"สว.สุรเดช"ชี้ 4 ปัจจัยสำเร็จ "แลนด์บริดจ์"อาจไม่เกิดขึ้นจริง

23 ม.ค. 2567 | 05:09 น.
อัพเดตล่าสุด :23 ม.ค. 2567 | 05:20 น.

"สว.สุรเดช"หารือต่อที่ประชุมวุฒิสภา ชี้ 4 ปัจจัยสำเร็จ"โครงการแลนด์บริดจ์"อาจไม่เกิดขึ้นจริง แนะ "นายกฯ" ฟังความเห็นให้รอบด้าน

วันที่ 23 ม.ค.2567 นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) หารือต่อที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อเรียกร้องไปยังรัฐบาล พิจารณาและดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพืนฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ แลนด์บริดจ์ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามันด้วยความรอบคอบ และรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายให้รอบด้าน ทั้ง หน่วยงานของรัฐ, สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, นักลงทุน, นักวิชาการ โดยความเห็นของตนจากการพิจารณาข้อมูลที่ได้จากกระทรวงคมนาคม ในประเด็นปัจจัยความสำเร็จของโครงการแลนด์บริดจ์   4 ด้าน  คือ

1.ระยะเวลาที่สั้นลง ตนเห็นว่าแม้ปสภาพทางภูมิศาสตร์ประเทศไทยจะมีระยะทางที่สั้นลงเมื่อเทียบกับช่องแคบมะละกา 1,000 กิโลเมตร  สามารถล่นระยะเวลาเดินเรือ เหลือเพียง 2-3วัน  แต่ของไทยไม่สามารถเดินเรือผ่านโดยตรงได้  เพราะไม่ได้ขุดคลองไทย ดังนั้นต้องใช้การขนถ่ายสินค้า จากเรือขนาดใหญ่ 2-3หมื่นทียู  ซึ่งจะใช้เวลาขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ 3 วัน จากนั้นต้องใช้การขนส่งทางรถ และรถไฟ 1 วัน  จากท่าเรือระยองไปชุมพร จากนั้นเมื่อถึงท่าเรือต้องขนถ่ายสินค้าลงเรือ อีก 3 วัน ซึ่งรวมเวลา 7 วัน ดังนั้นที่กระทรวงคมนาคมแจ้งว่าจะสั้งลงนั้นจริงหรือไม่ เพราะต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นถึง 5 วัน

2. ค่าใช้จ่าย  เมื่อมีการขนถ่ายสินค้าจากเรือไปการขนส่งอื่น รวม 6 ครั้ง ต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย ประมาณหมื่นบาท ไม่ทราบว่าประหยัดค่าใช้จ่ายจริงหรือไม่

3.มีอุตสาหกรรมหลังท่า หรืออุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยกรรมาธิการ แลนด์บริดจ์ของสภาฯ ศึกษาและระบุว่าโครงการดังกล่าวจะสำเร็จได้ เมื่อมีอุตสาหกรรมหลังท่า หรือ เอสอีซี ทั้งนี้ต้องพิจารณาจุดแข็งของพื้นที่ที่นำไปสู่ความสำเร็จ เมื่อเทียบกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ดำเนินการ 10เมือง ยังไม่พบความสำเร็จ ขณะที่โครงการอีอีซี ที่มีโครงการปิโตรเคมี แต่จนถึงวันนี้ยังไม่สำเร็จเท่าที่ควร

นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ สมาชิกวุฒิสภา

และ 4.  ผู้ร่วมลงทุน จากที่มีมติ ครม. ให้ทำโรดโชว์ ในต่างประเทศ  ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง เดินทางไปแล้ว 4 ประเทศ ตนขอเรียกร้องให้นายกฯ ชี้แจงว่ามีนักลงทุนหรือประเทศใดสนใจหรือไม่ เพราะตามข้อมูลของกระทรวงคมนาคม กำหนดเงื่อนไขให้เอกชนลงุทน 100%
 

“หลักการในการทำโครงการขนาดใหญ่ มีผลได้ และผลเสีย ซึ่งการดำเนินดังกล่าวต้องการสร้างเพื่อทดแทนความคับคั่งที่ช่องแคบมะลากา ซึ่งเป็นการแข่งขันการเดินเรือสินค้ากับสิงคโปร์ และมาเลเซีย  แต่ปัจจัยความสำเร็จตามข้อมูลของกระทรวงคมนาคมใน 4 ประเด็นนั้น ผมขอตั้งคำถามว่าสำเร็จได้จริงหรือไม่

ดังนั้นควรรับฟังข้อมูลให้รอบด้าน แม้จะสร้างเสร็จแล้วต้องดำเนินการต่อ ไม่ทำให้รกร้าง เพราะจะแข่งขันไม่ได้ ตามที่กระทรวงคมนาคมอ้างว่าช่องแคบมะละกาคับแคบ แต่พบว่ามีความกว้างกว่า 100 กิโลเมตร  ขณะที่สิงคโปร์ยังมีการปรับปรุงเพื่อรองรับการเดินเรือที่เพิ่มมากขึ้น” นายสุรเดช กล่าว

นายสุรเดช กล่าวด้วยว่า นายเศรษฐา ที่นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประชุมนอกกสถานที่ และวานนี้ (22 ม.ค.67) ลงพื้นที่พร้อมตรวจเยี่ยมพื้นที่ก่อสร้างในจ.ระนอง ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่  เพื่อรองรับเรือสินค้า 20ล้านทียู ย่อมมีคนค้านและคนสนับสนุน ดังนั้นนายกฯต้องรับฟังข้อมูลรอบด้าน ทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบและผู้สนับสนุน