ผ่าอาณาจักร 3 ยักษ์สหรัฐ Tesla, Google, Microsoft รอนัดถกนายกฯ เศรษฐา

08 พ.ย. 2566 | 10:05 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2566 | 11:14 น.

วาระการประชุม APEC ในวันที่ 11-17 พ.ย.66 ไทยร่วมถกปิดดีลเอกชน ปักหมุดดีล 3 อาณาจักรยักษ์ใหญ่ Tesla, Google, Microsoft บริษัทเอกชนชั้นนำระดับโลกจากสหรัฐฯ

จับตาการเดินทางของ "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะ ซึ่งจะเดินทางเข้าร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค (APEC) ระหว่างวันที่ 11-17 พฤศจิกายน 2566 นี้ ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

ตามกำหนดการ นอกจากนายกฯ จะเข้าร่วมประชุมบนเวทีเอเปค และร่วมหารือแบบทวิภาคีกับผู้นำประเทศต่าง ๆ แล้ว วาระสำคัญของการเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้ นายกฯ และคณะมีกำหนดการหารือร่วมกับเอกชนชั้นนำระดับโลกของสหรัฐอเมริกาหลายราย โดยเฉพาะการปิดดีลกับบริษัทยักษ์ใหญ่หลายราย หลังจากที่เคยหารือกันไว้ในช่วงที่นายกรัฐมนตรี เดินทางไปประชุมมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ที่นครนิวยอร์ก ทั้ง Tesla, Google, และ Microsoft 

ฐานเศรษฐกิจ ขอโหมโรงก่อนนายกฯ เดินทางไปพบกับผู้บริหารของบริษัทชั้นนำของโลก โดยขอพาไปเปิด 3 อาณาจักรเอกชนยักษ์ใหญ่ ที่นายกฯ เตรียมหารือเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในอนาคต

“เศรษฐา” เยือนสหรัฐฯ ถก 10 ยักษ์เอกชน พร้อมปิดดีลบิ๊กธุรกิจ

 

1. เทสลา (TESLA) 
บริษัทยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 1.02 ล้านล้านดอลลาร์ และล่าสุดได้ เปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้ว ภายใต้การก่อตั้งและการบริหารของ “Elon Musk” หรือ “อีลอน มัสก์” อภิมหาเศรษฐีชาวอเมริกันอายุ 50 ปี ที่มีความมั่งคั่งหรือทรัพย์สินถือครองอยู่มีมูลค่ารวม 264,600 ล้านดอลลาร์ หรือราว 9 ล้านล้านบาท ที่ล่าสุดได้ตัดสินใจทุ่มทุนซื้อธุรกิจ “ทวิตเตอร์” (Twitter) มูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.5 ล้านล้านบาทไทย และพัฒนาเปลี่ยนชื่อเป็น “X” (เอกซ์) 

เทสลา เริ่มก่อตั้งบริษัทในปี 2003 โดยเกิดจากแนวคิดของนิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) นักประดิษฐ์ผู้พัฒนาระบบไฟฟ้ากระแสสลับ ที่สร้างแรงบันดาลใจทำให้อีลอน มัสก์ก่อตั้งบริษัทในนามของ Tesla เพื่อให้เกียรติผู้คิดค้น และได้เริ่มผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน แทนการใช้พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิง

ทั้งนี้ จากผลดำเนินงานไตรมาส 3 ของปี 66 เทสลามีรายได้สุทธิอยู่ที่ 1.9 พันล้านเหรียญ โดยมีสัดส่วนรายได้จากยอดขายกลุ่มยานยนต์มากที่สุดถึง 1.96 ล้านเหรียญ ซึ่งลดลง 44% ต่ำกว่าที่คาดไว้ อีลอน มักส์ จึงประกาศลดราคารถยนต์ให้ถูกลงเพื่อให้คนซื้อได้ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

 

2. กูเกิล (Google)
บริษัท Search Engine จากสหรัฐฯ ที่มีผู้ใช้บริการอยู่ทั่วโลก ที่มีบริษัท Alphabet เป็นบริษัทแม่ ปัจจุบันมีธุรกิจภายใต้ Google อยู่หลายอย่าง โดย Google เริ่มจากการเป็นโครงงานวิจัยของ เซอร์เกย์ มีไคโลวิช บริน (Sergey Mikhaylovich Brin) ชาวอเมริกันเชื้อสายรัสเซีย และ ลอว์เรนซ์ แลร์รี่ เพจ (Lawrence Larry Page) ชาวอเมริกันเชื้อสายยิว นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งมี สก็อตต์ ฮัสซัน (Scott Hassan) นักเขียนโปรแกรมเมอร์ เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัทคนที่ 3 อย่างไม่เป็นทางการ และผู้เขียนโค้ดให้ระบบของ Google 

