หลังการปิดหีบเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ (25 ก.พ.) พรรคประชาชนกัมพูชา หรือ CPP (Cambodian People's Party) ที่มีสมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน เป็นหัวหน้าพรรค ออกมาประกาศชัยชนะจากการกวาดที่นั่งวุฒิสมาชิกส่วนใหญ่มาได้
นายสก อีสาน โฆษกพรรคประชาชนกัมพูชา เปิดเผยว่า ผลการนับคะแนนเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า พรรค CPP ชนะอย่างน้อย 50 ที่นั่งจากทั้งหมด 58 ที่นั่งที่มาจากการเลือกตั้งในสภาสูงหรือวุฒิสภากัมพูชา ที่มีชื่อเรียกว่า “พฤฒสภา” (อ่านว่า พรึดสภา) และยังประกาศว่า เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าสมเด็จฯ ฮุน เซน ได้เป็นสว.ด้วย
โฆษกพรรค CPP ยืนยันด้วยว่า ในที่ประชุมสภาสูงที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ทางพรรคจะเสนอชื่อสมเด็จฯฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและยังเป็นประธานองคมนตรี ขึ้นเป็นประธานวุฒิสภาอีกตำแหน่งด้วย
ซึ่งตำแหน่งประธานวุฒิสภาหรือสภาสูงแห่งกัมพูชานี้ จะทำหน้าที่เสมือนประมุขแห่งรัฐได้ ในกรณีที่กษัตริย์กัมพูชาเสด็จออกนอกประเทศ
เป็นที่คาดหมายว่า คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง หรือ กกต. แห่งชาติของกัมพูชาจะใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์กว่าจะประกาศผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการออกมาได้ แต่เท่าที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันจันทร์ (26 ก.พ.) ปรากฏว่า พรรค CPP กวาดไปแล้ว 55 ที่นั่งจากทั้งหมด 58 ที่นั่ง
ทั้งนี้ สภาสูงของกัมพูชามีจำนวนทั้งหมด 62 ที่นั่ง แต่อีก 4 ที่นั่งซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้น 2 ที่นั่งจะเป็นการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งโดยตรงจากพระมหากษัตริย์ (พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี) และอีก 2 ที่นั่งแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร
รายงานข่าวระบุว่า มีพรรคการเมือง 4 พรรค ซึ่งรวมถึงพรรค CPP ลงสนามแข่งขันในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภากัมพูชาในครั้งนี้และ 2 ใน 4 ก็เป็นพรรคฝ่ายค้านขนาดเล็ก
สื่อต่างประเทศรายงานว่า การที่พรรค CPP ซึ่งเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาลกัมพูชาในปัจจุบัน ประกาศชัยชนะแบบถล่มทลายจากการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งล่าสุดนี้ หมายถึงการเปิดทางให้สมเด็จฯ ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรี กลับคืนสู่เวทีการเมืองอย่างเป็นทางการ หลังจากที่เขาก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อปีที่แล้ว และถ่ายโอนอำนาจการบริหารประเทศให้กับนาย ฮุน มาแนต บุตรชายคนโต ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2566
การส่งไม้ต่อของสมเด็จฯ ฮุน เซน เกิดขึ้นหลังจากที่เขากุมบังเหียนรัฐบาลปกครองกัมพูชามานานเกือบ 4 ทศวรรษ เขายืนยันว่านี่ไม่ใช่การรักษาอำนาจแบบตระกูลการเมือง เพราะฮุน มาแนต มาจากการเลือกตั้งทั่วไปตามวิถีประชาธิปไตยเมื่อเดือนกรกฎาคมของปีที่แล้ว โดยปราศจากการต่อต้านจากฝ่ายใด
ในการประกาศก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อปีที่ผ่านมา สมเด็จฯ ฮุน เซน แสดงความชัดเจนว่า แม้เขาจะไม่ได้เป็นผู้นำประเทศแล้ว ก็ยังจะคงอำนาจอิทธิพลในการบริหารประเทศต่อไป
แม้ว่าหน้าที่ของสภาสูงกัมพูชาส่วนใหญ่จะเป็นภารกิจในเชิงพิธีการ และให้การรับรองร่างกฎหมายต่างๆที่ผ่านการโหวตเห็นชอบมาแล้วจากสภาล่าง (สภาผู้แทนราษฎร) แต่ประธานสภาสูงก็มีอำนาจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ "ประมุขของรัฐ" ในกรณีที่กษัตริย์เสด็จออกนอกประเทศ
ปัจจุบัน พรรค CPP ของสมเด็จฯ ฮุน เซน ครองที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 120 ที่นั่ง จากทั้งหมด 125 ที่นั่ง สำหรับ 5 ที่นั่งที่เหลือนั้นเป็นของพรรคฟุนซินเปก ซึ่งมีสมเด็จราชบุตรี พระอนุชนโรดม อรุณรัศมี เป็นหัวหน้าพรรค (ทรงเป็นพระราชธิดาองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ)
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สมเด็จฯฮุน เซน ในวัย 71 ปี ยังคงต้องการแสดงบทบาททางการเมือง และเขาเองก็ชัดเจนและมีท่าทีในเรื่องนี้อย่างเปิดเผยตลอดมา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายฮุน มานี (Hun Many) บุตรชายคนสุดท้องของเขาวัย 41 ปี ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการ เพิ่งได้รับการรับรองจากสภาผู้แทนฯให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีควบอีกตำแหน่ง ขณะที่บุตรชายคนโตคือนายฮุน มาแนต ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ข้อมูลอ้างอิง