16 พ.ย. 2566 เวลา 10.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโกซึ่งช้ากว่าไทย 15 ชั่วโมง) ณ ศูนย์ประชุมมอสโคนีเซ็นเตอร์ ฝั่งทิศใต้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบหารือทวิภาคีกับ นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ในระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30
นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการหารือทวิภาคีดังกล่าวไว้ ดังนี้
ผู้นำทั้งสองฝ่ายต่างหวังที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือในระดับทวิภาคีอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น โดยมีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ระหว่างประเทศ เชื่อว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ถือเป็นกรอบความร่วมมือที่สำคัญที่จะทำให้เกิดโอกาสมากมาย และการประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจจากทั่วโลกจะได้ใช้โอกาสนี้พบกัน
นายกฯ กล่าวว่า การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้มาเพื่อประกาศให้ทราบว่า ประเทศไทยเปิดแล้ว และพร้อมรับการลงทุน การเกิดสถานการณ์ระหว่างประเทศทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมาภูมิภาคอาเซียน อาทิ ไทย และเวียดนาม มากขึ้น โดยมีภาคเอกชนชั้นนำต่างประเทศเข้ามาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมากขึ้น ในครั้งนี้มีโอกาสได้พบหารือกับภาคเอกชนชั้นนำหลายราย ที่กำลังพิจารณา และพิจารณาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต โดยไทยมีสิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับภาคเอกชนจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการ
ขณะที่นายกฯ แคนาดากล่าวตอบว่า แคนาดาพร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลของไทย ทั้งในระดับทวิภาคี และภูมิภาค เพื่อสานต่อพลวัตความสัมพันธ์ และความร่วมมือสาขาต่าง ๆ
ทั้งนี้ แคนาดามียุทธศาตร์อินโดแปซิฟิก ที่หวังจะร่วมมือกับไทย ซึ่งด้วยสถานการณ์ระหว่างประเทศทำให้ภาคเอกชนจะต้องเพิ่มศักยภาพความยืดหยุ่นในภาคการผลิตมากขึ้น รวมทั้งกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นด้วย
ไทยถือเป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญของแคนาดา อย่างไรก็ดี ไทยและแคนาดายังไม่มี FTA ระหว่างกัน ทั้งนี้ ทั้งสองเห็นพ้องหากดำเนินการได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อไทยและแคนาดามาก โดยทั้งสองฝ่ายเห็นว่า ความตกลง FTA ระหว่าง ASEAN-Canada ซึ่งกำลังเจรจากันอยู่น่าจะเป็นโอกาสที่ดีให้ทั้งสองฝ่ายใช้ประโยชน์จาก FTA ดังกล่าว
ในช่วง 8 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ส.ค.) การค้าระหว่างไทยกับแคนาดามีมูลค่า 1,919.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปแคนาดามูลค่า 1,209.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากแคนาดามูลค่า 710.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ข้าว เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า