"ผู้นำสิงคโปร์" ที่คนไทย "ต้องรู้เขา ต้องรู้เรา"

29 ม.ค. 2567 | 04:00 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ม.ค. 2567 | 04:05 น.

สิงคโปร์มียุทธศาสตร์ชาติ ที่ "เอาจริงเอาจัง" ไม่ทำอะไรแบบขอไปที มองไกล ไม่มองใกล้ วางแผนปฏิบัติการต่อเนื่อง การวางตัว “ผู้นำ”อย่างมียุทธศาสตร์ ทำให้สิงคโปร์สามารถ "ก้าวกระโดด" สู่ประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมมูลค่าสูง และเป็นกรณีศึกษาที่น่าเรียนรู้แบบ “รู้เขา รู้เรา”

 

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขียนบทความ "ผู้นำสิงคโปร์" ที่คนไทย "ต้องรู้เขา ต้องรู้เรา" ผ่านทางเพจ เฟซบุ๊ก เอ้ สุชัชวีร์ วันนี้ (29 ม.ค.) ไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุ การ "จับจังหวะย่างก้าว" ของสิงคโปร์ มีประโยชน์มหาศาลกับผลประโยชน์ของชาติไทย พร้อมหยอดคำถาม “การดูการบ้านของคนเก่ง ย่อมพัฒนาต่อยอด ได้ดียิ่งกว่า จริงไหมครับ

และต่อไปนี้เป็นเนื้อหาบทความ "ผู้นำสิงคโปร์" ที่คนไทย "ต้องรู้เขา ต้องรู้เรา" โดย “ดรเอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์...

ไม่น่าเชื่อ  มีข่าวในประเทศไทยน้อยมาก ที่นำเสนอเรื่องการถ่ายโอนอำนาจจากนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ส่งต่อไปยัง รองนายกรัฐมนตรี ลอว์เรนซ์ หว่อง ทั้งที่เป็นเรื่องที่ผู้นำไทย และคนไทย จำเป็นต้องจับตามอง อย่างตาไม่กระพริบ!

ทำไม การเมืองสิงคโปร์ ถึงมีผลกับประเทศไทย

ตอบ : มีผลมาก ทั้งทางตรง และทางอ้อม

ทางตรง เพราะเป็นหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศคู่ค้า และมิตรประเทศของไทยในภูมิภาคอาเซียน

ทางอ้อม เพราะสิงคโปร์มียุทธศาสตร์ชาติ ที่ "เอาจริงเอาจัง" ไม่ทำอะไรแบบขอไปที มองไกล ไม่มองใกล้ วางแผนปฏิบัติการต่อเนื่อง การ "จับจังหวะย่างก้าว" ของสิงคโปร์ มีประโยชน์มหาศาลกับผลประโยชน์ ของชาติไทย

เพราะ การดูการบ้านของคนเก่ง ย่อมพัฒนาต่อยอด ได้ดียิ่งกว่า จริงไหมครับ

สิงค์โปร์มีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 3 คน หรือ 3 เจนเนอเรชั่น

  1. ลี กวน ยู
  2. โก๊ะ จ๊ก ตง
  3. ลี เซียน ลุง

และกำลังส่งมอบสู่ ผู้นำเจนต่อไป

  4. ลอว์เรนซ์ หว่อง

ยุทธศาสตร์การสร้างชาติของสิงคโปร์ ไม่ได้ซับซ้อน เพียงแต่ "เป้าหมายชัด เชื่อมั่น มุ่งมั่น" ลุยทำต่อเนื่อง

นายลี กวน ยู ผู้นำเจนแรก (คนขวา) และนาย โก๊ะ จ๊ก ตง ผู้นำเจนสอง

เจนแรก นายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู ทำหน้าที่ "วางโครงสร้าง" จากประเทศไร้ทรัพยากร สร้างตัวตนจาก "ยุทธศาสตร์พื้นที่" สร้างท่าเรือ สร้างสนามบินระดับโลก และ "พัฒนาทรัพยากรมนุษย์" ปฏิรูปการศึกษาอย่างเข้มข้น เพราะเป็นทางเลือกหนึ่งเดียว เพื่อ "ความอยู่รอด" ของชนชาติ

เจนสอง นายกรัฐมนตรี โก๊ะ จ๊ก ตง "สืบสาน" ยุทธศาสตร์เดิม โดยเพิ่มเรื่องบทบาท "การต่างประเทศ" เราจะเห็นท่านเยือนต่างประเทศ เชื่อมความสัมพันธ์กับชาติอาหรับที่มั่งคั่ง และสร้างความเป็นผู้นำอาเซียน เพื่อชิง "พื้นที่อิทธิพลในโลก" ทำให้สิงคโปร์มีอำนาจต่อรองทางการเมือง และเศรษฐกิจ จนเป็นศูนย์กลางด้านการเงินของโลก

เจนสาม นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง บุตรชายคนโต ของท่านลี กวน ยู ก้าวขึ้นนำประเทศ ด้วยปริญญาตรีด้านคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทำให้มองอนาคต ด้วยวิสัยทัศน์สร้างชาติด้วย "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" อย่างเข้มข้น

จุดนี้เอง ทำให้สิงคโปร์สามารถ "ก้าวกระโดด" สู่ประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมมูลค่าสูง นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง เริ่มต้นจาก "การยกระดับการศึกษาและวิจัย" ผลักดันให้ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore, NUS) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ( Nanyang Technological University, NTU) จากมหาวิทยาลัยธรรมดา จนเป็นมหาวิทยาลัยท็อปเทน ของโลก ดึงดูดนักวิจัยหัวกระทิของโลก เข้ามาร่วมพัฒนาชาติสิงค์โปร์

ยิ่งไปกว่านั้น ลี เซียน ลุง สร้างประวัติศาสตร์ ตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและการออกแบบแห่งสิงคโปร์ (Singapore University of Technology and Design, SUTD) ร่วมกับเอ็มไอที มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก เพื่อเป็น "เรือธง" สร้างคนรุ่นใหม่อัจริยะ ออกมานวัตกรรมให้สิงคโปร์

ด้วยวิสัยทัศน์นี้ สิงค์โปร์จึงกลายมาเป็นผู้นำของโลก

  1. ด้านเมืองอัจฉริยะ
  2. ด้านอากาศยานและอวกาศ
  3. ด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ และยารักษาโรค
  4. ด้านยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีความมั่นคง
  5. ด้านการบริหารทรัพยากรน้ำ และป้องกันภัยพิบัติ
  6. ด้านปัญญาประดิษฐ์ AI

และอีกหลายสาขาแห่งโลกอนาคต

ด้วยความมุ่งมั่น กล้าเปลี่ยน จาก "ประเทศผู้นำการให้บริการทางเศรษฐกิจและการเงิน" สู่ "ประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม" ที่มีคุณค่าสูง ยั่งยืนกว่า

นายลี เซียน ลุง (ซ้าย) กำลังส่งมอบไม้ต่อการบริหารประเทศให้กับนายลอว์เรนซ์ หว่อง ผู้นำเจนสี่ (ขอบคุณภาพจาก CNA)

ความสำเร็จตลอดร่วม 20 ปี ที่นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง ได้ทุ่มเท เสียสละ ออกดอกผล ก็ถึงเวลา "ส่งงานต่อ" โดย "ไม่ยึดติดกับอำนาจ" ให้คนเจนสี่ ลอว์เรนซ์ หว่อง อย่างไม่ลังเล ทั้งๆที่ ยังไม่มีเลือกตั้งใหญ่

เหตุผล คือ ต้องการให้ผู้นำเจนสี่ นำวิสัยทัศน์และนโยบายของตน ให้ประชาชนสิงค์โปร์ได้ตัดสินใจเลือก และต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ตนได้ให้สัญญาประชาคม

ผมชมคลิปที่ นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง น้ำตาซึม ร้องไห้ขณะอำลาในการประชุมใหญ่ของพรรคกิจประชาชน (People's Action Party, PAP) กล่าวขอบคุณที่ให้โอกาสท่าน "รับใช้ประเทศชาติ" ทำให้ผมศรัทธาในความเป็น "รัฐบุรุษ" คือ "เกิดเป็นคน ต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน" ชาติและประชาขน ยิ่งใหญ่ตนเอง

จากนี้ไป สิงค์โปร์กำลังเข้าสู่ยุค "ทีม 4G" ชื่อที่ผู้สื่อข่าวตั้งให้ ทีมผู้บริหารรุ่นที่ 4

ประเทศกำลังจะนำโดย ลอว์เรนซ์ หว่อง นักบริหารวัย 51 ปี ผู้มากประสบการณ์ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ท่านจะมีวิสัยทัศน์อย่างไร อะไรคือเป้าหมาย จะนำสิงคโปร์ ไปทิศทางใด ผมจะมาแชร์ในตอนต่อไปครับ ห้ามพลาด