ออสเตรเลียเสนอกม.ให้สิทธิลูกจ้าง "ไม่รับสาย-ตอบแชท”เจ้านาย หลังเลิกงาน

10 ก.พ. 2567 | 18:42 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.พ. 2567 | 23:48 น.

ออสเตรเลียเตรียมเสนอกฎหมาย เปิดโอกาสให้ลูกจ้างมีสิทธิในการปฏิเสธที่จะรับโทรศัพท์หรือตอบข้อความแชตจากนายจ้างนอกเวลาการทำงาน โดยที่ไม่มีความผิด พร้อมเสนอตั้งโทษปรับกับนายจ้างหากฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวอีกด้วย

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ร่างกฎหมายภายใต้ชื่อว่า "right to disconnect" หรือสิทธิในการตัดขาดการทำงานนอกเวลา เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง กฎหมายการทำงาน ที่รัฐบาลกลาง ออสเตรเลีย ได้เสนอขึ้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องสิทธิของแรงงาน และช่วยฟื้นฟู สมดุลการทำงานกับการใช้ชีวิต ของลูกจ้างในประเทศออสเตรเลีย

นายโทนี เบิร์ค รัฐมนตรีแรงงานออสเตรเลีย ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันพุธ (7 ก.พ.)ว่า วุฒิสมาชิกส่วนใหญ่ประกาศให้การสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ และบทบัญญัติดังกล่าวจะหยุดยั้งพนักงานจากการทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนจากการติดต่อนอกเวลาทำงานที่ไม่สมเหตุสมผล

ด้านนายแอนโธนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันเดียวกันว่า “สิ่งที่เราจะสื่อง่ายๆ ก็คือ คนที่ไม่ได้รับเงินค่าแรงตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ควรถูกลงโทษหากพวกเขาไม่ได้อยู่บนโลกออนไลน์และพร้อมทำงานตลอด 24 ชั่วโมง”

ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาออสเตรเลียปลายสัปดาห์นี้

รอยเตอร์รายงานว่า กฎหมายในลักษณะเดียวกันนี้ มีผลบังคับใช้แล้วในฝรั่งเศส สเปน และอีกหลายประเทศในสหภาพยุโรป(อียู) โดยกฎหมายเปิดทางให้ลูกจ้างสามารถตัดขาดการติดต่อสื่อสารกับนายจ้างและที่ทำงานได้หลังหมดเวลาการทำงานแล้ว

อย่างไรก็ตาม นักการเมือง กลุ่มนายจ้าง และผู้นำในภาคธุรกิจ ได้เตือนว่าร่างกฎหมาย "right to disconnect" นี้รุกล้ำเกินขอบเขต และอาจบั่นทอนการผลักดันการทำงานอย่างยืดหยุ่น รวมทั้งกระทบต่อศักยภาพในการแข่งขันขององค์กรได้

ร่างกฎหมาย right to disconnect จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาออสเตรเลียปลายสัปดาห์นี้

อดัม แบนท์ หัวหน้าพรรคกรีนส์ ของออสเตรเลีย ที่สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ ระบุว่า ชาวออสเตรเลียทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานล่วงเวลาเฉลี่ย 6 สัปดาห์ต่อปี นั่นเท่ากับว่า ทั้งระบบเศรษฐกิจมีค่าแรงที่นายจ้างไม่ได้จ่ายให้ลูกจ้างคิดเป็นเงินมากกว่า 92,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (หรือราว 2.1 ล้านล้านบาท) และเขาย้ำว่า “เวลานั้นเป็นของคุณ ไม่ใช่ของนายจ้างคุณ”

ข้อมูลอ้างอิง