มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่ ที่ประกาศโดย ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23 ก.พ.) ประกอบด้วยมาตรการของกระทรวงต่างๆ โดย กระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาตรการลงโทษชุดใหม่ต่อรัสเซีย มุ่งเป้าไปที่บุคคลและองค์กรเกือบ 300 รายชื่อ ขณะที่วันเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมาตรการลงโทษบุคคลและองค์กรของรัสเซียกว่า 250 รายชื่อ ส่วน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ได้เพิ่มรายชื่อกว่า 90 บริษัท ประกอบด้วยบริษัทของรัสเซีย จีน ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอื่น ๆ เข้าไปในบัญชีดำของสหรัฐ
โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐกล่าวว่า มาตรการเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ต้องชดใช้ในพฤติกรรมก้าวร้าวรุกรานในต่างประเทศและการปราบปรามผู้เห็นต่างภายในประเทศ
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของสหรัฐ สอดรับกับวาระครบรอบ 2 ปีและการย่างเข้าสู่ปีที่ 3 ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งวาระการเสียชีวิตของนายอเล็กเซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเครมลินเมื่อเร็วๆนี้
มาตรการลงโทษชุดใหม่ของสหรัฐมุ่งเป้าไปในที่ระบบธุรกรรมการเงินของรัสเซีย ที่ชื่อว่า เมียร์ (Mir) สถาบันการเงินต่าง ๆ ฐานอุตสาหกรรมการทหารของรัสเซีย ภาคพลังงานและภาคส่วนอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลงโทษต่อเจ้าหน้าที่เรือนจำที่สหรัฐฯ ระบุว่า “มีส่วนเกี่ยวข้อง” กับการเสียชีวิตของนาวาลนีอีกด้วย
ภายหลังการประกาศมาตรการลงโทษรัสเซียรอบใหม่ นายอนาโตลี อันโตนอฟ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐอเมริกากล่าวผ่านบัญชีเทเลแกรมของสถานทูตรัสเซียในสหรัฐว่า รัฐบาลวอชิงตันไม่เข้าใจเลยหรือว่า มาตรการลงโทษเหล่านี้ไม่อาจทำอะไรรัสเซียได้
ทั้งนี้ รัสเซียส่งทหารรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 โดยเรียกมันว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” และการต่อสู้ที่ยังคงยืดเยื้อมาถึงทุกวันนี้ ก็ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วนับหมื่นคนและทำให้หลายเมืองเสียหายหนัก
เท่าที่ผ่านมา คณะทำงานของประธานาธิบดีไบเดน พยายามหาทางสนับสนุนยูเครนในช่วงที่ยูเครนเผชิญกับการขาดแคลนกระสุนและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ แต่มาในระยะหลังๆนี้ การอนุมัติความช่วยเหลือด้านการทหารของสหรัฐให้กับยูเครนนั้น พบกับความล่าช้ามาหลายเดือนแล้ว
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ประเทศตะวันตกอื่นๆ ได้ระดมประกาศมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียออกมา โดยเมื่อวันศุกร์ (23 ก.พ.) ทางสหภาพยุโรป (อียู) อังกฤษ และแคนาดา ได้ออกมาตรการลงโทษรัสเซียเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน ทำให้ตอนนี้มีบุคคลและองค์กรกว่า 2,000 รายชื่อที่อยู่ในบัญชีดำของอียู ภายใต้มาตรการลงโทษที่มุ่งเป้าต่อรัสเซีย
การประกาศมาตรการลงโทษรัสเซียครั้งนี้ ยังมีความน่าสนใจตรงที่นับเป็นครั้งแรก ที่มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของอียู พุ่งเป้าครอบคลุมมายังบริษัทของจีนที่ต้องสงสัยว่าให้การช่วยเหลือรัฐบาลเครมลินด้วย นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอินเดีย ตุรกี เซอร์เบีย คาซัคสถาน สิงคโปร์ ศรีลังกา ฮ่องกง รวมทั้งบริษัทไทย ที่อยู่ในรายชื่อล่าสุดนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของรัสเซียที่มุ่งเน้นภาคการส่งออกนั้น กลับมีความทนทานต่อมาตรการลงโทษที่ชาติตะวันตกระดมใช้กับรัสเซียมาเป็นเวลาร่วม 2 ปี
รอยเตอร์รายงานว่า เศรษฐกิจรัสเซียอยู่ในทิศทางที่ดีเกินคาด ซึ่งทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของรัสเซีย จะมีการขยายตัว 2.6% ในปีนี้ (2567) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมในเดือนตุลาคมปีก่อนราว 1.5% หลังจากเศรษฐกิจรัสเซียเติบโตได้ที่อัตรา 3.0% ในปี 2566 ทั้งๆที่อยู่ในภาวะสงคราม
การรุกรานยูเครนโดยกองทัพรัสเซียครบรอบ 2 ปีเต็ม ย่างเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว จนถึงขณะนี้ กองทัพยูเครนกำลังตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบ ขาดยุทธภัณฑ์ และถูกบีบให้ถอนกำลังออกจากบางพื้นที่ กล่าวได้ว่าการสนับสนุนจากพันธมิตรชาติตะวันตก จะมีผลอย่างมากต่อความสามารถของรัฐบาลกรุงเคียฟในการต่อต้านการโจมตีของรัสเซีย
จากการประมวลของสำนักข่าวรอยเตอร์ พบว่ามีปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือยูเครนจากสหรัฐ และชาติตะวันตก ดังนี้
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายที่จะให้งบสนับสนุนทางการทหารแก่ยูเครนวงเงินราว 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำลังค้างคาอยู่ในสภาคองเกรส หลังเผชิญกับแรงต่อต้านจากผู้แทนราษฎรสังกัดพรรครีพับลิกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่ใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากนี้ นายไมค์ จอห์นสัน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังคงเมินเฉยต่อแรงกดดันจากทำเนียบขาวที่ให้สภาเริ่มลงคะแนนเสียงเรื่องนี้เสียที
ด้านนายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) กล่าวในการประชุมความมั่นคงมิวนิคเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “ทุกสัปดาห์ที่เรารอคอย หมายความว่าจะมีคนถูกสังหารมากขึ้นที่แนวหน้าในยูเครน”
เจ้าหน้าที่จากชาติตะวันตกและยูเครนกล่าวว่า ร่างงบประมาณข้างต้นของสหรัฐ มีความสำคัญอย่างมากต่อกองทัพยูเครน โดยเจ้าหน้าที่จากยุโรประบุว่า มีสัญญาณที่ดีจากสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐในเรื่องนี้ในการประชุมที่มิวนิค แต่ก็คาดว่าคงต้องใช้เวลา กว่าที่กฎหมายจะได้รับการรับรอง
การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ดำเนินอยู่นี้ ส่วนใหญ่เป็นการซัดกันด้วยกระสุนปืนใหญ่หลายพันลูกต่อวัน นักวิเคราะห์ระบุว่า ยูเครนสามารถยิงได้มากกว่าจนถึงปี 2566 ก่อนที่รัสเซียจะพลิกเกมด้วยการเพิ่มกำลังการผลิต และนำเข้ากระสุนปืนใหญ่จากอิหร่านและเกาหลีเหนือ
ไมเคิล คอฟแมน นักวิจัยจากสถาบัน Carnegie Endowment for International Peace ในกรุงวอชิงตัน คาดว่ารัสเซียยิงปืนใหญ่ได้มากกว่ายูเครนถึง 5 เท่า
เรื่องนี้สอดคล้องกับความคิดเห็นของศาสตราจารย์ จัสติน บรองค์ จากสถาบัน RUSI ซึ่งเป็นคลังความคิดด้านความมั่นคงจากอังกฤษ ที่กล่าวว่า ปัจจัยที่สำคัญยิ่งของยูเครน อยู่ที่ว่าพันธมิตรจากประเทศตะวันตกจะจัดส่งกระสุนให้ยูเครนได้มากกว่าที่รัสเซียมีอยู่หรือไม่
ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับแถวหน้าของยูเครนพยายามเรียกร้องให้ชาติตะวันตกจัดส่งระบบอาวุธอื่น ๆ เพื่อที่จะสามารถโจมตีลึกเข้าไปในรัสเซียได้ เช่น ระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีของกองทัพบก (ATACMS) ของสหรัฐ หรือขีปนาวุธเทารุส (Taurus) ของเยอรมนี แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด
ข่าวระบุว่า ทางเยอรมนีมีความกังวลว่า การให้ขีปนาวุธดังกล่าวแก่ยูเครน อาจยกระดับของสงคราม และทำให้บทบาทของรัฐบาลเบอร์ลินในความขัดแย้งครั้งนี้มีมากขึ้น
การสู้รบในฉนวนกาซาที่ตามมาหลังกลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 ทำให้ชาติตะวันตกมีเวลาและเจตจำนงทางการเมืองที่จะใช้กับยูเครนน้อยลง และอาจจะยิ่งน้อยลงไปอีกหากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาสขยายปมและยกระดับเป็นสงครามระดับภูมิภาค
นอกจากนี้ ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่ม Global South ซึ่งเป็นประเทศจากภูมิภาคละตินอเมริกา แอฟริกา เอเชียและโอเชียเนีย ที่มองว่า ชาติตะวันตกมีท่าทีต่อสงครามที่กาซาและยูเครนแบบสองมาตรฐาน ยิ่งทำให้เป็นเรื่องยากมากขึ้นสำหรับรัฐบาลกรุงเคียฟในการออกมาเรียกร้องประเทศต่าง ๆ ให้หันมาสนับสนุนแผนสันติภาพของยูเครน
การประชุมสุดยอดผู้นำชาติสมาชิก NATO ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 9-11 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ไม่เพียงจะมีผลกระทบต่อการสู้รบ แต่ยังจะมีผลต่อบรรยากาศทางการเมืองและขวัญกำลังใจของฝ่ายยูเครน สืบเนื่องจากความพยายามที่จะให้ยูเครนเข้าเป็นชาติสมาชิกของ NATO ยังคงดำเนินต่อไป และการเป็นสมาชิก NATO นั้นก็หมายถึงการอยู่ภายใต้หลักการที่ว่า ทุกชาติสมาชิกจะเข้าช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ถูกรุกราน
ทั้งนี้ นักการทูตหลายคนระบุว่า มหาอำนาจใน NATO อย่างสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี ยังคงคัดค้านการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก NATO เนื่องจากกังวลว่าจะทำให้กลุ่มก้อนพันธมิตรนี้ขัดแย้งกับรัสเซียโดยตรงมากขึ้น
นายโดนัลด์ ทรัมป์ เต็งหนึ่งจากพรรครีพับลิกัน ที่จะมาท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ย.นี้ มีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์ NATO อย่างดุดันในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของสหรัฐ กระทั่งถึงขั้นที่เขาขู่ว่าจะนำสหรัฐออกจากการเป็นสมาชิก NATO และยังหั่นงบที่สนับสนุนองค์กรดังกล่าวลงด้วย
ขณะที่ประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งปัจจุบันอายุ 81 ปี ตัดสินใจที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง เพราะเชื่อว่าจะสามารถเอาชนะทรัมป์ได้ แต่ผลสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกัน พบว่าความนิยมในตัวเขาตกลงมาแทบจะเท่ากับนายทรัมป์แล้ว และชาวอเมริกันก็ยังมีข้อสงสัยในเรื่องอายุของนายไบเดน แผนการทางเศรษฐกิจของเขา รวมไปถึงนโยบายเกี่ยวกับชายแดนและภูมิภาคตะวันออกกลางของเขาด้วย