นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงในช่วงการประชุมโต๊ะกลมในหัวข้อ “ความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคง (Geopolitical and Security Challenges)” ในห้วง การประชุมรัฐมนตรีอินโด-แปซิฟิก (EU Indo-Pacific Ministerial Forum – IPMF) ครั้งที่ 3 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ตามเวลาท้องถิ่น
รองนายกฯ เน้นความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ของ ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีบทบาทในการกำหนดระเบียบโลกใหม่และขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคงเช่นกัน ซึ่งไทยเชื่อมั่นในระบบหลายขั้วอำนาจและบทบาทของอาเซียนในการสร้างสมดุลระหว่างมหาอำนาจตามมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิกของอียู โดยอียูสามารถมีบทบาทในการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับไทยและอาเซียน
นอกจากนี้ รองนายกฯ ยังได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของไทยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวเมียนมาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อให้สันติภาพ เสถียรภาพ และความเป็นเอกภาพกลับคืนสู่เมียนมา
ในการประชุมรัฐมนตรีอินโด-แปซิฟิก (IPMF) ครั้งที่ 3 นี้ มีนายโฮเซป บอร์เรลล์ ฟอนเตเยส ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรป (อียู) ด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เป็นประธานการประชุมเต็มคณะ
ที่ประชุมได้หารือแนวทางการส่งเสริมและขยายความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอียูและภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ในวันเดียวกัน (2 ก.พ.) ยังมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหภาพยุโรป (อียู) หรือ ASEAN-EU Ministerial Meeting (AEMM) ครั้งที่ 24 ด้วย
สำหรับ การประชุม IPMF ครั้งที่ 3 นั้น เป็นเวทีการหารือระดับสูงระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอียู 27 ประเทศ และรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา ภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ ตลอดจนผู้แทนองค์การระหว่างประเทศระดับภูมิภาคและหุ้นส่วนอื่น ๆ ในอินโด-แปซิฟิก อาทิ สมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (IORA) และองค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก (PIF) ซึ่งคาดว่าจะมีประเทศที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้กว่า 80 ประเทศ/องค์กร
ส่วน การประชุม AEMM ครั้งที่ 24 เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศ รวมทั้งผู้แทนระดับสูงของอียูด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (HR/VP)
โดยการประชุม AEMM จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี เพื่อหารือและติดตามการดำเนินความสัมพันธ์ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างอาเซียนกับอียูในทุกมิติ
ทั้งนี้ การประชุม AEMM ครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 โดยผลลัพธ์ที่สำคัญคือการปรับความสัมพันธ์อาเซียน-อียูเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์
การเข้าร่วมการประชุม IPMF ครั้งที่ 3 และ AEMM ครั้งที่ 24 ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเป็นโอกาสในการหารือและพิจารณาทิศทางการดำเนินความร่วมมือของไทยและอาเซียนกับอียู ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เพื่อรับมือกับความท้าทาย ทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความมั่นคงระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นเศรษฐกิจดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านสีเขียว และการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน