"เกษตรอัจฉริยะ" แห่งมณฑลฝูเจี้ยน: โอกาสความร่วมมือกับไทย (ตอน2)

06 ก.ค. 2566 | 17:05 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2566 | 04:47 น.

ในตอนที่1 เราได้เห็นภาพรวมและนโยบายด้าน“การเกษตรอัจฉริยะ”ที่จีนกำลังผลักดันทั่วประเทศกันไปแล้ว ในตอนจบนี้ เราจะมาเจาะลึกกันต่อถึงพื้นที่ต้นแบบในมณฑลฝูเจี้ยน

 

อุตสาหกรรมการเกษตร ของ มณฑลฝูเจี้ยน ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรทางทะเล เช่น เมืองจางโจว เมืองหนิงเต๋อ และเมืองซานหมิง โดยอุตสาหกรรมการเกษตรของเมืองจางโจวมีมูลค่าการผลิตสูงกว่า 1 แสนล้านหยวน นับว่าสูงเป็นอันดับ 1 ของเมืองในมณฑล และเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อปีสูงเป็นอันดับ 1 ของเมืองในมณฑลฝูเจี้ยน

ขณะที่เมืองหนิงเต๋อ และเมืองซานหมิง ก็มีมูลค่าการผลิตทางการเกษตรสูงกว่า 5 หมื่นล้านหยวนทั้งสองเมือง

เมืองจางโจว เป็นหนึ่งในฐานการส่งออกสินค้าทางการเกษตรแห่งชาติ โดยมีผลผลิตทางการเกษตรที่สร้างรายได้หลัก เช่น ผลไม้และไม้ดอก โดยเฉพาะกล้วยไม้ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกสูงเป็นอันดับ 1 ของมณฑล ขณะที่พืชผักและเห็ด มีปริมาณการผลิตสูงเป็นอันดับ 1 ของมณฑลเช่นกัน

โรงเพาะเห็ดอัจฉริยะควบคุมด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นที่ 500 ไร่ที่อำเภอจางผู่ เมืองจางโจว มณฑลฝูเจี้ยน

ในช่วง  2 – 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจางโจวมุ่งพัฒนาเกษตรอัจฉริยะและเกษตรสีเขียวอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาเกษตรอัจฉริยะควบคู่กับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยร่วมมือกับบริษัท Fujian Lvling Agricultural Technology จำกัด  ผู้วิจัยและพัฒนาโซลาร์เซลล์ ซึ่งติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงเรือนพืชผัก และฟาร์มอัจฉริยะต่าง ๆ รวมทั้งติดตั้งระบบผลิตไฟที่เชื่อมต่อกับกริดแผงพลังแสงอาทิตย์ สำหรับจ่ายไฟให้กับระบบปรับอากาศในโรงเรือนแทนการใช้ไฟฟ้าจากภาครัฐ

ตัวอย่างโครงการสำคัญ เช่น โครงการเกษตรอัจฉริยะโซลาร์เซลล์ บนพื้นที่ 500 ไร่ บนเนินเขาที่อำเภอจางผู่ของเมืองจางโจว  ซึ่งสามารถรองรับแสงแดดเฉลี่ยต่อปีประมาณ 2,220 ชั่วโมง ส่งผลให้ เมืองจางโจวกลายเป็นฐานสาธิตพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเกษตรกรรมที่สำคัญของมณฑลฝูเจี้ยน

เมืองหนิงเต๋อ เป็นหนึ่งในฐานการประมงขนาดใหญ่ของมณฑลฝูเจี้ยน โดยมูลค่าการผลิตสินค้าประมงสูงกว่า  3.43 ล้านหยวนต่อปี คิดเป็นร้อยละ 19.5 ของมูลค่าสินค้าประมงทั้งมณฑล

ปัจจุบัน รัฐบาลหนิงเต๋อให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการประมงอัจฉริยะ โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางทะเล การติดตั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ต 5G ให้ครอบคลุมพื้นที่ทะเลหลายส่วน การสร้างฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการทำประมงนอกชายฝั่งและประมงน้ำลึกอย่างยั่งยืน และครบวงจรด้วยการสร้างระบบสังเกตการณ์ทางทะเลโดยใช้เทคโนโลยี 3 มิติ และดาวเทียม เพื่อเก็บข้อมูลระบบนิเวศสัตว์น้ำ และทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ รวมทั้งการสำรวจทรัพยากร การป้องกันและบรรเทาภัย ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจทางมหาสมุทร 

รัฐบาลหนิงเต๋อให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการประมงอัจฉริยะ

ล่าสุดเมื่อต้นปี 2566 เมืองหนิงเต๋อร่วมมือกับบริษัทหัวเว่ย (Huawei) ในการก่อสร้างสถานีส่งสัญญาณ 5G ทั้งหมด 300 แห่งในพื้นที่ทะเล 50 กิโลเมตร และติดตั้งระบบดาวเทียมเป่ยโต่วบนเรือประมงเพื่อติดตามและตรวจจับการทำงานของเรือประมงนอกชายฝั่งในทุกสภาพอากาศ

นอกจากนี้ รัฐบาลหนิงเต๋อส่งเสริมการทำประมงแบบยั่งยืนและพึ่งพาตนเอง เช่น การปรับระบบการเลี้ยงปลาในกระชังภายใต้หลังคาโซลาร์เซลล์ และการกักเก็บพลังงานลมแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ในฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเลแทนการใช้ไฟฟ้าจากการจ่ายไฟของภาครัฐ

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มณฑลฝูเจี้ยนได้มุ่งส่งเสริมความร่วมมือด้านเกษตรอัจฉริยะกับต่างประเทศ หนึ่งตัวอย่างความร่วมมือที่น่าสนใจ คือ ความร่วมมือระหว่างศูนย์เกษตรดิจิทัล สถาบันวิทยาศาสตร์และการเกษตรมณฑลฝูเจี้ยน กับหน่วยงานด้านการเกษตรของอิสราเอล เพื่อก่อสร้างฟาร์มสาธิตอัจฉริยะ  5G จีน-อิสราเอลที่นครฝูโจว ซึ่งเป็นฟาร์มอัจฉริยะที่มีเครือข่าย 5G ครอบคลุมครบวงจรแห่งแรกของมณฑล มีการใช้หุ่นยนต์ AI “เสี่ยวรุ่ย” ในการทำงานภายในฟาร์มตั้งแต่การตรวจสอบสภาพภายในโรงเรือน ตรวจจับโรคในพืชก่อนการแพร่ระบาด และสามารถรายงานความผิดปกติของสภาพแวดล้อมภายในฟาร์มแบบ real-time

มีการใช้หุ่นยนต์ AI ในการทำงานภายในฟาร์ม ช่วยงานเกษตรกรในหลายด้าน

นอกจากนั้น มณฑลฝูเจี้ยนยังเป็นที่ตั้งของสถานศึกษาชั้นนำของจีนด้านการเกษตรอย่างมหาวิทยาลัย Fujian  Agriculture and Forestry ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการเกษตร เช่น หุ่นยนต์ AI เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ด้านการเกษตรโดยใช้ Big Data และ IoT และ เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ด้านการเกษตรและประมงเพื่อตรวจสอบอุณหภูมิความชื้น ความเข้มของแสง เสียงรบกวน รวมถึงการวัดปริมาณออกซิเจน ค่า pH และระดับน้ำสำหรับการทำประมงอัจฉริยะ

โอกาสของผู้ประกอบการไทย

ไทยสามารถถอดบทเรียนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของจีนและมณฑลฝูเจี้ยน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาภาคเกษตรของไทย และส่งเสริมหุ้นส่วนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันวิจัยระหว่างไทย - จีน ตลอดจนการต่อยอดและใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในเชิงพาณิชย์

ขณะเดียวกัน ในภาคการลงทุน ไทยต้องเร่งชักจูงการลงทุนจากวิสาหกิจจีนที่มีศักยภาพด้านการสร้างระบบบริการเทคโนโลยีการเกษตรที่ล้ำสมัย เครื่องจักรและอุปกรณ์ทางการเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งความร่วมมือในการฝึกอบรมทักษะการใช้เทคโนโลยีการเกษตร ตลอดจนเทคโนโลยีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานการเกษตรของไทยเพื่อสามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต เป็นความร่วมมือระหว่างฐานเศรษฐกิจกับศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ / ข้อมูลจากสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน