ไทยเสนอ 3 วาระสำคัญความร่วมมือ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์อียู-อาเซียน"

04 ก.พ. 2567 | 19:00 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.พ. 2567 | 23:13 น.

รองนายกฯ ปานปรีย์ ร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหภาพยุโรป ครั้งที่ 24 ณ กรุงบรัสเซลส์ นำเสนอการดำเนินความร่วมมือของไทยและอาเซียนกับอียูในฐานะ "หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์" ใน 3 ประเด็นสำคัญ พร้อมขอชาติสมาชิกอียูสนับสนุน "ฟรีวีซ่าเชงเก้น" เข้ายุโรปสำหรับคนไทย

 

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วม การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหภาพยุโรป (อียู) (ASEAN-EU Ministerial Meeting – AEMM) ครั้งที่ 24 ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2567 ตามเวลาท้องถิ่น โดยที่ประชุมได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อน ความร่วมมือระหว่างอาเซียนและอียู ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยส่งเสริมการหารือและบรรยากาศของความร่วมมือ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองภูมิภาค และของโลก

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับรอง แถลงการณ์ร่วมอาเซียน-อียู เพื่อเน้นย้ำเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์อาเซียน-อียูต่อไปในอนาคต

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหภาพยุโรป (AEMM) ครั้งที่ 24

นายโฮเซป บอร์เรลล์ ฟอนเตเยส (คนกลาง แถวหน้า) ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรป (อียู) ด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป

ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้เน้นย้ำการดำเนินความร่วมมือของไทยและอาเซียนกับอียู ในฐานะ หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

  1. สนับสนุนให้อียูมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนสันติภาพในภูมิภาคท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเน้นการส่งเสริมการเจรจาที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและส่งเสริมบรรยากาศของความร่วมมือในภูมิภาค เพื่อให้อินโด-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีเสถียรภาพ
  2. ส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน การขนส่ง เทคโนโลยีดิจิทัล และห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียูที่มีคุณภาพและครอบคลุม รวมถึง FTA อาเซียน-อียูในอนาคตด้วย
  3. ผลักดันความร่วมมือวาระความยั่งยืนให้เป็นส่วนสำคัญของความสัมพันธ์อาเซียน-อียู เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและบรรลุ SDGs โดยไทยในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนเพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจะขับเคลื่อนความร่วมมือในเรื่องนี้ต่อไป รวมทั้งใช้ประโยชน์จากศูนย์ ACSDSD ในกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ นายปานปรีย์ได้แจ้งต่อที่ประชุมเกี่ยวกับข้อริเริ่มด้านความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในเมียนมา และขอให้อียูสนับสนุนไทยในเรื่องนี้ ซึ่งจะเป็นก้าวแรกไปสู่การหารือและการปฏิสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ในเมียนมาและระหว่างเมียนมากับประชาคมโลกต่อไป

การประชุม AEMM ครั้งที่ 24 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม (2 ก.พ. 2567)

ทั้งนี้ การประชุม AEMM ครั้งที่ 24 เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศ รวมทั้งเลขาธิการอาเซียน และผู้แทนระดับสูงของอียูด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (HR/VP) เข้าร่วมประชุม

ในวันเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรีฯ ยังได้พบหารือทวิภาคีกับนาง Hanke Bruins Slot รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ และนาย Péter Szijjártó รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าฮังการี เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทย-เนเธอร์แลนด์ และไทย-ฮังการี รวมทั้งขอรับการสนับสนุนจากทั้งสองประเทศซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอียูสำหรับการเจรจา FTA ไทย-อียู

นอกจากนี้ ไทยยังขอความสนับสนุนจากเนเธอร์แลนด์และฮังการี ในการขอยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเก้น (ฟรีวีซ่าเชงเก้น) ให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทย รวมทั้งขอให้สนับสนุนไทยในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) วาระปี ค.ศ.2025-2027 และการสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ของไทยด้วย