ญี่ปุ่น-อาเซียน ยกระดับมิตรภาพ 50 ปี แถลงการณ์ร่วมเน้นความมั่นคงในภูมิภาค

18 ธ.ค. 2566 | 01:36 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2566 | 01:47 น.

ผู้นำญี่ปุ่นและอาเซียนร่วมประชุมสุดยอดนัดพิเศษเมื่อวันอาทิตย์ที่กรุงโตเกียว ฉลอง 50 ปีของมิตรภาพและความสัมพันธ์ ประกาศวิสัยทัศน์ร่วมกันยืนยันความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค

 

แถลงการณ์ร่วม จากที่ ประชุมสุดยอดญี่ปุ่น-อาเซียน สมัยพิเศษ เมื่อวันอาทิตย์ (17 ธ.ค.) มีเนื้อหาเรียกร้องให้มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ ความเป็นหุ้นส่วน ที่เกื้อหนุนประโยชน์ต่อกันและกัน และการทำงานร่วมกันเพื่อสร้าง สันติภาพและความมั่นคง ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก พร้อม ๆ กับการเรียกร้องให้มีการส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคให้มากขึ้น และการผลักดันให้มีการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วย

นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และผู้นำประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ออกแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียวสิ้นสุดลงเมื่อวันอาทิตย์ เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ญี่ปุ่นและอาเซียนบรรลุข้อตกลงที่จะเสริมสร้างการสานต่อการพบปะหารือและสร้างความร่วมมือเพื่อธำรงความมั่นคงและความปลอดภัยทางทะเล ความสงบเรียบร้อยทางทะเลตามหลักนิติธรรม รวมถึงเสรีภาพและความปลอดภัยในการเดินเรือ ตลอดจนการบินข้ามทะเลและการพาณิชย์ที่ไร้อุปสรรค

ผู้นำญี่ปุ่นให้การต้อนรับผู้นำอาเซียนและคู่สมรส ในงานเลี้ยงรับรอง ณ พระราชวังอะคาซากะ  เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2566

แถลงการณ์นี้ระบุด้วยว่า ผู้นำญี่ปุ่น-อาเซียนเน้นย้ำการให้ความเคารพต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน การหาข้อยุติในด้านความแตกต่างหรือข้อโต้แย้ง ด้วยวิธีสันติ ทั้งนี้ ญี่ปุ่นและอาเซียนยืนยันปฏิเสธ “คำขู่หรือการใช้กำลังใดๆในภูมิภาค” โดยไม่มีการระบุชื่อจีนแต่อย่างใด แม้ว่าการที่จีนอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ และเพิ่มจำนวนเรือและวิธีการอื่นๆ เพื่อยืนยันการอ้างสิทธิ์ของตนในพื้นที่พิพาท จะสร้างความไม่พอใจให้กับหลายชาติทั่วทั้งภูมิภาค

โดยในแถลงการณ์ร่วมเพียงระบุว่า ญี่ปุ่นและอาเซียนจะเพิ่มความตระหนักรู้ในเรื่องขอบเขตทางทะเล ตลอดจนความ ร่วมมือระหว่างหน่วยยามฝั่งและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างความร่วมมือในการสร้างขีดความสามารถทางทะเล และรับประกันในเรื่องการระงับข้อพิพาท “ด้วยสันติวิธี” โดยไม่ต้องใช้การคุกคามหรือการใช้กำลัง ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ออกแถลงการณ์ร่วมญี่ปุ่น-อาเซียน เมื่อวันอาทิตย์ (17 ธ.ค.66)

 ญี่ปุ่นเองนั้น มีข้อพิพาทเรื่องน่านน้ำและข้อพิพาทเรื่องอื่นกับจีน ที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมและขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงกับชาติต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ (16 ธ.ค.) รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศ จะกระชับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับมาเลเซีย และจะจัดสรรเงิน 400 ล้านเยน หรือราว 98.14 ล้านบาท ให้กับมาเลเซียในด้านอุปกรณ์เตือนภัยและเฝ้าระวัง นอกจากนี้ เมื่อเดือนพ.ย. ญี่ปุ่นยังตกลงที่จะช่วยฟิลิปปินส์ในเรื่องการซื้อเรือยามฝั่งและจัดหาระบบเรดาร์ โดยทั้งสองประเทศยังได้หารือกันเรื่องจะอนุญาตให้ส่งทหารของชาติตนมายังแผ่นดินของกันและกัน

แถลงการณ์ญี่ปุ่น-อาเซียนยังระบุว่า ผู้นำประเทศทั้งหมดตกลงที่จะดำเนินการแผนงาน 130 โครงการด้วย ขณะที่ญี่ปุ่นเรียกร้องให้มีการยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงและด้านกลาโหม และการเพิ่มการสนับสนุนความพยายามในด้านการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและในด้านการลงทุน ซึ่งรวมถึง ในอุตสาหกรรมรถยนต์ในภูมิภาค