ทะเลแดงเดือด ซ้ำเติม "วิกฤตเศรษฐกิจอียิปต์" พังเพิ่มอีก

18 ธ.ค. 2566 | 10:21 น.
อัพเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2566 | 12:36 น.

สถานการณ์ทะเลแดงเดือด หลัง 4 สายเรือยักษ์ใหญ่ ประกาศระงับการเดินเรือผ่านช่องแคบบับเอลมันเดบ (Bab-el-Mandeb Strait) ในทะเลแดง ซ้ำเติมเศรษฐกิจอียิปต์ที่กำลังวิกฤต หนี้สาธารณะพุ่ง 4 เท่าในรอบหลายปี

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา สถานการณ์การขนส่งสินค้าในทะเลแดงมีความตึงเครียดมากขึ้น หลัง “เมอส์ก ยิบรอลตาร์ (Maersk Gibraltar)” ซึ่งเป็นเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ของ บริษัท เมอส์ก ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของขีปนาวุธจากกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน ขณะเดินทางจากเมืองซาลาลาห์ ประเทศ โอมานไปยัง เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ทำให้สายเรือชั้นนำของโลกประกาศระงับการเดินเรือผ่านช่องแคบบับเอลมันเดบ (Bab-el-Mandeb Strait) ในทะเลแดง

เหตุการณ์ดังกล่าว ยังไม่ทันสงบก็มีการส่งสัญญาณการโจมตีอีกครั้งในวันต่อมา คือวันที่ 16 ธ.ค. 66 แต่ครั้งนี้เรือรบของกองทัพสหรัฐฯ ได้ยิงสกัดโดรนที่โจมตีเหนือทะเลแดงจำนวน 14 ลำ โดยโดรนเหล่านี้ถูกยิงมาจากพื้นที่ที่กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนยึดครองอยู่

ซึ่งหากนับรวมจนถึงล่าสุด มีสายเรือ 4 รายที่ประกาศระงับการเดินทางแล้ว โดยฐานเศรษฐกิจไล่เรียงไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้

วันที่ 15 ธ.ค. 66

  • เมอส์ก (Maersk) สัญชาติ เดนมาร์ก
  • ฮาแพค-ลอยด์ (Hapag-Lloyd) สัญชาติ เยอรมนี
  • ประกาศทันทีหลัง เมอส์ก ยิบรอลตาร์ (Maersk Gibraltar) ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของขีปนาวุธจากกลุ่ม “กบฏฮูตี”

วันที่ 16 ธ.ค. 66

  • เมดิเตอร์เรเนียน ชิปปิ้ง (MSC) สัญชาติ อิตาลี-สวิตเซอร์แลนด์
  • ซีเอ็มเอ ซีจีเอ็ม (CMA CGM) สัญชาติ ฝรั่งเศส
  • เรือรบ “กองทัพสหรัฐฯ” ยิงสกัดโดรนโจมตีของกลุ่มกบฏฮูตี ในเยเมน จำนวน 14 ลำ

โดยทั้ง 4 บริษัทสายการเดินเรือ ถือเป็นรายใหญ่ท็อป 5 ของโลก 

  • อันดับที่ 1 Maersk เรือ 733 ลำ
  • อันดับที่ 2 MSC เรือ 615 ลำ 
  • อันดับที่ 3 CMA CGM เรือ 542 ลำ
  • อันดับที่ 4 COSCO เรือ 489 ลำ
  • อันดับที่ 5 Hapag-Lloyd เรือ 259 ลำ

ทะเลแดงเดือด ซ้ำเติม \"วิกฤตเศรษฐกิจอียิปต์\" พังเพิ่มอีก

นายโอซามา ราบี ประธาน องค์การคลองสุเอซ (SCA) ของอียิปต์ ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.2566 เป็นต้นมา เรือบรรทุกสินค้าจำนวน 55 ลำได้เลี่ยงไปใช้เส้นทางแหลมกู๊ดโฮป (Cape of Good Hope) ซึ่งเชื่อมระหว่างยุโรปและเอเชีย แทนการใช้เส้นทาง คลองสุเอซ และนับตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. 66 จนถึงขณะนี้ มีเรือเพียง 2,128 ลำเท่านั้นที่สัญจรผ่านเส้นทางคลองสุเอซ

สำนักข่าว aljazeera รายงานว่า ความไม่มั่นคงที่เพิ่มมากขึ้นในทะเลแดงเป็นผลมาจากสงครามของอิสราเอลในฉนวนกาซา กลุ่มฮูตีได้โจมตีเรืออย่างน้อย 8 ลำในช่องแคบบับเอลมันเดบที่เป็นเส้นทางสำคัญการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งหมายความว่าการหยุดชะงักใดอาจกลายเป็นปัญหาระดับโลกราว 10%

ด้านกลุ่มฮูตีระบุว่า การโจมตีมีวัตถุประสงค์เพื่อกดดันให้อิสราเอลยุติการทำสงครามกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา หลังกลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีพื้นที่ทางภาคใต้ของอิสราเอลในวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้อิสราเอลตอบโต้ด้วยการใช้ปฏิบัติการทางทหารที่รุนแรง

นักวิเคราะห์จาก Energy Intelligence บริษัทข้อมูลพลังงานในวอชิงตัน ระบุว่า "ราคาน้ำมันดิบ" ในช่วงปลายสัปดาห์นี้จะปรับตัวขึ้นสูงกว่าที่เคยเป็นในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการโจมตีไม่เหมือนจะหยุด ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงจากต้นทุนของสายเรือที่ต้องเปลี่ยนไปใช้เส้นทางผ่านแหลมกู๊ดโฮป ระยะทางเพิ่มขึ้น 6 พันกิโลเมตร ระยะเวลาเพิ่มขึ้น 2 สัปดาห์

ทะเลแดงเดือด ซ้ำเติม \"วิกฤตเศรษฐกิจอียิปต์\" พังเพิ่มอีก

สำหรับประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการคลองสุเอซนั้น เรียกได้ว่าเสียผลประโยชน์เป็นอย่างมาก เพราะอียิปต์จำเป็นต้องพึ่งพาค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากเรือที่สัญจรผ่านคลองสุเอซ เป็นแหล่งรายได้สกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี

โดยในปีงบประมาณ 2565-2566 รายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมเดินเรือของอียิปต์สูงถึง 9.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้านั้นซึ่งอยู่ที่ระดับ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

วิกฤตเศรษฐกิจของอียิปต์เกิดจากหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น 4 เท่าในช่วงแปดปีที่ผ่านมา โดยหนี้นั้น มีมากกว่ารายได้ที่เก็บจากคลองสุเอซหลายเท่าตั้ว ซึ่งเกิดจากการกู้เงินจากภายนอกเพิ่มขึ้นและถูกนำไปใช้ลงทุนในโครงการที่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้อียิปต์ได้ในระยะสั้น เช่น 

  • สร้างเมืองหลวงใหม่ (New Cairo) ราว 58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ราว 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • เครือข่ายรถไฟความเร็วสูง 2,000 กม. ราว 23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ซื้ออาวุธจำนวนมาก (อันดับ 3 ของประเทศที่นำเข้าอาวุธมากที่สุดในโลกในปี 2558 และ 2562)
  • การพยุงเงินปอนด์อียิปต์ที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง
  • ภายในเวลาเพียง 2 ปี อียิปต์มีสินทรัพย์ต่างประเทศลดลงอยู่ที่ระดับ -24.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์ในทะเลแดงครั้งนี้ องค์การคลองสุเอซได้ประกาศแผนปรับขึ้นค่าผ่านทางอีก 5-15% สำหรับเรือที่แล่นผ่านคลองสุเอซ โดยจะเริ่มเก็บค่าผ่านอัตราใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป

โดย ค่าผ่านทางสำหรับเรือบรรทุกน้ำมันดิบ เรือบรรทุกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เรือบรรทุกก๊าซปิโตรเลียมเหลว เรือบรรทุกก๊าซธรรมชาติเหลว เรือบรรทุกสารเคมีและเรือบรรทุกของเหลวเทกองอื่นๆ เรือคอนเทนเนอร์ เรือบรรทุกยานพาหนะ เรือสำราญ และหน่วยลอยน้ำพิเศษ จะเพิ่มขึ้น 15%

ส่วนค่าผ่านทางสำหรับเรือสินค้าเทกองแห้ง เรือบรรทุกสินค้าทั่วไป และเรือบรรทุกยานยนต์ จะเพิ่มขึ้น 5%