โตชิบา ถูก เทกโอเวอร์ โดยกลุ่มนักลงทุนซึ่งนำโดย เจแปน อินดัสเทรียล พาร์ตเนอร์ส (JIP) ซึ่งเป็นบริษัทบริหารหุ้นนอกตลาด (Private Equity Firm) รวมถึงบริษัทโอริกซ์ (Orix) ผู้ให้บริการทางการเงิน, ชูบุ อิเล็กทริก พาวเวอร์ (Chubu Electric Power) ซึ่งเป็นบริษัทด้านสาธารณูปโภค และโรห์ม (Rohm) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิป
การเทกโอเวอร์มูลค่า 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้โตชิบาอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทต่าง ๆ ในประเทศ หลังผ่านการต่อสู้อย่างยืดเยื้อกับบรรดานักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้การดำเนินธุรกิจของโตชิบาที่เป็นบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ ชิป ตลอดจนอุปกรณ์นิวเคลียร์ อุปกรณ์ด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ ต้องเผชิญภาวะชะงักงันในช่วงก่อนหน้านี้
แม้ว่าทิศทางของโตชิบาในมือของเจ้าของคนใหม่ยังคงไม่ชัดเจน แต่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่านายทาโร ชิมาดะ ซีอีโอของโตชิบา ซึ่งยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิมหลังการซื้อกิจการ จะมุ่งเน้นไปที่บริการด้านดิจิทัลที่มีอัตรากำไรสูง
การสนับสนุนของ JIP ต่อนายชิมาดะได้สกัดแผนการร่วมมือกับกองทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐก่อนหน้านี้ โดยคนในแวดวงอุตสาหกรรมบางคนกล่าวว่า การแยกธุรกิจของโตชิบาอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
นายเดเมียน ตอง หัวหน้าฝ่ายวิจัยของแมคควารี แคปิตอล ซีเคียวริตีส์ ในญี่ปุ่นให้ความเห็นว่า "ความยากลำบากของโตชิบาเกิดจากการรวมกันของการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่ย่ำแย่และโชคไม่ดี ผมหวังว่า การขายกิจการบริษัทในครั้งนี้ ทั้งสินทรัพย์และบุคลากรที่มีความสามารถของโตชิบาจะพบสถานที่ทำงานใหม่ที่สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่"
ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจะจับตาดูโตชิบาอย่างใกล้ชิด โดยโตชิบามีพนักงานประมาณ 106,000 คน และการดำเนินงานบางส่วนของบริษัทถือว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ
บริษัทโตชิบา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2418 โดยแรกเริ่มนั้น บริษัทเป็นผู้ผลิตนาฬิกาและตุ๊กตากลไก บริษัทถูกนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2492 หลังจากที่ตลาดกลับมาเปิดการซื้อขายหุ้นอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงนับได้ว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น
ก่อนหน้านี้ นายทาโร ชิมาดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของโตชิบา เคยกล่าวไว้ว่า โตชิบาจะเดินต่อไปในก้าวที่สำคัญ สู่อนาคตใหม่พร้อมกับผู้ถือหุ้นรายใหม่
ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โตชิบาต้องเผชิญกับความล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน รวมทั้งเรื่องอื้อฉาวที่สร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ของบริษัทอย่างหนักหน่วง เช่น ในปี 2558 บริษัทยอมรับการทำทุจริตว่าแสดงผลกำไรเกินจริงเป็นจำนวนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะเวลา 6 ปี ทำให้บริษัทถูกสั่งปรับเป็นเงินถึง 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7,370 ล้านเยน) ซึ่งถือเป็นการเรียกค่าปรับก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น
ต่อมาสองปีให้หลัง โตชิบายังรายงานการขาดทุนครั้งใหญ่ในธุรกิจพลังงานนิวเคลียร์ที่บริษัทเข้าไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา ทำให้ต้องลดคาใช้จ่ายลงถึง 700,000 ล้านเยนเพื่อหลีกเลี่ยงการล้มละลาย รวมไปถึงการขายธุรกิจชิปหน่วยความจำในปี 2561 ซึ่งในขณะนั้นเป็นธุรกิจที่สำคัญอย่างมากต่อบริษัท
นับจากนั้นเป็นต้นมา โตชิบาก็ตกเป็นเป้าหมายการซื้อกิจการ โดยบริษัทได้รับข้อเสนอเทกโอเวอร์หลายครั้ง รวมทั้งข้อเสนอจากกลุ่มหุ้นนอกตลาดของอังกฤษ นำโดยซีวีซี แคปิทัล พาร์ทเนอร์ส (CVC Capital Partners) ในปี 2564 แต่โตชิบาปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว มีรายงานข่าวระบุว่า ในปีเดียวกันนั้น โตชิบาพยายามหาทางออกด้วยการจับมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อยับยั้งผลประโยชน์ของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามายื่นข้อเสนอเทกโอเวอร์
นักวิเคราะห์กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า โตชิบาในสายตาของชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองภาครัฐ ถือเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
หลังจากนั้นเป็นต้นมา บริษัทได้ประกาศแผนการที่จะแยกบริษัทออกเป็น 3 ธุรกิจ ซึ่งเป็นเอกเทศจากกัน แต่ภายในไม่กี่เดือน แผนดังกล่าวก็ได้รับการปรับแก้ไขโดยคณะกรรมการบริษัท โดยจะแยกบริษัทออกเป็น 2 หน่วยธุรกิจแทน อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการดำเนินการตามแผนดังกล่าว คณะกรรมการของบริษัทได้เจรจาหารือกับ JIP ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อเสนอและตกลงกันได้ JIP ได้เข้ามาถือหุ้น 78.65% หรือมากกว่า 2 ใน 3 ของโตชิบา ซึ่งผลของข้อตกลงเทกโอเวอร์มูลค่า 14,000 ล้านดอลลาร์นั้น ก็ทำให้โตชิบาต้องนำบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์ และมีผลในวันนี้
ข้อมูลอ้างอิง