ผลิตภัณฑ์ของ Google มีซอฟต์แวร์ต่างๆ มากมาย อาทิ Search Engine ระบบปฏิบัติการ Android ซอฟต์แวร์ชมภาพถ่ายผ่านดาวเทียมและภาพถ่ายทางอากาศทั่วโลก(Google Earth) ซอฟต์แวร์เบราว์เซอร์ (Google Chrome) บริการรับส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์(Gmail) เว็บไซต์เผยแพร่วิดีโอ (YouTube) และซอฟต์แวร์สำหรับดำเนินธุรกิจต่างๆ ที่ไม่มีบริษัทหรือผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไหนไม่ใช้บริการผลิตภัณฑ์ของ Google ที่ครองส่วนแบ่งการตลาด Search Engine ทุกแพลตฟอร์มทั่วโลกสูงถึง 91.55% (สถิติจาก Statcounter - ตุลาคม 66)

ทั้งนี้ ผลประกอบการ Google ในไตรมาส 3 ของปี 66 อยู่ที่ 7.66 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 2.76 ล้านล้านบาทไทย นับว่าเพิ่มขึ้น 11% จากปีที่แล้ว และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และพึ่งฉลองครบรอบ 25 ปี Google ไปเมื่อวันที่ 27 กันยายน 66 ที่ผ่านมา 

 

3. ไมโครซอฟท์ (Microsoft)    
บริษัทผู้ผลิตและพัฒนาซอฟท์แวร์รายใหญ่และเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจคลาวด์ของโลก ที่มีผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักและคุ้นหน้าคุ้นตามากมาย อาทิ ระบบปฏิบัติการ Microsoft Office 365, Microsoft Bing, Microsoft Azure, Xbox, LinkedIn และระบบ Windows รวมถึงเป็นผู้ปฏิวัติวงการ AI ด้วย ChatGPT และมีสัดส่วนรายได้ระหว่างธุรกิจที่ดี อีกทั้งยังมีโอกาสเติบโตในธุรกิจโฆษณาอีกด้วย โดยเริ่มจากนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาคือ บิล เกตส์ (Bill Gates) และ พอล อัลเลน (Paul Allen) ที่มีความสนใจเรื่องของคอมพิวเตอร์ และร่วมศึกษาจนได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า Microsoft Corporation ตั้งแต่ปี 1975 

มาในปี 1985 บริษัทไมโครซอฟท์ได้ร่วมมือกับบริษัท IBM ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และให้บริการด้านคอมพิวเตอร์และสารสนเทศรายใหญ่ของโลก ที่มีแผนการเข้าสู่ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและได้ขอซื้อระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์จากบริษัทไมโครซอฟท์ ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ได้เปิดตัวระบบปฏิบัติการ Windows และพัฒนาระบบมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ Windows 1.0 และปัจจุบันได้เตรียมแผนเปิดตัว Windows 12 ในปี 2024 ที่จะถึงนี้

อีกทั้งยังมี Microsoft Bing หรือที่รู้จักในชื่อ Bing ปัจจุบันครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 3.11% (สถิติจาก Statcounter - ตุลาคม 66) โดยบริษัทไมโครซอฟท์มีมูลค่าตลาดราว 2.68 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีราคาหุ้นอยู่ที่ 360.53 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่าพุ่งขึ้นในระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และได้ปิดการซื้อ-ขายไปเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 66 เนื่องจากนักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตของ OpenAI ที่เป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) พันธมิตรของไมโครซอฟท์


โดยในวาระการประชุม APEC ในวันที่ 11-17 พ.ย.66 นั้นน่าจับตามองเป็นอย่างมาก เนื่องจากถือเป็นโอกาสให้ไทยได้พบปะหารือกับเอกชนยักษ์ใหญ่หลายราย รวมไปถึง 3 อาณาจักรเอกชนยักษ์ใหญ่อย่าง Tesla, Google และ Microsoft ให้เข้ามาร่วมมือกันขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนร่วมกัน