นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึง การเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา อย่างเป็นทางการ ของ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่กรุงวอชิงตันดีซี ระหว่างวันที่ 10 - 12 ก.พ.2567ตามคำเชิญของ นายแอนโทนี เจ. บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ ระหว่างไทยกับสหรัฐที่มีมาอย่างยาวนาน และมองไปสู่อนาคต
ทั้งนี้ เพราะไทยและสหรัฐฯมีความสัมพันธ์ที่เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” โดยประเด็นหลักที่จะหารือกับนายแอนโทนี เจ. บลิงเกน ครอบคลุมด้านความมั่นคง เรื่องการฝึกซ้อมรบร่วมคอบร้าโกลด์ และไม่ใช่เฉพาะไทยกับสหรัฐ เพราะการฝึกซ้อมรบนี้ยังเปิดให้หลายประเทศในภูมิภาคเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งเรื่องความมั่นคงมีการหารือในระดับนโยบายและจะยกระดับต่อไป
“การพูดคุยไม่ใช่เรื่องของความสัมพันธ์สองฝ่ายเพียงอย่างเดียวยังมีความสัมพันธ์ในระดับภูมิภาค และประเด็นที่ต้องคุยกันต่อไปคือเรื่องของเมียนมา ที่สหรัฐสนใจบทบาทของไทยที่เพิ่มความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับเมียนมาตามแนวชายแดน ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมา อาเซียน และประชาคมโลก”
สหรัฐสนใจบทบาทของไทยที่เพิ่มความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับเมียนมาตามแนวชายแดน
นายสีหศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า เรื่องสำคัญคือประเด็นด้านภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ที่สหรัฐพยายามผลักดันกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ที่มีการเจรจาหลายรอบและประเทศไทยก็มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งจะต้องหารือกันว่า จะกระชับความร่วมมือในการผลักดันกรอบ IPEF ให้มีความคืบหน้าอย่างไร
ส่วนความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่ประเทศไทยมีโครงการแลนด์บริดจ์ นั้น ผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า สหรัฐฯ มีความสนใจและอยากมีบทบาทที่ต้องการสร้างความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์มีความสำคัญในการส่งเสริมความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค และประเทศไทยมีความจริงจังในการดำเนินโครงการนี้
เมื่อถามว่าเป็นผลสืบเนื่องกันหรือไม่ภายหลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา และได้มีโอกาสพูดคุยถึงโครงการแลนด์บริดต์ นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า ถือเป็นผลสืบเนื่องกันเพราะตอนนี้สหรัฐอเมริกามีความสนใจในโครงการแลนด์บริดจ์ โดยมองเห็นว่าโครงการนี้จะช่วยส่งเสริมการเชื่อมโยงในภูมิภาค ไม่ใช่เพียงการส่งเสริมบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลาง แต่ยังเชื่อมโยงประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ที่ผ่านมาบทบาทของสหรัฐเน้นไปที่เรื่องการเมือง ความมั่นคง แต่ระยะหลังเน้นผลักดันกรอบความร่วมมือเน้นเศรษฐกิจในอินโดแปซิฟิก นอกจาก IPEF แล้ว ความเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจก็พยายามผลักดันเช่นเดียวกัน
ตอนนี้สหรัฐอเมริกามีความสนใจในโครงการแลนด์บริดจ์ โดยมองเห็นว่าโครงการนี้จะช่วยส่งเสริมการเชื่อมโยงในภูมิภาค
“เราไม่อยากพูดถึงการแข่งขัน ความขัดแย้งในภูมิภาคต้องการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สิ่งที่เรายินดีอย่างหนึ่งก็คือ สหรัฐหันมาเน้นเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้นในการดำเนินนโยบายอินโดแปซิฟิกต่อกัน” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศกล่าว
นอกจากนี้ ยังเปิดเผยว่าในวันจันทร์ที่ 12 ก.พ. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา จะมีการประชุมกับทีมไทยแลนด์ เพื่อขอให้มีการอัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับสถานะล่าสุดและความสัมพันธ์แต่ละด้าน นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน นายปานปรีย์ จะได้พบทวิภาคีกับนายแอนโทนี เจ. บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่กรุงวอชิงตันดีซี และยังมีวาระพบกับวุฒิสมาชิก (สว.) ของสหรัฐด้วย เพราะในสหรัฐอเมริกาบทบาทของรัฐสภามีความสำคัญ ดังนั้น ทุกประเทศต้องสร้างมิตรในรัฐสภา ซึ่งในโอกาสนี้จะได้พบกับ นายคริส แวน ฮอลเลน ประธานอนุกรรมการว่าด้วยเอเชียตะวันออก แปซิฟิก และนโยบายความปลอดภัยทางไซเบอร์ระหว่างประเทศ คณะกรรมการความสัมพันธ์ต่างประเทศวุฒิสภา และจะได้พบกับนางแทมมี่ ดัคเวิร์ธ วุฒิสภาหญิงเชื้อสายไทย ซึ่งเป็นมิตรที่ดีของไทยด้วย
อนึ่ง การเยือนครั้งนี้ เป็นการเยือนสหรัฐอเมริกาแบบทวิภาคีอย่างเป็นทางการครั้งแรกของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง