วันนี้ (31 มกราคม 2567) ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยในงานสัมมนา “Geopolitics 2024 : จุดปะทุสงครามใหญ่ พลิกวิกฤติโลก สู่โอกาสประเทศไทย” ว่า ในการเดินทางเข้าร่วมประชุม World Economic Forum ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส เมื่อสัปดาห์ก่อน สะท้อนว่า โลกในปัจจุบันประสบปัญหาการขาดความไว้เนื้อเชื่อใจอย่างมาก โดยเฉพาะความท้าทายที่เกิดขึ้นจากภูมิรัฐศาสตร์
ขณะที่สถานการณ์โลกก็ยังมีความเปราะบางและคาดเดายาก เช่นเดียวกับมีความผันผวนและแตกแยกของโลกในทุกมิติจะยังคงอยู่และยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้นด้วย
ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้เห็นเหตุการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธในหลายจุดทั่วโลก เช่น สถานการณ์สู้รบในยูเครนที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี หรือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส สู่การโจมตีเรือพาณิชย์จนส่งผลต่อการเดินเรือและการค้าของโลก
สำหรับการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เป็นผลมาจากการแข่งขันของมหาชาติอำนาจยังเป็นฉากทัศน์สำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก ซึ่งความไม่แน่นอนของภูมิรัฐศาสตร์จะส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่อย่างน้อยเป็นที่น่ายินดีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐ เริ่มมีพัฒนาการเชิงบวกมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น กรณีการหารือร่วมกันของประธานาธิบดี โจ ไบเดน และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เมื่อปลายปีก่อน ช่วยผ่อนคลายบรรยากาศความตึงเครียดของชาติมหาอำนาจลง และไทยก็ยินดีกับการเป็นที่พบปะหารือระหว่างนายหวัง อี้ กรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน และ นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ ที่กรุงเทพฯ
ดร.ปานปรีย์ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในช่วงปลายปี 2567 นี้ ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์ของโลกอย่างแน่นอน ถ้านายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ก็คาดว่าน่าจะเปลี่ยนแปลงทิศทางความสัมพันธ์ของชาติมหาอำนาจทั้งจีน และสหรัฐ และต่อโลกในวงกว้างอย่างแน่นอน
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2567 นี้ มองว่า ยังคงประเมินได้ยาก เพราะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะปัจจัยต่าง ๆ ทางภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายของชาติมหาอำนาจ สถานการณ์ในจุดเปราะบาง การแข่งขันทางภูมิเทคโนโลยี การชะลอตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น จีน และยุโรป รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศก็ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยด้วย
อีกทั้งยังมีปัจจุบันเสี่ยงเรื่องของความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI แม้ว่า AI จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดได้ แต่ก็มีความเสี่ยงเรื่องผลกระทบต่อการจ้างงาน และการใช้ AI แทรกแซงการเลือกตั้ง และการเผยแพร่ข่าวปลอม ดังนั้นธรรมาภิบาลในการกำกับดูแล AI จึงมีความสำคัญ และไทยต้องมีความพร้อมเหมือนที่หลาย ๆ ประเทศดำเนินการไปแล้ว
อย่างไรก็ตามในการปรับตัวและโอกาสของประเทศไทยเองนั้น มองว่า ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีเวลาแล้ว หลังจากติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางมายาวนาน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่ปีที่ผ่านมา GDP ของไทยขยายตัวได้ต่ำ ดังนั้นจึงไม่สามารถพึ่งพาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจแบบเดิม ๆ ได้เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องพลิกฟื้นและปฏิรูป ทั้งการต่างประเทศ และเศรษฐกิจไทยให้สามารถคว้าโอกาสจากบริบททางภูมิรัฐศาสตร์ได้ทัน
“โลกกำลังมองอาเซียนมีศักยภาพ ทั้งในแง่ปัจจัยทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ จึงควรมองให้ยาว และคว้าโอกาสนี้ เพื่อดึงดูดการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยให้ได้ เพื่อต่อยอดเศรษฐกิจให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลายและความท้าทายในอนาคต ซึ่งการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศมีบทบาทสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ตามนโยบายของรัฐบาล” ดร.ปานปรีย์ ระบุ
ดร.ปานปรีย์ กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลกำลังเร่งเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ และเร่งดึงดูดการลงทุน โดยผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ และเร่งรัดเศรษฐกิจสีเขียวในภาคพลังงาน รวมทั้งเร่งรัดการเจรจาการค้า หรือ FTA ที่มีมาตรฐานสูง โดยเฉพาะ FTA ไทย-ยุโรป และเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจในระยะยาว และอำนวยความสะดวกนักลงทุน
ส่วนทิศทางการดำเนินนโยบายทางการทูตของไทย เพื่อคว้าโอกาสในโลกที่มีความผันผวนและมีความท้าทายได้นั้น เห็นว่า จะต้องดำเนินการผ่านการทูตเชิงรุก ช่วยเพิ่มน้ำหนัก ความชัดเจน และความน่าสนใจ ให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่จอเรดาร์ของโลก วางจุดยืนของประเทศ ผ่านการรักษาความเป็นมิตรและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกขั้วและประเทศ เป็นไปอย่างสมดุล และหลีกเลี่ยงการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการขัดแย้ง เพื่อให้ไทยเป็นพื้นที่ที่ทุกฝ่ายสบายใจเข้ามาลงทุน
นอกจากนี้ในประเด็นเรื่องปัญหาภายในของประเทศเมียนมา รองนายกฯ ระบุว่า ได้ส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรง รวมทั้งความมั่นคงทางเศรษฐกิจของภูมิภาคด้วย ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนเมียนมาในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองโดยสันติวิธี เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และจะร่วมมือกับอาเซียนกับใกล้ชิด เช่น การผลักดันการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับประชาชนที่เมียนมาอย่างไม่เลือกปฏิบัติ
“ปี 2567 โลกยังคงเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ความผันผวน และความท้าทาย แต่ภายใต้บริบทนั้นก็เต็มไปด้วยโอกาสที่เราสามารถตักตวงได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะดำเนินนโยบายของเราไปในทิศทางใด และถูกจังหวะเวลาหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเราเสียเวลาและโอกาสไปมากแล้ว วันนี้การต่างประเทศไทยจึงต้องมีน้ำหนัก สอดประสาน มีความชัดเจนในประเทศ ต้องมีความคล่องตัวเชิงรุก มองไปข้างหน้า เพื่อคว้าโอกาสทางเศรษฐกิจจากบริบทโลกที่ผันผวนอย่างเต็มที่” รองนายกฯ กล่าวทิ้งท้าย