แผ่นดินไหวญี่ปุ่น ขนาด 7.6 มีความรุนแรงแค่ไหน ตามหลักวิทยาศาสตร์

01 ม.ค. 2567 | 14:46 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ม.ค. 2567 | 09:00 น.

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น (1 ม.ค.67) ส่งผลกระทบและเกิดความเสียหายในวงกว้างต่อชีวิตและทรัพย์สิน เช็กระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวแต่ละขนาด ที่นี่

เมื่อเกิด "แผ่นดินไหว" จะมีการระบุขนาดเพื่อคำนวณความรุนแรง และเพื่อคาดการณ์ระดับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากมีแผ่นดินไหว โดยการระบุขนาด หรือ Magnitude (แมกนิจูด) จะเป็นปริมาณที่มีความสัมพันธ์กับพลังงานที่พื้นโลกปลดปล่อยออกมาในรูปของการสั่นสะเทือน และมีหน่วยเป็น "ริกเตอร์"

ซึ่งคำนวณได้จากการตรวจวัดค่าความสูงของคลื่นแผ่นดินไหวด้วยเครื่องมือตรวจแผ่นดินไหว เพื่อหาค่าปริมาณที่บ่งชี้ขนาด ณ บริเวณศูนย์กลางแผ่นดินไหว ฐานเศรษฐกิจพาเช็กระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวแต่ละขนาด ตามความสัมพันธ์ของขนาดโดยประมาณกับความสั่นสะเทือนใกล้ศูนย์กลาง ดังนี้
 

ขนาดของแผ่นดินไหว(แมกนิจูด) และระดับความรุนแรงตามมาตราริกเตอร์

แผ่นดินไหวขนาด 1 - 2.9 ริกเตอร์

  • เกิดการสั่นไหวเล็กน้อย ผู้คนเริ่มมีความรู้สึกถึงการสั่นไหวในบางครั้ง และอาจรู้สึกเวียนศีรษะ

แผ่นดินไหวขนาด 3 - 3.9 ริกเตอร์

  • เกิดการสั่นไหวเล็กน้อย ผู้คนที่อยู่ในอาคารจะรู้สึกเหมือนรถไฟวิ่งผ่าน

แผ่นดินไหวขนาด 4 - 4.9 ริกเตอร์

  • เกิดการสั่นไหวปานกลาง ผู้ที่อาศัยอยู่ทั้งภายในอาคารและนอกอาคาร รู้สึกถึงการสั่นสะเทือน วัตถุที่ห้อยแขวนอยู่มีการแกว่งไกวไปมา

แผ่นดินไหวขนาด 5 - 5.9 ริกเตอร์

  • เกิดการสั่นไหวรุนแรงเป็นบริเวณกว้าง เครื่องเรือนและวัตถุต่างๆ มีการเคลื่อนที่

แผ่นดินไหวขนาด 6 - 6.9 ริกเตอร์

  • เกิดการสั่นไหวรุนแรงมาก อาคารเริ่มเสียหาย พังทลาย

แผ่นดินไหวขนาด 7.0 ริกเตอร์ ขึ้นไป

  • เกิดการสั่นไหวร้ายแรง อาคาร สิ่งก่อสร้างมีความเสียหายอย่างมาก แผ่นดินแยก และวัตถุที่อยู่บนพื้นถูกเหวี่ยงกระเด็น

 

ทั้งนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวของญี่ปุ่น (1 ม.ค.2567) มีขนาดเกิน 7.0 ริกเตอร์ขึ้นไป และมีขนาดสูงถึง 7.6 ริกเตอร์ ถือเป็นการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่นอกจากจะทำให้อาคารบ้านเรือนและพื้นถนนเสียหายแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงของการเกิดสึนามิ ทั้งในญี่ปุ่นและประเทศข้างเคียง อย่างเกาหลีใต้และรัสเซียอีกด้วย

โดยทั้ง 2 ประเทศข้างต้นได้ออกแถลงการณ์เตือนสึนามิกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเรียบร้อยแล้ว และจากการอัพเดตล่าสุด (ช่วงเย็นวันนี้ เวลาประเทศไทย) ยังไม่ได้รับรายงานผลกระทบหรือความเสียหายใดๆ 

ผลกระทบจากแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (1 ม.ค.67)

ทางด้านกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นก็ได้ลดระดับเตือนสึนามิในญี่ปุ่นลงแล้ว พบส่วนใหญ่เป็นสถานะ "ถึงฝั่ง" เกือบหมดแล้ว - อัพเดตล่าสุด วันที่ 1 มกราคม 2567 เวลา 18.50น.(ตามเวลาประเทศไทย) ขณะเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ประกาศเตือนว่าอาจเกิดคลื่นสึนามิความสูง 3 - 5 เมตรในหลายพื้นที่ เนื่องจากเกิดคลื่นสึนามิขนาดเล็กอยู่หลายครั้ง ทำให้จากการประเมินอาจเกิดคลื่นสึนามิเพิ่มเติม 

ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ระบุว่า มีประชาชน 6 รายติดค้างอยู่ใต้ซากอาคารบ้านเรือนที่พังถล่มลงมาในเมืองวาจิมะของจังหวัดอิชิคาวะ โดยในขณะนี้ยังไม่มีรายงานสถานการณ์ของผู้ประสบภัยกลุ่มดังกล่าว

*Update ล่าสุด วันที่ 2 มกราคม 2567 เวลา 16.38 น. (ตามเวลาประเทศญี่ปุ่น) ทางรมว.กต. รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตมีทั้งหมด 48 ราย

 

แหล่งที่มาของมาตราวัดความรุนแรงแผ่นดินไหว : กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา