KEY
POINTS
650 กิโลเมตร จากกรุงพนมเปญถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า เป็น "ระยะวัดใจ" ระหว่าง "ทักษิณ" กับ "ฮุน เซน" ตลอดเข็มไมล์ 32 ปีที่ทั้งคู่คบหาดูใจ
การเดินทางเยือนไทยเป็นการ "ส่วนตัว" เพื่อเยี่ยมไข้ “ทักษิณ” นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 ของ “ฮุน เซน” ประธานองคมนตรี ณ บ้านจันทร์ส่องหล้า จรัญสนิทวงศ์ 69 เป็นอีกวาระที่สะท้อนถึงสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรีไทยกับอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา
ตลอดระยะเวลาที่ “ทักษิณ” ต้อง “ลี้ภัย” ผเนจรอยู่ต่างแดน-แผ่นดินแม่ มีเพียง “ฮุน เซน” อดีตผู้นำกัมพูชาเท่านั้นที่คอยโอบอุ้ม-กางปีกปกป้องจากเขี้ยวเล็บอำมาตย์ ให้ความช่วยเหลือเป็นที่ “หลบภัย” ทางการเมืองมาจนถึงปัจจุบัน
ครั้งสุดท้ายที่ “ฮุน เซน” ได้สวมกอดกับ “ทักษิณ” พี่ชายต่างเมือง คือ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2566 ที่ "นายกฯพี่น้องชินวัตร" เดินทางไปอวยพรวันเกิดครบรอบ 71 ปี ของ “ฮุน เซน” พร้อมกับนอนพักค้างแรมและรับประทานอาหารที่บ้านเกิดของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา
ความสัมพันธ์ทั้งในเชิงผลประโยชน์ทางธุรกิจ-อำนาจทางการเมืองระหว่าง “ทักษิณ” กับ “ฮุน เซน” กว่า 32 ปี และยังตกทอด-เกี่ยวดองมาถึงทายาททางสายโลหิตและทางทายาททางอำนาจรุ่นสู่รุ่น
ปี 2535 เสาเข็มต้นแรกที่ตอกความสัมพันธ์ระหว่าง “ทักษิณ” กับ “ฮุน เซน” จนฝังลึกลงไปยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อนายทักษิณสมัยเป็นนักธุรกิจด้านโทรคมนาคมได้เข้าไปบุกเบิกธุรกิจสื่อสารและสถานีโทรทัศน์ในกัมพูชา ในนามบริษัท ไอบีซี กัมพูชา จำกัด ณ กรุงพนมเปญ ภายใต้บริษัท ชินแซทเทลไลท์
ปี 2537-2538 สมัยรัฐบาลชวน 1 “ทักษิณ” เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมือง ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศได้กระชับความสัมพันธ์ส่วนตัว พร้อมกับยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาอย่างแนบแน่
กระทรวงต่างประเทศเสนอเรื่องให้ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2538 อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศ จัดทำความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา
ในช่วงการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ “ฮุน เซน” นายกรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 1 เมษายน 2538 ครม.ยังอนุมัติให้ต่ออายุโครงการไตรภาคีญี่ปุ่น - อาเซียน - กัมพูชา เพื่อช่วยเหลือกัมพูชาออกไปอีก 1 ปี
วันที่ 2 พฤษภาคม 2538 ครม.อนุมัติจัดสรรงบประมาณ จำนวน 244.699 ล้านบาท สำหรับการดำเนินโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการแก่กัมพูชา
หลังรัฐประหารปี 2549 “ทักษิณ” ต้องเผชิญกับมรสุมทางการเมืองลูกใหญ่ ชีวิตพลิกผันจาก หัวหน้ารัฐบาลเสียงข้างมาก-เบ็ดเสร็จเด็ดขาดพรรคเดียว กลายเป็น “ผู้นำพลัดถิ่น” พเนจรอยู่ต่างแดนกว่า 17 ปี
ระหว่างทาง "ทักษิณ" ได้รับการโอบอุ้มทั้งทางกายและทางใจ จาก "ฮุน เซน" เสมือนดั่ง "เพื่อนแท้-เพื่อนตาย" ในช่วงที่ทักษิณต้องตกทุกข์ เผชิญวิบากกรรมทางการเมืองอยู่ต่างบ้านต่างเมือง
ปี 2552 วันที่ 4 พฤศจิกายน “ฮุน เซน” เปิดบ้านพักในกรุงพนมเปญต้อนรับนายทักษิณ กัลยาณมิตรต่างเชื้อชาติ พร้อมทั้งแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาส่วนตัว-ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจรัฐบาลกัมพูชา
ปีเดียวกันมีเหตุการณ์ที่พิสูจน์คนของ "ฮุน เซน" กับ "ทักษิณ" เมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลกัมพูชาขอส่งตัวนายทักษิณในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน แต่รัฐบาลกัมพูชายอมแลกกับความบาดหมางทางการทูตที่จะเกิดขึ้น-ปฏิเสธการร้องขอขาดสะบั้น
ปี 2553 “ฮุน เซน” ให้สัมภาษณ์นักข่าว-ตัวแทนสื่อไทยในโอกาสที่ประเทศไทยและประเทศกัมพูชาได้จัดงานครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ที่วิมานสันติภาพ ทำเนียบนายกรัฐมนตรีบางช่วงถึงนายทักษิณและความสัมพันธ์กับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ขณะนั้นว่า
“ประเด็นของอดีตนายรัฐมนตรีทักษิณที่ผมแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจผม และปัจจุบันได้ลาออกไปแล้ว เรื่องนี้จบไปนานแล้วและทั้ง 2 ประเทศก็เข้าใจ
ผมขอยืนยันว่าคุณทักษิณก็ยังเป็นเพื่อนของผมเหมือนเดิม ผมไม่ได้เป็นคนไม่มีคุณธรรม แต่ในนามของรัฐบาลกัมพูชา ผมต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ แต่ทั้งสองเรื่องนี้ต้องแยกออกจากกัน”
ปี 2554 ในช่วงที่ประเทศไทยจัดการเลือกตั้ง รัฐบาลกัมพูชาไฟเขียวให้นายทักษิณขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณด้านชายแดนอรัญประเทศ สระแก้ว
จนกระทั่ง “นายกฯน้องสาว” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลายเป็น “นารีขี่ม้าขาว” ใช้เวลาเพียง 49 วันเข้าทำเนียบนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 สานฝันให้ “ทักษิณ” ได้มีความคิดจะ “กลับบ้าน” อีกครั้ง ด้วยการลุยไฟออก “กฎหมายนิรโทษกรรม” เหมาเข่ง-สุดซอย แต่ความฝันต้องพังทะลาย เพราะถูกยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เสียก่อน
ปี 2555 ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ วันที่ 14 เมษายน ทักษิณ ฉลองเทศกาลสงกรานต์โดยการขึ้นเวทีปราศรัยบนเวที “คนเสื้อแดง” ที่เมืองเสียมราฐ
ปี 2566 – หลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์โดนยึดอำนาจเมื่อปี 2557 วันที่ 5 สิงหาคม 2566 ปรากฎภาพนายทักษิณและน.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปอวยพรวันเกิดครบรอบ 71 ปี ของ “ฮุน เซน” พร้อมกับนอนพักค้างแรมและรับประทานอาหารกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาที่บ้านเกิดของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมืองตาเขมา จ.กันดาล ก่อนเดินทางกลับไทย
วันที่ 22 สิงหาคม 2567 หลังจาก “ทักษิณ” เดินทางกลับไทยถาวรครั้งแรกในรอบ 18 ปี หลังโดนยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นช่วงที่ถูกที่ถูกเวลา เพราะอำนาจทางการเมืองของ "ทักษิณ" กับ กับ “ฮุน เซน” ได้ส่งต่อไปให้ "เศรษฐา ทวีสิน" และ "ฮุน มาเนต" ทายาททางการเมือง
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ปี 2567 ไทย-กัมพูชากระชับความสัมพันธ์บน "ผลประโยชน์แห่งชาติ" อีกครั้งอย่างเป็นทางการ หลัง “ฮุน มาเนต” นายกรัฐมนตรีกัมพูชาคนปัจจุบันในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ พร้อมกับลงนามและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ 5 ฉบับ
21 กุมภาพันธ์ 2567 ทุกสายตาจับจ้องไปที่การพบกันระหว่าง “ทักษิณ” กับ “ฮุน เซน” ณ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ศูนย์กลางอำนาจแห่งใหม่ จะมีการ “ปิดดีล” พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา บนโต๊ะอาหารมื้อกลางวันหรือไม่