กต.ยัน เจรจาพัฒนาพื้นที่ทับซ้อน OCA ไทย-กัมพูชา ควบคู่การเจรจาเขตแดน

08 ก.พ. 2567 | 05:47 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.พ. 2567 | 06:30 น.

กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เผย ผู้นำไทย-กัมพูชา เห็นพ้องยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์” เปิดทางสู่ทำงานอย่างใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น รวมถึงเรื่องการเจรจาร่วมพัฒนาพลังงานในพื้นที่ทับซ้อน (OCA) ในอ่าวไทย ซึ่งจะเดินหน้าควบคู่ไปกับการเจรจาเขตแดน

 

การเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต (Samdech Moha Borvor Thipadei Hun Manet) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ในฐานะแขกของรัฐบาล ตามมาด้วยการลงนามในบันทึกความเข้าใจ 5 ฉบับ และทั้งสองฝ่ายเห็นพ้อง ยกระดับความสัมพันธ์ สู่การเป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์” ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น และส่งเสริมศักยภาพของทั้งสองประเทศที่มีร่วมกัน

โดยเฉพาะในด้าน การพัฒนาพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ทับซ้อน ทั้งสองฝ่ายได้หารือและตกลงที่จะกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน โดยนายกรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายได้แถลงข่าวร่วมกันว่า มีการตกลงที่จะหารือเพิ่มเติมเพื่อแสวงหาประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรด้านพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนกันในอ่าวไทยระหว่างไทยและกัมพูชา

ผู้นำทั้งสองฝ่ายหารือและเห็นพ้องให้มีการเดินหน้าเจรจาพัฒนาพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอ่าวไทย

ทั้งนี้ เนื่องจากมองว่าสถานการณ์โลกปัจจุบันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานของทั้งไทยและกัมพูชา ดังนั้น จึงตกลงที่จะกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งจะหารือกันเพิ่มเติมเพื่อแสวงหาประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างทั้งสองประเทศ (Overlapping Claims Area: OCA) ในอ่าวไทย

การแถลงข่าวโดยนายฉัตรชัย วิริยเวชกุล อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก และนายธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) วันนี้ (8 ก.พ.) ว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์” บทบาทของไทย-กัมพูชาจะสนับสนุนเกื้อกูลกันมากขึ้น การเจรจาประเด็นการพัฒนาแหล่งพลังงานร่วมกันในพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยจึงไม่ใช้คำว่า “ข้อพิพาท” แต่เป็นเรื่องของ “ความร่วมมือ” มากกว่า

อธิบดีฯกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้แถลงข่าวร่วมกันไว้แล้ววานนี้ (7 ก.พ.) ว่า จะมีการเจรจากันต่อไปในเรื่องนี้เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคตท่ามกลางความปรวนแปรของสถานการณ์พลังงานโลก  และเพื่อแสวงหาหนทางว่าจะมีความร่วมมือกันเรื่องนี้ได้อย่างไร

ทั้งนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า จะไม่แยกส่วนการเจรจาเรื่องการพัฒนาพลังงานในพื้นที่ทับซ้อน (OCA) ออกจากการเจรจาเรื่องเขตแดน แต่จะเจรจาควบคู่กันไป ตามที่ได้มีการกำหนดไว้แล้วในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) 2544

ย้อนความ ทำความเข้าใจ MOU 2544

ไทยและกัมพูชามีความพยายามเจรจาแก้ไขปัญหาซึ่งเดิมเรียกว่า “ข้อพิพาท” กรณีพื้นที่ทับซ้อนครั้งแรกเมื่อปี 2513 แต่ก็ไม่มีความคืบหน้ามากนัก เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีความซับซ้อนทั้งทางเทคนิคและทางกฎหมาย กระทั่งปี พ.ศ. 2544 ยุครัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ไทยและกัมพูชาได้ตกลงที่จะลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ซึ่งไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน เรียกสั้นๆ ว่า เอ็มโอยู 2544 (MOU 2544) ซึ่งเนื้อหาหลักๆ ระบุว่า ไทยและกัมพูชาจะเจรจาแก้ไขปัญหาการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันใน 2 เรื่อง คือ

  • หนึ่ง การเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนร่วมกัน
  • สอง การเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงแบ่งเขตแดนสำหรับทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขต โดยให้ถือเอาเส้นละติจูด 11 องศาเหนือเป็นเส้นแบ่ง ทั้งนี้ พื้นที่เหนือเส้นนี้ เป็นบริเวณที่จะต้องมีการเจรจาเพื่อแบ่งเขตแดน ส่วนพื้นที่ใต้เส้นนี้ลงไป ให้จัดทำเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกัน โดย MOU 2544 เน้นว่า ทั้งสองเรื่องดังกล่าว จะต้องดำเนินการเจรจาไปพร้อมกันๆ ไม่สามารถแยกเจรจาหรือแสวงประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมก่อน แล้วค่อยมาเจรจาเรื่องแบ่งเขตทางทะเลในภายหลัง

นอกจากนี้ MOU ยังระบุให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (Joint Technical Committee: JTC) ขึ้น ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากทั้งสองประเทศ เพื่อทำหน้าที่กำหนดเงื่อนไขความตกลงในการพัฒนาร่วมกัน ตั้งแต่เรื่องการแบ่งปันค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ที่แต่ละประเทศจะได้จากทรัพยากรปิโตรเลียม ตลอดจนเรื่องปัญหาเขตแดน ให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น คณะกรรมการร่วมฯ จะต้องจัดการประชุมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ และอนุญาตให้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการมาช่วยดำเนินการได้

แต่ถึงแม้ทั้งสองฝ่ายจะมีการจัดทำ MOU 2544 มาเนิ่นนานหลายปีแล้ว การเจรจาก็ไม่มีความคืบหน้า ทั้งยังสะดุดเป็นระยะๆ จากหลายเหตุปัจจัย ทั้งปัญหาความบาดหมางระหว่างทั้งสองประเทศ และความยุ่งเหยิงทางการเมืองของไทยเอง

กระทั่ง ยุคของนายกฯ เศรษฐา และนายกฯฮุน มาแนต ที่ระดับผู้นำรัฐบาลส่งสัญญาณชัดเจนว่า ต้องการให้สองฝ่ายจับมือกันตั้งโต๊ะเจรจา สร้างความคืบหน้าในเรื่องการพัฒนาพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกันเสียที เพื่อร่วมกันสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ทั้งนี้ ฝ่ายไทยเห็นควรให้มีการเพิ่มหน่วยงานเข้าไปในการเจรจา เช่น กองทัพเรือ มาช่วยในการตั้งกลไกในการหารือเพื่อให้มีความครอบคลุมทุกมิติ ขณะที่ผู้นำกัมพูชา เน้นย้ำความยั่งยืนด้านการพัฒนาพลังงานในแง่ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการ “เติบโตอย่างยั่งยืน” ของทั้งสองประเทศ จึงเห็นชอบให้มีการตั้งทีมเฉพาะกิจ (Joint Technical team for explorer) และให้มีการหารือเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศต่อไป