ดังที่กล่าวมาแล้วว่า จีน เป็นประเทศที่สามารถผลิต สับปะรด ได้มากเป็นอันดับ 5 ของโลก ราวปีละ 1.65 ล้านตัน รองจากคอสตาริกา บราซิล ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยอำเภอสวีเหวิน เมืองจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้ง เป็นฐานการผลิตและการแปรรูปสับปะรดที่ใหญ่ที่สุดในจีน ส่วนใหญ่สับปะรดที่ปลูกในจีนเป็นพันธุ์ Bali คิดเป็นพื้นที่ปลูกมากกว่าร้อยละ 75 ของทั้งประเทศ นอกจากนี้ ยังมีสับปะรดพันธุ์อื่น ๆ เช่น พันธุ์ Tainong 16, พันธุ์ Tainong 17, พันธุ์ MD-2 และพันธุ์ Jinboluo ซึ่งมีแนวโน้มการปลูกเพิ่มขึ้นทุกปีเนื่องจากขายได้ราคาดี ทั้งนี้ สับปะรดในจีนจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี
นอกจากการเป็นผู้ผลิตสับปะรดแล้ว จีนยังเป็นประเทศที่มีปริมาณการบริโภคสับปะรดมากที่สุดในโลกด้วย ในรายงานการหมุนเวียนของผลไม้เมืองร้อนปี 2565 ของ Meituan Youxuan ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม Group buying ยักษ์ใหญ่ของจีน ระบุว่า สับปะรด ติดโผ 1 ใน 4 ผลไม้เมืองร้อนที่ทำยอดขายได้มากที่สุดติดต่อกัน 2 ปีซ้อน (ปี 2564-2565) โดยทั่วไป ผู้บริโภคชาวจีนจะเน้นบริโภคสับปะรดผลสดเป็นหลัก โดยตลาดผู้บริโภคส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จีนตอนใต้และภาคตะวันออกของประเทศ
ที่น่าสนใจคือ ความนิยมในการบริโภคสับปะรดผลสด มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการนำมาแปรรูปเป็นอาหารคาวหวานต่างๆ เช่น สับปะรดอบแห้ง สับปะรดกระป๋อง เครื่องดื่มน้ำสับปะรด แยมสับปะรด เหล้าสับปะรด พายสับปะรดสไตล์ไต้หวัน และข้าวผัดสับปะรด อีกด้วย
สถิติชี้ว่า นครเซี่ยงไฮ้ เป็นผู้นำเข้าสับปะรดรายใหญ่ในจีน มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 66.84 ของปริมาณการนำเข้าทั้งประเทศ ตามด้วย มณฑลเจ้อเจียง ร้อยละ 12.58 มณฑลซานตง ร้อยละ 11.51 มณฑลกวางตุ้ง ร้อยละ 5.74 และมณฑลยูนนาน ร้อยละ 2.09
แม้ว่าจีนจะมีกำลังการผลิตสับปะรดได้มากกว่า 1.65 ล้านตัน แต่ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการบริโภคภายในประเทศได้เพียงพอ และยังต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน จีนอนุญาตการนำเข้าสับปะรดจาก 6 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย คอสตาริกา และปานามา
ในปี 2565 จีนนำเข้าสับปะรดสดหรืออบแห้ง (HS Code08043000) น้ำหนัก 208,183 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,192.81 ล้านหยวน โดยมีสับปะรดปินส์ (สับปะรดจากฟิลิปปินส์) ครองสัดส่วนมากถึงร้อยละ 96.49 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของจีน ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสับปะรดจากไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปานามา มีสัดส่วนรวมกันเพียงร้อยละ 3.51 เท่านั้น
สาเหตุที่สับปะรดปินส์ยึดครองสัดส่วนตลาดจีนได้อย่างเหนียวแน่นนั้น มีหลายปัจจัยประกอบกัน คือ
นอกจากนี้ ข้อมูลการวิจัยจาก iResearch ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนําด้านการสํารวจและวิจัยข้อมูลของจีน ได้ระบุผลสํารวจการบริโภคผลไม้ของชาวจีน พบว่าร้อยละ 65.5 ของผู้บริโภคตัดสินใจเลือกแบรนด์ผลไม้ที่น่าเชื่อถือและแบรนด์พรีเมี่ยม นอกจากนี้ ร้อยละ 70 ของผู้บริโภคเห็นว่าผลไม้ที่มีคุณภาพต้องมาจากแหล่งผลิตที่มีคุณภาพ
ยกตัวอย่างกรณีของ Dole แบรนด์ผลไม้รายใหญ่จากฮาวาย ถึงแม้ว่าผลไม้ของ Dole จะมีราคาสูงเมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดเดียวกัน แต่ผู้บริโภคหลายคนยอมจ่ายแพงเพื่อแลกกับคุณภาพและความน่าเชื่อถือของแบรนด์นับเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างจุดเด่น และมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของ Dole ที่แตกต่างเหนือคู่แข่ง ด้วยเหตุนี้ การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับชื่อเสียงและมาตรฐานของแหล่งผลิต จึงเป็นแรงจูงใจที่จะทําให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อผลไม้ ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้กิมมิก “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” หรือ GI (Geographical Indications) ในการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่สินค้าเกษตร และเป็นตัวรับประกันคุณภาพสับปะรดไทยได้เช่นกัน
นอกจากพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนที่พัฒนาขึ้นโดยเน้นเรื่องแบรนด์และคุณภาพแล้ว อีกเทรนด์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดสับปะรดในจีน เป็นเรื่องความชื่นชอบ “สับปะรดสดตัดแต่ง” ปอกเปลือก เก็บตา และบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์พร้อมรับประทาน (Ready to eat) เหมือนอย่างสับปะรดภูแลบ้านเรา
เทรนด์ความนิยมดังกล่าวไม่ได้ “Hot” เฉพาะร้านผลไม้ออฟไลน์เท่านั้น ขณะนี้ “สับปะรดสดพร้อมทาน” กลายเป็นจุดขายของร้านขายผลไม้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ จากการเปิดเผยของแพลตฟอร์มเดลิเวอร์รี Taocaicai ของร้าน FreshHippo (คนจีนเรียกว่า เหอหม่าเซียนเซิง) และแพลตฟอร์มเดลิเวอร์รี่ 100.me (คนจีนเรียกว่า ติงตง หม่ายช่าย) มียอดคำสั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์มจำนวนมาก
ด้านร้านค้าปลีก-ส่ง Sam’s Club ของ Walmart พบว่า มีสถิติการซื้อซ้ำสับปะรด Dole พร้อมทานเป็นจำนวนมากเช่นกัน ทั้งนี้ คุณ Huang Jie ผู้รับผิดชอบงานจัดซื้อผลไม้ประจำภูมิภาคจีนตอนใต้ของบริษัท FreshHippo ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน ยอดขายสับปะรดสดหั่นชิ้นในมณฑลกวางตุ้งกับเขตกว่างซีจ้วงมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 80 และยอดขายยังมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย
ในตอนหน้า ซึ่งเป็นตอนจบ เรามาตามต่อกับ “โอกาสของสับปะรดไทย” แบบล้วงลึก และคำแนะนำจากผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญในตลาดผู้บริโภคชาวจีนโดยตรง
คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต เป็นความร่วมมือระหว่างฐานเศรษฐกิจ กับศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ / ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง