและความหลากหลายของห่วงโซ่อุปทาน สนับสนุนการจัดทำนโยบายทางการค้าและการลงทุนอย่างครอบคลุมในห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมบทบาทของแรงงานในระบบห่วงโซ่อุปทาน สนับสนุนการรับมือกับวิกฤติต่าง ๆ ที่จะนำมาซึ่งปัญหาห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก ลดการบิดเบือนกลไกตลาด และสนับสนุนความร่วมมือด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน เช่น การลงทุน วิชาการ โครงสร้างพื้นฐาน การเสริมสร้างขีดความสามารถทางอุตสาหกรรม และการเสริมสร้างความเชื่อมโยง เป็นต้น

ประโยชน์ที่คาดว่าไทยจะได้รับ

ร่างความตกลงฯด้านห่วงโซ่อุปทานที่ไทยจะลงนามกับสมาชิก ประกอบด้วยข้อบทที่ครอบคลุมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ได้แก่

  • การประสานความร่วมมือเพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน
  • การดำเนินการเพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน
  • การส่งเสริมความโปร่งใสด้านกฎระเบียบ
  • การดำเนินความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับด้านแรงงาน ได้แก่ การเสริมสร้างบทบาทแรงงาน การแก้ไขการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิแรงงานของประเทศนั้นในสถานที่ทำงานเฉพาะแห่ง
  • การจัดตั้งกลไกเพื่อกำกับดูแลการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับระบบห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ Supply Chain Council, Supply Chain Crisis Response Network และ Labor Rights Advisory Board
  • การกำหนดสาขาอุตสาหกรรมที่สำคัญหรือสินค้าหลัก
  • การติดตามและแก้ไขปัญหาจุดเปราะบางของห่วงโซ่อุปทาน
  • และการรับมือกับการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

ทั้งนี้ กำหนดให้ประเทศหุ้นส่วน IPEF ที่ลงนามแล้วให้สัตยาบันแสดงการยอมรับ หรือให้ความเห็นชอบความตกลงดังกล่าว ซึ่งความตกลงฯ จะมีผลใช้บังคับ 30 วันหลังจากวันที่ประเทศหุ้นส่วน IPEF ให้สัตยาบันอย่างน้อย 5 ประเทศ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เคยจัดทำรายงานผลการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการดำเนินความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานภายใต้ IPEF และเห็นว่า ไทยจะได้รับประโยชน์จากเสาความร่วมมือที่ 2 ในการเข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือต่าง ๆ โดยเฉพาะเครือข่ายแก้ไขปัญหาวิกฤติด้านห่วงโซ่อุปทาน การดึงดูดการลงทุนในสาขาเศรษฐกิจที่มีความสำคัญหรือสินค้าหลัก และเป็นช่องทางสำหรับความร่วมมือเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าต่อสินค้าส่งออกจากไทยด้วย

สำหรับการประชุมหารือเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF Summit) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์แห่งการประชุมผู้นำเอเปค และนายกฯเศรษฐาจะเข้าร่วมประชุมด้วยนั้น กำหนดมีขึ้นในวันที่ 16 พ.ย. ที่จะถึงนี้