คณะของสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมตรีกัมพูชา ซึ่ง เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ วันนี้ (7 ก.พ.) ตามคำเชิญของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีที่เดินทางเยือนกัมพูชาเป็นประเทศแรกในอาเซียนหลังเข้ารับตำแหน่งในปี 2566 ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายรัฐบาล อาทิ นาย สก เจนดา โซเฟีย รัฐมนตรีต่างประเทศ และซุน จันทอล รองประธานคนแรกของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) พร้อมด้วยผู้นำภาคธุรกิจเอกชนอีกนับร้อยรายจากหอการค้ากัมพูชา (CCC) เป้าหมายเพื่อหารือเพิ่มความร่วมมือกับไทยทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี
กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของกัมพูชาแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ (5 ก.พ.) ระบุว่า ในระหว่างการเยือนไทยครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกของเขาหลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในเดือนสิงหาคม 2566 ฮุน มาแนต และภริยา จะได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และเข้าเยี่ยมคารวะผู้นำรัฐสภาไทยซึ่งรวมถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร
แถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาระบุ นอกจากการหารือความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคีกับฝ่ายไทยในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายแล้ว ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังจะเป็นประธานร่วมในพิธีลงนามเอกสารสำคัญหลายฉบับ จากนั้นช่วงเย็น ผู้นำกัมพูชาจะกล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมธุรกิจไทย-กัมพูชา Thailand-Cambodia Business Forum 2024
เพ็ญ โบนา (Pen Bona) โฆษกรัฐบาลกัมพูชา กล่าวกับสื่อท้องถิ่น The Phnom Penh Post ถึงความสำคัญของการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย ย้อนไปถึงยุคสมัยที่สมเด็จฮุน เซน (บิดาของนายกฯฮุน มาแนต) เป็นผู้นำรัฐบาลกัมพูชา “เขาคือผู้เปลี่ยนพื้นที่ชายแดนของทั้งสองราชอาณาจักรให้เป็นพื้นที่แห่งมิตรภาพ สันติภาพ ความร่วมมือ และการพัฒนา ส่งเสริมการไปมาหาสู่ของประชาชน การท่องเที่ยว และการค้าขาย”
“การเยือนประเทศไทยของนายกฯ ฮุน มาแนต จะส่งเสริมความร่วมมือที่มีอยู่ซึ่งสร้างขึ้นไว้แล้ว (โดยฮุน เซน) ให้แข็งแกร่งยิ่งๆขึ้นไป เขาจะมุ่งหน้ารักษาและขยายความร่วมมือต่อไป” โฆษกรัฐบาลกัมพูชายังกล่าวด้วยว่า มีหัวข้อการหารือมากมายในฝ่ายกัมพูชาที่มุ่งเป้าหมายขยายความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน
ด้าน คิน เพีย (Kin Phea) ผู้อำนวยการสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ราชบัณฑิตยสถานแห่งกัมพูชา เชื่อว่า การเดินทางครั้งนี้จะทำให้ความร่วมมือระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างการพัฒนา การแลกเปลี่ยนทางการค้า และการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน
“การค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายเพิ่มขึ้นมาก สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยมระหว่างทั้งสองประเทศ” เพียคาดว่า การหารือกับไทยระหว่างการเยือนครั้งนี้ ฝ่ายผู้นำกัมพูชาจะเน้นหารือเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการค้าทวิภาคีและแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากในขณะนี้มีชาวกัมพูชาจำนวนมากที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ดังนั้น เชื่อว่าการหารือจะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงตามแนวชายแดน การควบคุมยาเสพติดและการค้ามนุษย์ ตลอดจนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดนอื่นๆ รวมทั้งการแสวงช่องทางสนับสนุนซึ่งกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ
เส่ง วันลี (Seng Vanly) นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองระดับภูมิภาคในกัมพูชากล่าวว่า การเดินทางเยือนไทยของฮุน มาแนตครั้งนี้ จะแสดงให้เห็นถึงความสนใจอย่างใกล้ชิดที่ทั้งสองฝ่ายมีต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน
เขาคาดการณ์ว่า ผู้นำทั้งสองจะเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งยิ่งๆขึ้นไป และเพิ่มความร่วมมือด้านสังคมและการเมืองควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ ยังคาดว่าการหารือจะครอบคลุมไปถึงประเด็นพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย ซึ่งเขาเชื่อว่า ทั้งสองฝ่าย “มีเป้าหมายเดียวกัน”
“เชื่อว่านายกฯของไทยอาจต้องการเห็นการพัฒนาด้านก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว และอาจจะอยากเห็นกัมพูชาเข้าร่วมกับไทยในการพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ด้วย”
ขณะเดียวกัน แรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาบางส่วนได้โพสต์บนโซเชียลมีเดียเพื่อร่วมแสดงความเห็นว่า พวกเขายินดีที่จะได้เห็นการปรากฏกายของนายกฯฮุน มาแนต บนแผ่นดินไทย
ทั้งนี้ นายกฯ เศรษฐาได้เดินทางเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนกันยายน 2566 ซึ่งเขาได้พบกับฮุน มาแนต ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งเช่นกัน โดยครั้งนั้น ผู้นำทั้งสองพบกันหลังจากที่ต่างฝ่ายเพิ่งเข้ารับตำแหน่งราวๆ หนึ่งเดือน
“การที่นายกฯเศรษฐาเลือกเดินทางเยือนกัมพูชาเป็นประเทศแรกในอาเซียนแสดงให้เห็นว่า เขาให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศมากเพียงใด และการให้ความสำคัญดังกล่าวนี้หยั่งรากอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นอย่างยิ่งยวดระหว่างสองตระกูล คือตระกูลฮุนของสมเด็จฮุน เซน บิดาของนายกฯฮุน มาแนต และตระกูลชินวัตร ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯของไทยผู้ก่อตั้งพรรคเพื่อไทย” ยัง เพือ (Yang Peou) เลขาธิการราชบัณฑิตยสถานแห่งกัมพูชาให้ความเห็น และว่าความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งนี้ยังรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ที่เป็นพรรครัฐบาลกัมพูชาอีกด้วย
เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 สมเด็จฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊กและ X แสดงความยินดีกับนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ได้รับการโหวตจากสมาชิกรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยในวันดังกล่าว หลังจากที่ในช่วงสายของวันเดียวกัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของกัมพูชาก็เพิ่งลงมติเป็นเอกฉันท์ให้การรับรอง พล.อ.ฮุน มาแนต บุตรชายคนแรก อายุ 45 ปี ของสมเด็จฮุน เซน ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชา ต่อจากยุคพ่อของเขาที่อยู่ในอำนาจมายาวนานมากกว่า 38 ปี
ข้อความในโพสต์ของสมเด็จฮุน เซน ระบุว่า “วันนี้เป็นวันที่งดงาม เมื่อสองประเทศเพื่อนบ้านกันที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กัมพูชาและไทย) มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันเดียวกัน ถึงแม้ผมจะลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาแล้ว ซึ่งจะมีผลนับจากวันนี้ (22 ส.ค.) ผมอยากที่จะส่งข้อความแสดงความยินดีมายัง ฯพณฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่ได้รับการโหวตจากสมาชิกรัฐสภาของไทยให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ผมหวังว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชาและไทย จะทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศต่อไป”
ก่อนหน้านั้นไม่นาน สมเด็จฮุน เซน เพิ่งโพสต์ข้อความทาง X แสดงความยินดีที่ได้รับข่าวการกลับคืนสู่ประเทศไทยของนายทักษิณเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 หลังหนีคดีอยู่ในต่างแดนเป็นเวลากว่าสิบปี โดยระบุว่า ดีใจที่ได้รับข่าวดีของ “พี่ชาย” ที่ได้กลับสู่ประเทศไทยอย่างปลอดภัย และได้กลับมาอยู่กับครอบครัวและหลานๆ พร้อมคำอวยพรขอให้ “พี่ชายคนนี้” มีสุขภาพที่แข็งแรง
สายสัมพันธ์ที่แนบแน่นประดุจพี่น้องร่วมสายเลือดระหว่างบุคคลในรุ่นพ่อนี้ คงเส้นคงวาเนิ่นนานหลายปี และไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลของไทย ผู้นำกัมพูชาการันตีอย่างแข็งขันว่า “ทักษิณ” คือเพื่อนแท้ที่จะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในกัมพูชาเสมอ กล่าวกันว่า ความสัมพันธ์นั้นเริ่มมาตั้งแต่ที่นายทักษิณ เข้าไปลงทุนทำธุรกิจหลายอย่างในกัมพูชา โดยเฉพาะการลงทุนด้านการสื่อสารโทรคมนาคมที่มีมูลค่าสูงและต้องประมูลจากภาครัฐ
ปี 2552 ในช่วงที่นายทักษิณกลายเป็นนักโทษหนีคดี และรัฐบาลไทยในยุคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นหนังสือขอตัวส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้กับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ทางการกัมพูชายังทำหนังสือตอบกลับมายืนยันว่าจะไม่ส่งตัวนายทักษิณกลับไทย ด้วยเหตุผลเรื่องกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยกัมพูชาเห็นว่ามีเหตุทางการเมืองอย่างชัดเจนในการโค่นนายทักษิณลงจากตำแหน่งด้วยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และคดีความมากมายที่ตามมาหลังจากนั้น รวมทั้งการตัดสินลงโทษนายทักษิณ “ล้วนเป็นเรื่องการเมืองทั้งสิ้น”
ไม่เพียงเท่านั้น ฮุน เซน ยังแต่งตั้งนายทักษิณ เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวและที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจรัฐบาลกัมพูชา ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2552 จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนบางกลุ่มว่าไม่เหมาะสม กระทั่งปีถัดมา รัฐบาลกัมพูชาจึงได้ออกมาระบุว่า ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับนายทักษิณแล้ว หลังจากที่เขาได้ลาออกจากการเป็นที่ปรึกษารัฐบาลด้วยเหตุผลปัญหาส่วนตัว แต่ก็กล่าวได้ว่า ผู้นำกัมพูชาเลือกให้ความสำคัญกับนายทักษิณมากกว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ในช่วงเวลานั้น
เมื่อพรรคเพื่อไทยได้กลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและนายเศรษฐา แคนดิเดตของพรรคได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลานี้ จึงเชื่อได้ว่านี่คือยุคแห่งมิตรภาพและความร่วมมือที่จะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างไทยและกัมพูชาอย่างไม่ต้องสงสัย
ข้อมูลอ้างอิง