10 ปีเที่ยวบินปริศนา MH 370 สู่การเริ่มค้นหาใหม่

04 มี.ค. 2567 | 07:42 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2567 | 07:43 น.

10 ปีเที่ยวบินปริศนา MH 370 สู่การเริ่มค้นหาใหม่อีกครั้ง ขณะที่วันครบรอบการหายไปปริศนาของการบินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกกำลังใกล้เข้ามา

Good night Malaysian 370 หรือ ราตรีสวัสดิ์ ชาวมาเลเซีย 370 ประโยคส่งสัญญาณวิทยุครั้งสุดท้ายจากห้องนักบินของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 370 ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงหลังจากที่เครื่องบิน บินขึ้นตอนดึกจากกัวลาลัมเปอร์ไปปักกิ่งเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2557 ก่อนที่จะบินออกจากน่านฟ้ามาเลเซีย กัปตัน Zaharie Ahmad Shah ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ พร้อมกล่าวคำทักทายนั้น ไม่กี่นาทีต่อมา เครื่องบินก็หายไปจากการจราจรทางอากาศ 

รายงานระบุว่า เครื่องบินโบอิ้ง  777ขนาดใหญ่ลำนี้ มีความยาวเกือบเท่ากับตึกในเมืองแมนฮัตตัน ในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และสูงกว่าอาคาร 5 ชั้น บนเครื่องบินมีผู้โดยสารทั้งหมด 239 คน ที่หายไปอย่างปริศนา 

แม้จะมีการค้นหาครั้งใหญ่เเละแพงที่สุดในประวัติศาสตร์การบิน ข้อมูลจาก สำนักข่าว Reuters ระบุว่า 1 เดือนหลังจากเกิดเหตุ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการค้นหาและช่วยเหลือผู้สูญหายรวมถึงครอบครัวผู้เกี่ยวข้องอยู่ที่ 54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  แต่ก็ไม่เคยพบเครื่องบินลำดังกล่าว

การหายตัวไปของ MH370 ตกเป็นประเด็นของทฤษฎีมากมายมายาวนาน ตั้งแต่ที่น่าเชื่อถือไปจนถึงที่แปลกประหลาด รายงานขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมครั้งนี้ที่เผยแพร่ในปี 2561 ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวจากการควบคุมการจราจรทางอากาศ 

รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมมาเลเซีย ระบุว่า ทางการกำลังผลักดันให้มีการค้นหาเที่ยวบิน MH370 ของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ อีกครั้ง ในขณะที่วันครบรอบ 10 ปีของการหายไปปริศนาของการบินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่กำลังใกล้เข้ามาอีกไม่กี่วัน 

ขณะที่ญาติและผู้สนับสนุนประมาณ 500 คนรวมตัวกันที่ศูนย์การค้าใกล้กรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อเป็นวันแห่งความทรงจำโดยที่หลายคนจมอยู่กับความโศกเศร้าอย่างเห็นได้ชัด บางส่วนมาจากประเทศจีน เนื่องจากผู้โดยสารเกือบสองในสามของเครื่องบินลำที่หายไปมาจากจีน

ในช่วงเเรกของการสอบสวนเที่ยวบิน MH370 พร้อมผู้โดยสารสูญหาย เจ้าหน้าที่สืบสวนของมาเลเซียไม่ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่เครื่องบินลำดังกล่าวจงใจนำออกนอกเส้นทาง และเศษซาก ซึ่งบางส่วนได้รับการยืนยันและบางส่วนเชื่อว่ามาจากเครื่องบินลำดังกล่าว ได้เกยตื้นขึ้นตามชายฝั่งแอฟริกาและบนเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรอินเดีย 

มาเลเซียร่วมมือกับ โอเชียน อินฟินิตี้ บริษัทสำรวจก้นทะเลของสหรัฐฯ ในปี 2018 เพื่อค้นหามหาสมุทรอินเดียตอนใต้ โดยเสนอที่จะจ่ายเงินสูงถึง 70 ล้านดอลลาร์ หากพบเครื่องบินลำดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ มาเลเซีย จีน และออสเตรเลีย ยุติการค้นหาใต้น้ำมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (130.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นเวลา 2 ปี อย่างไร้ผลในเดือนมกราคม 2560 

 

บริษัทสำรวจก้นทะเลของสหรัฐฯ โอเชียน อินฟินิตี้ ได้รับเชิญให้หารือเกี่ยวกับข้อเสนอการค้นหาล่าสุด หลังจากความพยายามล้มเหลวสองครั้งก่อนหน้านี้  ขณะเดียวกันมาเลเซียจะพูดคุยกับออสเตรเลียเกี่ยวกับความร่วมมือในการค้นหา ต่อเมื่อข้อเสนอของ โอเชียน อินฟินิตี้ ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีของมาเลเซีย

ขณะที่ศาลปักกิ่งเริ่มการพิจารณาคดีค่าสินไหมทดแทนในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารชาวจีนมากกว่า 150 คนอยู่บนเที่ยวบินนี้ โดยญาติๆ เรียกร้องค่าชดเชยจากมาเลเซีย แอร์ไลน์ส, โบอิ้ง, ผู้ผลิตเครื่องยนต์เครื่องบิน โรลส์-รอยซ์ และกลุ่มประกันภัยอลิอันซ์ และอื่นๆ อีกมากมาย