"โครงการแลนด์บริดจ์" ในมุมมองเยอรมัน ขอบเขตจำกัด ผลกระทบสวล.ยังไม่ผ่าน

23 ม.ค. 2567 | 05:15 น.
อัพเดตล่าสุด :23 ม.ค. 2567 | 05:52 น.

ขณะที่ครม.สัญจรกำลังเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการแลนด์บริดจ์อย่างเข้มข้นเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ อีกปัจจัยสำคัญนอกจากความสนับสนุนของคนในพื้นที่ คือความสนใจจากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการว่าจะมีมากพอหรือไม่

 

ปลายปี 2566 ที่ผ่านมา มีการพูดถึงกันมากถึงการตอบรับของเยอรมนีที่มีต่อ โครงการเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ ของไทย โดย Deutshe Welle สื่อใหญ่ของเยอรมนีได้ตีพิมพ์บทความ Will Germany invest in Thailand's 'land bridge' project? (เยอรมนี จะลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยหรือไม่?) ระบุว่า แม้จะมีความน่าสนใจ แต่โครงการเชื่อมโยงฝั่งทะเลภาคตะวันออกและตะวันตกของไทยด้วยเส้นทางรถไฟและรถยนต์ ซึ่งจะกลายมาเป็นเส้นทางเลือกใหม่ในการขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียแทนที่ช่องทางเดิมที่ต้องตัดผ่านช่องแคบมะละกานั้น ยังมีความท้าทายหลายประการ และเชื่อว่าในขั้นต้นนี้ หากจะมีบริษัทเยอรมันสนใจเข้ามาลงทุน ก็คงจะมีขอบเขตจำกัด  

สื่อเยอรมันรายงานว่า โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นเมกะโปรเจคท์ที่รัฐบาลไทยภายใต้การบริหารงานของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง ที่มีสไตล์การทำงานแบบเซลส์แมนระดับชาติ ได้พยายามผลักดันมาตั้งแต่ต้นหลังเข้ารับตำแหน่งในเดือนสิงหาคม 2566 และนำเสนอโครงการนี้ในทุกเวทีนานาชาติที่ได้ไปเยือน

รวมทั้งการไปร่วมเวทีประชุม Belt and Road Forum ที่ประเทศจีนในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นายกฯของไทยได้เปิดตัวโครงการนี้อย่างเป็นทางการกับบรรดานักลงทุนรายใหญ่ของจีน จากนั้นไม่กี่สัปดาห์ก็ได้ไปนำเสนอโครงการกับนักลงทุนในตะวันออกกลาง ก่อนจะนำโครงการแลนด์บริดจ์มุ่งหน้าต่อสู่สายตาของนักลงทุนอเมริกันและชาติตะวันตกครั้งแรกในเวทีการประชุมเอเปคซึ่งจัดขึ้นที่นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ในช่วงกลางเดือนพฤษจิกายน 2566

โครงการนี้จะเป็นการเชื่อมชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของไทยซึ่งเป็นฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ที่จะมีท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ที่จังหวัดระนอง กับฝั่งทะเลด้านตะวันออกหรือฝั่งอ่าวไทยที่มีท่าเรือน้ำลึกจังหวัดชุมพรดำเนินการอยู่แล้ว ท่าเรือทั้งสองฝั่งจะถูกเชื่อมโยงถึงกันด้วยเส้นทางรถไฟและรถยนต์ ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร ที่จะช่วยให้ไม่ต้องลำเลียงสินค้าอ้อมผ่านทางช่องแคบมะละกาอีกต่อไป

แลนด์บริดจ์จะสร้างเส้นทางขนส่งสินค้าใหม่ (เส้นสีฟ้า) เชื่อมฝั่งอันดามันและอ่าวไทยแทนเส้นทางที่อ้อมผ่านช่องแคบมะละกา (เส้นสีแดง)

สนใจ แต่...ขอบเขตการลงทุนน่าจะมีจำกัด

สื่อใหญ่ของเยอรมันรายงานสะท้อนความมั่นใจของฝ่ายไทยซึ่งอ้างอิงถ้อยแถลงของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคมช่วงปลายปีที่ผ่านมาว่า ฝ่ายเยอรมันมีท่าทีแสดงความสนใจในโครงการแลนด์บริดจ์อย่างเห็นได้ชัด โดยท่านทูต แอ็นสท์ ว็อล์ฟกัง ไรเชิล เอกอัครราชทูตเยอรมีประจำประเทศไทยที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เอ่ยปากขอให้รัฐบาลไทยนำโครงการแลนด์บริดจ์ไปโร้ดโชว์ในเยอรมนีในปี 2567 นี้ ข่าวยังระบุด้วยว่า ท่านทูตไรเชิลรับปากจะพยายามเชิญชวนบริษัทเยอรมันเข้ามาลงทุนในโครงการนี้ ซึ่งผลจะเป็นอย่างไร บริษัทเยอรมันจะเข้ามาลงทุนจริงหรือไม่ ยังต้องรอดูกันต่อไป

ทั้งนี้ Deutshe Welle ระบุว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ของเยอรมันเช่น ซีเมนส์ ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเนิ่นนานหลายปีแล้ว ทั้งยังมีส่วนในหลายโครงการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย เช่นโครงการรถไฟฟ้า แต่จะสนใจลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์หรือไม่นั้น ยังไม่แน่ชัด สื่อเยอรมันรายงานว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเม็ดเงินลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์น่าจะมาจากเงินทุนจีน ซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่สุดในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคอาเซียน แม้ว่าฝ่ายไทยจะต้องการให้สัดส่วนการลงทุนจากฝ่ายจีนและชาติตะวันตกมีความสมดุลกันก็ตาม

จากข้อมูลของฝ่ายไทยนั้น หากมีทุนสนับสนุนโครงการตามเป้าและการก่อสร้างสามารถเริ่มได้ตามแผนการที่วางไว้ โครงการนี้ก็น่าจะแล้วเสร็จในปีค.ศ.2040 (พ.ศ.2583) โดยท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งทะเลจะสามารถรองรับสินค้าได้ปีละ 20 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ และมีความเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ที่มีเป้าหมายเชื่อมโยงไทยเข้ามาด้วย และการเชื่อมต่อกับเครือข่ายรถไฟจีนที่กำลังก่อสร้างอยู่ในประเทศกัมพูชาด้วย

แหล่งข่าวนักการทูตเยอรมันที่ไม่ประสงค์เปิดเผยนามกล่าวกับ Deutshe Welle ว่า การเข้าร่วมของฝ่ายเยอรมันในโครงการแลนด์บริดจ์น่าจะมีขอบเขตจำกัด และถ้าจะมีบริษัทเยอรมันเข้าร่วมลงทุนในโครงการนี้ ก็น่าจะเป็นการลงทุนในด้านการพัฒนาท่าเรือมากที่สุด

ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคารกลางเยอรมัน (Deutsche Bundesbank) พบว่า เยอรมนีเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่ในประเทศไทย ปี 2563 มีบริษัทเยอรมันลงทุนในไทย 227 บริษัท มูลค่าลงทุนรวม 4,200 ล้านยูโรโดยประมาณ นับเป็นประเทศในอาเซียนที่มีการลงทุนของเยอรมนีมากที่สุดรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย

บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของเยอรมันทั้งเมอร์เซเดส-เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู ล้วนมีการลงทุนตั้งฐานการผลิตในโครงการอีอีซีของไทย ส่วนซีเมนส์ก็มีการลงทุนในหลายโครงการด้านขนส่ง-คมนาคม

รอดูผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน

หันมาดูทางจีน ซึ่งเป็นชาติแรกที่ไทยนำโครงการแลนด์บริดจ์ไปเปิดตัวเพื่อเชิญชวนให้เข้ามาลงทุน จีนถือเป็นผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังมีโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟในหลายประเทศทั่วทั้งอาเซียน เพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าทางเลือกแทนที่การขนส่งทางเรือผ่านช่องแคบมะละกาอยู่แล้ว

ข่าวระบุว่า ปัจจุบัน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ของไทย และบริษัท China Harbor Engineering Company ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน กำลังร่วมกันพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ที่สุดของไทยอยู่

ศาสตราจารย์อันโทนิโอ รัปปา ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและความมั่นจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า บริษัทจีนจะไม่ได้ประโยชน์อันใดจากการร่วมทุนกับบริษัทเยอรมัน เพราะพันธมิตรที่ทุนจีนต้องการคือบริษัทท้องถิ่นของไทยเท่านั้น ทั้งนี้ แม้จะมีบริษัทเยอรมันลงทุนอยู่ในไทยเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นการลงทุนด้านไอที ค้าปลีก หรือไม่ก็อุตสาหกรรมการผลิต ไม่ใช่อุตสาหกรรมก่อสร้าง

ท่าเรือทั้งสองฝั่งจะถูกเชื่อมโยงถึงกันด้วยเส้นทางรถไฟและรถยนต์ ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร

ดังนั้น คงไม่คุ้มค่า ถ้าบริษัทเยอรมันจะเข้ามาลงทุนในเมกะโปรเจ็คท์ใหญ่ขนาดนี้แม้ว่าจะมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีก็ตาม “ดูแนวโน้มแล้ว บริษัทเยอรมันจะเข้ามามีส่วน(ในโครงการแลนด์บริดจ์) น้อยมาก”

อย่างไรก็ตาม สถานทูตเยอรมันไม่ได้ให้ความเห็นใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อ Deutshe Welle สอบถามเข้าไป

มาร์ค โคแกน (Mark Cogan) ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย  Kansai Gaidai University ในประเทศญี่ปุ่น ให้ความเห็นในอีกมุมมองที่ชวนคิดว่า อีกสิ่งหนึ่งที่เขามองเห็นว่าอาจเป็นอุปสรรคสำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ก็คือ หากต้องการเชิญชวนนักลงทุนจากสหภาพยุโรป (อียู) นั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือ การศึกษาด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรายรอบโครงการ ซึ่งขณะนี้ การประเมินดังกล่าวยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ขณะที่การชุมนุมคัดค้านไม่เอาโครงการแลนด์บริดจ์ก็ยังคงมีอยู่ เนื่องจากหากโครงการนี้เดินหน้าจริงตามแผนที่ตั้งไว้ ต้องมีการเวนคืนและโยกย้ายประชาชนจำนวนมากนับพันๆคนออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีความวิตกกังวลว่า โครงการแลนด์บริดจ์อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการประมงในพื้นที่อีกด้วย

“ความท้าทายอันดับแรกที่รัฐบาลคุณเศรษฐาต้องเผชิญ คือการพิสูจน์ให้ได้ว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการที่คุ้มค่าการลงทุนเมื่อมองในแง่การเงิน และขณะเดียวกันมันต้องไม่สร้างปัญหาในด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นด้วย” โคแกนกล่าว

ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็เป็นตัวแปรสำคัญ

นอกจากนี้ เขายังมองว่า ประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็เป็นอีกความเสี่ยงอย่างหนึ่งของโครงการ ก่อนหน้านี้เคยมีเจ้าหน้าที่ของสหรัฐที่ออกมาให้ความเห็นว่า การมีบทบาทของทุนจีนในโครงการอีอีซีของไทยนั้น อาจเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้จีนสามารถครอบงำโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ท่าเรือ  

อย่างไรก็ตาม สื่อเยอรมันระบุว่า ก็คงต้องดูฝีมือของฝ่ายไทยว่าจะสามารถรักษาสมดุลระหว่างทุนจีนและทุนตะวันตก โดยจะไม่พึ่งพาทุนจีนมากจนเกินไปอย่างที่ตั้งใจไว้นั้น ทำได้จริงหรือเปล่า เพราะหากทำได้จริงก็จะเป็นที่ดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนจากยุโรป ซึ่งในฝั่งของอียูนั้น มีโครงการที่ชื่อว่า Global Gateway Initiative คอยให้ทุนสนับสนุนแก่โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศต่างๆทั่วโลกที่เห็นว่ามีความเหมาะสมอยู่แล้ว นอกจากนี้ ภาคเอกชนของยุโรปเองก็มีความพร้อมหากเห็นว่าเป็นโครงการที่น่าลงทุน

ที่สำคัญคือ อียูและไทยกำลังรื้อฟื้นการเจรจาทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกันอีกครั้งในเดือนมีนาคมนี้หลังจากที่เคยสะดุดขัดมาระยะหนึ่ง และครั้งนี้รัฐบาลไทยก็มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความคืบหน้าในการทำ FTA กับคู่ค้าที่สำคัญอย่างอียู แม้ว่าหนทางการเจรจาอาจจะยังยาวไกล แต่หากจะเกิดขึ้น อียูก็คงหวังเห็นมาตรฐานสูงหลายด้านจากฝ่ายไทยซึ่งรวมถึงโครงการพัฒนาที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของชุมชน เรื่องนี้เมื่อไทยนำโครงการแลนด์บริดจ์ไปโร้ดโชว์ในประเทศยุโรปตามแผนการของปีนี้ หากต้องการจูงใจกลุ่มทุนอียู คงต้องเตรียมตอบคำถามไว้ให้ดี    

ข้อมูลอ้างอิง