Green Horizons ไทย-เวียดนาม: ร่วมสร้างโลกแห่งพลังสีเขียว (ตอนที่ 1)

25 ก.พ. 2567 | 17:10 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.พ. 2567 | 00:45 น.

เวียดนามให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนเป็นอย่างมาก โดยวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2050 บทความชิ้นนี้จะทำให้เราได้รู้จักกับนโยบายพลังงานของเวียดนาม ผ่านคำบอกเล่าของเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย เพื่อช่วยต่อยอดการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

 

เวียดนาม” ถือเป็นประเทศที่ดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ทั้งจากปัจจัยด้านต้นทุนแรงงานและเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน อุตสาหกรรมพลังงาน ที่ รัฐบาลเวียดนาม มุ่งมั่นสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจาก พลังงานหมุนเวียน ท่านทูตฯ นิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงฮานอย ได้ร่วมบอกเล่าถึงภาพรวมด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมพลังงานของเวียดนาม ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่นักลงทุนชาวไทยและการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว

“เวียดนามมีความเข้มแข็งท้างด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนเป็นอย่างมาก สิ่งที่เห็นได้ชัดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกปัจจุบันที่มีความท้าทายเชิงภูมิรัฐศาสตร์มีความไม่แน่นอนหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้น ภาพรวมเศรษฐกิจของเวียดนามใน 9 เดือนแรกของปี ค.ศ. 2023 เติบโต อยู่ที่ 4.2% ดังนั้น ผมคิดว่าเป็นตัวเลขที่ยอดเยี่ยม ตัวเลขที่น้อยประเทศจะทำได้” ท่านทูตฯ นิกรเดช กล่าวเปิดประเด็น พร้อมระบุว่า

เวียดนามน่าจะเป็น Top 3 ในโลกตอนนี้ ยิ่งไปกว่านั้น เวียดนามยังมีความเป็นพลวัตอยู่ในตัว มีการวางเป้าหมายนโยบายเศรษฐกิจ โดยประสงค์เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูงภายในปี ค.ศ. 2045 และได้ประกาศเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งเร็วกว่าไทย 15 ปี

นิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงฮานอย

“ผมถึงมองว่าเป้าหมายของเขามีความทะเยอทะยานในเชิงบวก และเวลาเวียดนามตั้งเป้าหมายอะไรก็มักไม่ค่อยพลาดเป้ามากนัก ดังนั้น ผมคิดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ของเวียดนามจะเป็นไปในทิศทางที่มั่นคง”

อย่างไรก็ดี เวียดนามเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติและการส่งออกค่อนข้างสูงคล้ายกับไทยในสมัยก่อน ตัวเลขการส่งออกของเวียดนามในช่วง 9 เดือนแรกของปี ค.ศ. 2023 มีมูลค่าลดลงจากปีก่อนหน้า อยู่ที่ประมาณ 8.2% ผลจากคู่ค้าของเวียดนาม โดยเฉพาะลูกคาร้ายใหญ่อย่าง สหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป ทุกประเทศล้วนประสบปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ยอดการสั่งซื้อต่าง ๆ ของเวียดนามได้รับผลกระทบตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้จึงอาจทำให้ GDP และการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในภาพรวมลดลงด้วย

ถึงแม้เวียดนามจะประสบผลกระทบในเรื่องการส่งออก แต่หลายประเทศยังมองว่าเป็นประเทศที่น่าลงทุน จากสถิติช่วง 9 เดือนแรกของปี ค.ศ. 2023 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเวียดนามอยู่ประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งถือว่าสูงมาก เพิ่มขึ้น 7.5 – 7.7%

ท่านทูตฯ เผยมุมมอง 3 ประเด็นที่ทำให้เวียดนามยังเป็นประเทศน่าลงทุน ได้แก่

  1. เวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA  หลายฉบับ ครอบคลุมมากถึง 54 ประเทศ ซึ่ง FTA นับเป็นข้อตกลงที่สำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดย FTA ล่าสุดได้ทำร่วมกันกับกับอิสราเอลก่อนที่จะมีประเด็นเรื่องสงคราม อีกทั้ง ปัจจุบัน เวียดนามกำลังมองไปที่ประเทศในแถบลาตินอเมริกา ตลาดรวมอเมริกาใต้ตอนล่าง (MERCOSUR) และกลุ่มแอฟริกามากขึ้นด้วย ด้วยเหตุนี้ ทำให้เวียดนามอาจกลายมาเป็นโซ่กลางที่สำคัญในการผลิต
  2. เวียดนามมีนโยบายด้านการต่างประเทศและเศรษฐกิจที่ไม่เลือกข้าง เนื่องจากเป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์  พันธมิตรที่สำคัญของเวียดนาม คือ รัสเซีย และจีน ขณะเดียวกันเวียดนามมีรูปแบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมแบบตลาด(Socialist-Oriented Market  Economy) จึงเป็นพันธมิตรด้านการค้าการลงทุนกับตะวันตกด้วย จึงทำให้เศรษฐกิจเวียดนามมีความสมดุลท่ามกลางปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์
  3. ความน่าสนใจภายในประเทศของเวียดนาม เวียดนามเป็นประเทศที่มีค่าแรงต่ำระดับหนึ่ง ถ้าเทียบกับไทยถือว่าต่ำกว่าไทยอยู่ประมาณ 20%  มีค่าไฟที่ต่ำอัตราเฉลี่ยประมาณ 1 ใน 3 และอัตราค่าไฟจะแตกต่างไปตามแต่ละพื้นที่ขึ้นอยู่กับพื้นที่ใดได้รับการสนับสนุนการลงทุน

ทิศทางนักลงทุนไทย

จากการที่เวียดนามประกาศแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2050 และมุ่งมั่นสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานมีความน่าสนใจขึ้นอย่างมากในสายตานักลงทุนจากทั่วโลกรวมถึงนักลงทุนไทย

“ภาพรวมความสัมพันธ์ไทยกับเวียดนามอยู่ในระดับที่ผมคิดว่าดีที่สุดในตอนนี้ คือ ทั้ง 2 ฝ่ายมีความสนิทสนม มีความไว้เนื้อเชื่อใจ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงมาก ในปีหน้าเราก็มีแผนที่จะแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับ ตั้งแต่รัฐมนตรีต่างประเทศ นายกรัฐมนตรี รวมถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วม” ท่านทูตฯ นิกรเดชกล่าว

Green Horizons ไทย-เวียดนาม: ร่วมสร้างโลกแห่งพลังสีเขียว (ตอนที่ 1)

ทั้งนี้ ไทยถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของเวียดนามในอาเซียน ปัจจุบันมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเวียดนาม อยู่ที่เกือบ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่ามูลค่าการค้าจะเกินเป้าที่ตั้งไว้ที่ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2025

ส่วนในแง่การลงทุน ไทยเป็นนักลงทุนอันดับ 9 ของเวียดนามด้วยโครงการลงทุนประมาณ 766 โครงการ อย่างไรก็ดี ในระดับอาเซียน สิงคโปร์ยังครองอันดับหนึ่งด้านการลงทุนในเวียดนาม การลงทุนของไทยส่วนใหญ่จะเป็นโครงการผลิต สินค้าอุตสาหกรรม การแปรรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องพลังงานทดแทน ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่กว่า 13,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อปี ค.ศ. 2022 ทางสถานเอกอัครราชทูตฯ ร่วมกับภาคเอกชนไทยได้ร่วมกันจัดตั้ง หอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม หรือ Thai Chamber of Commerce and Industry (ThaiCham) ทำให้การสื่อสารเพื่อกระตุ้นการลงทุนกับรัฐบาลเวียดนามเป็นไปได้ง่ายขึ้น ผนวกกับนักลงทุนที่มีศักยภาพ และนโยบายดึงดูดการลงทุนที่ดีของไทย ทำให้เกิดกิจกรรมการลงทุนระหว่างสองประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ 

ในตอนต่อไป ซึ่งเป็นตอนจบของบทความชิ้นนี้ เรามาติดตามโอกาสความร่วมมือระหว่างไทยและเวียดนามในการส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน ว่าจะเป็นไปในทิศทางที่เติบโตและยั่งยืนได้อย่างไร

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต เป็นความร่วมมือระหว่างฐานเศรษฐกิจ กับศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ / ข้อมูลจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย