จับเทรนด์ "สับปะรดฟีเวอร์" ในจีน และโอกาสของสับปะรดไทย (2)

28 ม.ค. 2567 | 17:10 น.

จากตอนที่ 1 ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ได้กล่าวถึงเทรนด์บริโภคสับปะรดของชาวจีนไปแล้ว และในตอนที่ 2 นี้ ซึ่งเป็นตอนจบของบทความ เราจะพาผู้อ่านมาเจาะลึกพฤติกรรมการบริโภคสับปะรดของชาวจีน และ "โอกาส" ของสับปะรดไทยกัน

 

ในรายงานผลการสำรวจ ความพึงพอใจของตลาดสับปะรด ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า หรือ GBA ระบุปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อ การตัดสินใจซื้อสับปะรด ว่า ผู้บริโภคร้อยละ 44.4 ชอบความหวาน ร้อยละ 39.1 ชอบความเปรี้ยวอมหวาน และร้อยละ 37.1 ชอบกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของสับปะรด และมีเพียงร้อยละ 9.3 ที่คำนึงถึงเรื่องราคา สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยร่วมที่ใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อ

หากจำแนกตามเพศพบว่า ผู้บริโภคเพศหญิงร้อยละ 50 ตัดสินใจซื้อสับปะรดที่มีรสชาติหวาน และผู้บริโภคเพศหญิงให้ความสำคัญกับแบรนด์/แหล่งกำเนิดของสับปะรดค่อนข้างมาก ขณะที่ผู้บริโภคเพศชายร้อยละ 47.3 ตัดสินใจซื้อสับปะรดเพราะกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของสับปะรดเป็นหลัก

หากจำแนกตามอายุพบว่า ผู้บริโภคที่อายุต่ำกว่า 45 ปี ตัดสินใจซื้อสับปะรดเพราะนำไปประกอบอาหารคาวหวานได้หลากหลายชนิด ราคาเอื้อมถึงได้ รวมถึงคุณสมบัติช่วยย่อยของสับปะรด ขณะที่ผู้บริโภคที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปตัดสินใจซื้อเพราะความหวาน

“ผู้บริโภคในช่วงอายุ 31-45 ปี และอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของการขายสับปะรด ขณะที่ผู้บริโภคใน 2 ช่วงอายุ (อายุไม่เกิน 30 ปี และอายุตั้งแต่ 46-60 ปี) มีความ ‘เรื่องมาก’ ในการตัดสินใจซื้อสับปะรดมากกว่า ด้วยเหตุผลทั้งในเรื่องรสชาติและราคา”

จีนเป็นตลาดใหญ่ที่นิยมบริโภคสับปะรดแบบรับประทานผลสด

 

ที่น่าสนใจคือ นอกจากเหตุผลที่สับปะรดมีรสชาติเปรี้ยวกินแล้วคันปาก พบว่า “เปลือกปอกยาก” เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคไม่ซื้อสับปะรด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคเพศชาย และน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้สับปะรดสดตัดแต่งพร้อมทานได้ ‘แจ้งเกิด’ ในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน โดยเฉพาะสับปะรดสดขนาดกลางถึงขนาดเล็ก

“สับปะรดไทย” ตอบโจทย์ตลาดจีนมากน้อยแค่ไหน

ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ถือเป็นตลาดหลักของสับปะรดไทย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้ ส่งผลให้การนำเข้าสับปะรดไทยไปยังตลาดดังกล่าวมีแนวโน้มชะลอตัวลง ขณะที่ตลาดจีนมีแนวโน้มความต้องการบริโภคสับปะรดเพิ่มมากขึ้น

ในสายตาของผู้บริโภคชาวจีนมองว่า สับปะรดทานสดของไทยมีขนาดผลที่ใหญ่และรสชาติหวานกรอบ โดยเฉพาะ “สับปะรดภูแล” ที่เริ่มดังขึ้นจากเหล่าบรรดานักท่องเที่ยวจีนที่เคยเดินทางมาท่องเที่ยวไทย

ต้องบอกว่า ก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่กระแสท่องเที่ยวไทยกำลังบูม เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมเส้นทางสับปะรดไทยที่กำลังไปได้สวยในตลาดจีน ระหว่างปี 2559-2562 ภาพรวมการนำเข้าสับปะรดไทยของจีนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตลาดที่มีศักยภาพส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันตกและภาคกลางตอนล่างของจีน

นับตั้งแต่ปี 2561 “มณฑลยูนนาน” นั่งเก้าอี้ผู้นำเข้าสับปะรดไทยเบอร์ 1 มาโดยตลอด แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ปริมาณการนำเข้าต่อทั้งประเทศมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 85.86 ในปี 2562 เหลือร้อยละ 62.81 ในปี 2565 โดยตลาดรองที่มีศักยภาพในการนำเข้าสับปะรดไทย ได้แก่ มณฑลหูหนาน นครฉงชิ่ง มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลซานตง

ผู้บริโภคชาวจีนนิยมสับปะรดตัดแต่ง พร้อมรับประทาน

สำหรับปี 2566 ที่รัฐบาลจีนได้ปลดล็อคมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสับปะรดไทยระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2566 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.66 (YoY) ปริมาณการนำเข้า 5.445 ตัน คิดเป็นมูลค่านำเข้า 53.39 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.76 (YoY) เนื่องจากราคานำเข้าเฉลี่ยต่อกิโลกรัมปรับตัวสูงขึ้น (จากเดิมกิโลกรัมละ 8.05 หยวน ในไตรมาส 3/2565 เป็นกิโลกรัมละ 9.81 หยวน ในไตรมาส 3/2566) โดยมณฑลยูนนานครองสัดส่วนร้อยละ 69.22 ของปริมาณนำเข้าจากไทย ตามด้วยมณฑลหูหนานร้อยละ 16.18 และมณฑลเจ้อเจียงร้อยละ 9.44

โอกาสของสับปะรดภูแล 

เมื่อพูดถึง “สับปะรดภูแล” แล้ว BIC ขอถือโอกาสหยิบยกประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาสักเล็กน้อย จากกรณีที่สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทยได้แจ้งข่าวช็อกวงการผลไม้ส่งออกว่า “สับปะรดภูแล” ถูกทางการจีนห้ามนำเข้า

ในเวลาต่อมา ได้มีคำชี้แจงข้อเท็จจริงจากอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวให้ทราบว่า ปัจจุบัน จีนยังไม่อนุญาตให้นำเข้า “ผลไม้ตัดแต่ง” ทุกชนิดจากไทย ซึ่งหมายความว่า “สับปะรดภูแลตัดแต่ง” (ปอกเปลือกแล้ว) ยังไม่สามารถส่งออกไปจีนได้ (สับปะรดตัดแต่งไม่ได้จัดอยู่ในประเภท “ผลไม้สด” จึงไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อผลไม้สดในการนำเข้าไปในประเทศจีน) แต่หากเป็นการส่งออกสับปะรดสดทั้งผล (ไม่ตัดแต่ง) สามารถทำได้ตามปกติเช่นเดียวกับผลไม้สดอีก 21 ชนิด ที่จีนอนุญาตให้กับผลไม้สดจากไทย

ตามรายงาน กรมวิชาการเกษตรได้มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานศุลกากรของประเทศจีนหรือ GACC (General Administration of Customs of the People’s Republic of China) เพื่อขอให้จีนเปิดตลาดส่งออกผลไม้สดตัดแต่งและผลไม้แช่แข็งของไทย เช่น สัปปะรด และทุเรียนสดตัดแต่ง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่และเพิ่มมูลค่าการส่งออกผลไม้ให้แก่ผู้ส่งออกไทย

จับเทรนด์ \"สับปะรดฟีเวอร์\" ในจีน และโอกาสของสับปะรดไทย (2)

คุณ Wu Jianlian ประธานสมาคมสับปะรดอำเภอสวีเหวิน (เมืองจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้ง) ให้ข้อมูลว่า วัยรุ่นยุค 90’s เป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักที่ชื่นชอบสับปะรดจิ๋วของไทย (น่าจะหมายถึงสับปะรดภูแล) โดยสับปะรดจิ๋วของไทยน้ำหนักลังละ 8 กิโลกรัม ขายอยู่ที่ 300-400 หยวน แถมยังขาดตลาดเป็นบางช่วง

ทั้งนี้ คุณ Wu เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบกับสับปะรดภูแลแล้ว สับปะรดจิ๋วของอำเภอสวีเหวินแข่งขันได้ เพราะมีความได้เปรียบเรื่องห่วงโซ่โลจิสติกส์ (ระยะทางการขนส่งจากแหล่งผลิตถึงมือผู้บริโภค) ไม่จำเป็นต้องใช้กระบวนการรักษาความสดมากจนเกินไป ต้นทุนต่ำ สับปะรดยังคงรสชาติความสดใหม่แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ในจีน คือ สายการผลิตและแปรรูปสับปะรดด้วยเครื่องจักรที่มีความทันสมัย

จากรายงานข่าวจีน BIC พบว่า ชาวจีนบางส่วนยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับ “สับปะรดจิ๋ว” กล่าวคือ ในความเข้าใจของชาวจีน “สับปะรดจิ๋ว” เป็น ‘สับปะรดตกเกรด’ ที่ขายไม่ได้ราคา ซึ่งหลังจากที่ “สับปะรดตัดแต่ง” ติดลมบนช่วยให้ราคารับซื้อหน้าสวนได้ราคาดีกว่าสับปะรดผลโต โดยราคาถีบตัวสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 0.8 หยวน เป็น 2.4-3.4 หยวน

ด้วยเหตุนี้ จึงยังมี “ช่องว่าง” ที่ประเทศไทยจะสามารถประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจและ “สร้างความต่าง” ระหว่างสับปะรดจิ๋วของจีนกับ “สับปะรดภูแลไทย”

ขณะเดียวกัน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องของไทย จำเป็นต้องเร่งพัฒนาและเพิ่มมูลค่าการส่งออกอาหารและผลไม้ไทยด้วย “นวัตกรรม” โดยใช้จุดแข็งที่ไทยเป็นหนึ่งใน “ครัวโลก” โดยมุ่งตอบสนองไลฟ์สไตล์การบริโภคที่หลากหลายของชาวจีน เช่น

  • การเพิ่มจุดขายด้วยเรื่องราว (story telling) หรือประสบการณ์แปลกใหม่
  • การใช้นวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าแต่ยังคงเอกลักษณ์เดิมไว้ โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านการขนส่งโลจิสติกส์ บรรจุภัณฑ์ที่ช่วยให้ผลไม้สดของไทยยังคงมาตรฐานและคุณภาพที่ยอดเยี่ยม
  • การหาช่องทางสื่อสารหรือบอกเล่านานาสาระเพื่อสร้างการรับรู้เพิ่มเติมไปสู่ผู้บริโภคชาวจีนถึงเสน่ห์ของ “ผลไม้ไทย” ผ่านการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย

ทั้งนี้ นอกจากสับปะรดผลสดแล้ว สับปะรดแปรรูปอย่าง “สับปะรดกระป๋อง” ถือเป็นสินค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการทำตลาดรองอย่างประเทศจีน (ตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และเยอรมนี) ในปี 2565 ประเทศไทยยืนหนึ่ง ในวงการส่งออกสับปะรดกระป๋องด้วยสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 36.4 ของโลก ในประเทศที่มีฐานประชากรและเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกอย่างจีนน่าจะเป็นตลาดเป้าหมาย(ใหม่) สำหรับธุรกิจส่งออก “สับปะรดกระป๋อง” ของไทยได้ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหลักอย่างธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มชาแนวใหม่ในจีนที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต เป็นความร่วมมือระหว่างฐานเศรษฐกิจ กับศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ / ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง