จีนเปิดประชุมสองสภาปี 67 จับตาสี จิ้นผิง ส่งสัญญาณการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ   

04 มี.ค. 2567 | 19:32 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2567 | 23:35 น.

การประชุมสองสภาของจีนซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ประจำปี เริ่มขึ้นแล้วสัปดาห์นี้ โดยการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองฯ เปิดฉากเมื่อวันจันทร์ (4 มี.ค.) จากนั้น การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ จะเริ่มขึ้นในวันนี้ นี่คือเวทีส่งสัญญาณการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนที่โลกต้องจับตา

 

โกลบัลไทม์ส สื่อท้องถิ่นของจีนรายงานว่า การประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งประชาชนจีน (CPPCC-Chinese People's Political Consultative Conference) ชุดที่ 14 เปิดฉากขึ้นแล้วที่มหาศาลาประชาชน ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม และจะปิดฉากลงในเช้าวันที่ 10 มีนาคม รวมเวลาการประชุม 6 วัน โดยที่ประชุมมีกำหนดการสำคัญคือ การรับฟัง พิจารณา รายงานผลงานของรัฐบาล รายงานการเสนอญัตติ และลงคะแนนมติทางการเมืองในเรื่องต่างๆ

นอกจากนี้ CPPCC ยังจะพิจารณาทบทวนผลการให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในปีที่ผ่านมา ซึ่งเน้นให้คำแนะนำเพื่อการสร้างความทันสมัยแก่จีน โดย "เศรษฐกิจ" ถือเป็นประเด็นสำคัญในการให้คำปรึกษา

ส่วน การประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC-National People's Congress)จะเปิดฉากขึ้นในช่วงเช้าวันอังคารที่ 5 มีนาคม และปิดฉากลงในบ่ายวันที่ 11 มีนาคม รวมเวลาการประชุม 7 วัน โดยในส่วนของการประชุม NPC มีวาระสำคัญ ได้แก่ การพิจารณารายงานผลงานของรัฐบาล พิจารณาผลการปฏิบัติงานตามแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติจีน ตลอดปี 2023 และร่างแผนพัฒนาฯ ปี 2024 รวมถึงงบประมาณ และการแก้ไข/เพิ่มเติมกฎหมาย

การประชุมสองสภาของจีนประจำปี 2567 เริ่มขึ้นแล้วในสัปดาห์นี้ ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง (ภาพข่าวซินหัว)

ปีนี้ ที่ประชุมสองสภาซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 2,000 คน จะให้น้ำหนักความสำคัญเป็นพิเศษเกี่ยวกับเศรษฐกิจของจีน เนื่องจากปี 2024 เป็นปีสำคัญที่จีนจะต้องทำให้เป้าหมายและพันธกิจของแผนพัฒนาห้าปีฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) เห็นผลเป็นรูปธรรม และรัฐบาลใหม่ภายใต้การบริหารของนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรี (ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 มี.ค.2566) ก็เตรียมยื่นรายงานผลงานของรัฐบาล (Government Work Report) ให้แก่ที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) เป็นครั้งแรก

โดยปกติแล้ว ที่ประชุม NPC จะพิจารณาผลงานที่ผ่านมาของรัฐบาลและตั้งเป้าหมายการพัฒนาสำหรับปีปัจจุบันและอนาคต

ท่ามกลางกระแสข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนที่สื่อต่างชาติรายงานถึงสภาวะความยากลำบากต่างๆ เช่น วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ของจีน ภาวะเงินฝืด ภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น และการไหลออกของทุนต่างชาติ การประชุมสองสภาจะทำหน้าที่เสมือนหน้าต่างให้ประชาคมโลกได้มองเห็นพลวัตการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีน และทำความเข้าใจกับทิศทางของนโยบายต่างๆที่จีนจะนำมาใช้ในอนาคต

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ สิ่งที่สื่อต่างประเทศให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือ การให้สัญญาณเกี่ยวกับ “ปืนใหญ่ทางเศรษฐกิจ” หรือ bazooka-like stimulus ซึ่งเป็นมาตรการต่างๆที่คาดว่า รัฐบาลจีนจะนำมาใช้ “ระดมยิง” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว

(ภาพข่าวซินหัว)

ท่ามกลางการจับตามองของประชาคมโลก และท่ามกลางความท้าทายตลอดจนปัจจัยกดดันนานัปการ เศรษฐกิจจีนในปีที่ผ่านมา (2023) ซึ่งใช้การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เป็นตัวชี้วัด ก็ยังคงสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ ในการประชุมสองสภาประจำปี จะมีการประกาศเป้าหมายทางเศรษฐกิจ เป้าหมายเกี่ยวกับจีดีพี ตลอดจนการกำหนดทิศทางของนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในปีข้างหน้า

“แน่นอนว่าความสนใจของประชาคมโลกที่มีต่อการประชุมสองสภาจะพุ่งไปที่เป้าหมายการขับเคลื่อนจีดีพีของจีน แต่สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่าบรรดาตัวเลขเป้าหมายนั้นก็คือ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการใหม่ๆที่รัฐบาลจีนจะนำมาใช้ ว่าจะมีผลพวงอย่างไรและจะถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความท้าทายต่างๆได้อย่างไร” บทบรรณาธิการของโกลบัลไทม์สเมื่อวันที่ 4 มี.ค.2567 ระบุ และว่า ทิศทางของนโยบายเหล่านี้ไม่เพียงมีผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน แต่ยังจะนำเสนอโอกาสใหม่ๆสำหรับการพัฒนาของจีนในอนาคต

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน และบรรดาบุคคลในระดับบริหาร

ดังนั้น โลกจึงต้องจับตาและตั้งใจฟังเป็นพิเศษว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน และบรรดาบุคคลในระดับบริหาร จะส่งสัญญาณใดๆ บ้าง เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม และจะมีทางออกอย่างไรสำหรับความท้าทายนานัปการที่จีนกำลังเผชิญอยู่

สื่อระบุว่า  การประชุมสองสภาในปีนี้ ยังมีความน่าสนใจในแง่ที่ว่าเป็นการประชุมในโอกาสครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้งสภาประชาชนแห่งชาติ และครบรอบ 75 ปีของการก่อตั้งสภาที่ปรึกษาทางการเมืองประชาชนจีน

“การประชุมสองสภาเป็นเวทีสำคัญในการนำเสนอประชาธิปไตยของประชาชนทั้งกระบวนการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ร่างกฎหมายและที่ปรึกษานโยบายชั้นนำของจีนให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยพยายามทำความคาดหวังของประชาชนให้กลายเป็นความจริง” นายจาง อี้อู อาจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาด้านการเมืองแห่งชาติ กล่าวให้ความเห็น

ทั้งนี้ จากการสำรวจครั้งล่าสุด จัดทำโดยสื่อของจีนระหว่างวันที่ 5-25 ก.พ.2567 โดยมีกลุ่มตัวอย่างร่วมตอบคำถามการสำรวจจำนวน 6,150,000 คน พบคำว่า หลักนิติธรรม การจ้างงาน การรักษาพยาบาล และการพัฒนาอย่างมีคุณภาพสูง ติดอยู่ใน 10 คำค้นหายอดฮิตที่ชาวเน็ตของจีนมีความวิตกกังวลมากที่สุด

เปิดศูนย์สื่อมวลชนขนาดความจุกว่า 3 พันคนรองรับทัพนักข่าว

เนื่องจากเป็นงานประชุมใหญ่ประจำปีที่มีความสำคัญ จึงมีสื่อมวลชนหลั่งไหลเข้าทำข่าวการประชุมสองสภา โดยปีนี้ ทางการจีนได้เปิดศูนย์สื่อมวลชนสำหรับการประชุมดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. ณ โรงแรมศูนย์สื่อ ในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน โดยทางศูนย์ฯ ระบุว่า มีผู้สื่อข่าวลงทะเบียนเพื่อร่วมรายงานข่าวการประชุมทั้งสองการประชุมแล้ว จำนวนกว่า 3,000 คน โดยผู้สื่อข่าวมากกว่า 1,000 คน มาจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เขตบริหารพิเศษมาเก๊า เกาะไต้หวัน และจากต่างประเทศ

สื่อมวลชนลงทะเบียนเข้าทำข่าวการประชุมครั้งนี้มากกว่า 3,000 คน

(ขอบคุณภาพข่าวซินหัว)

มีการจัดเตรียมโถงแถลงข่าว และห้องสัมภาษณ์ไว้รองรับจำนวนมาก โดยศูนย์ฯ จะใช้อินเทอร์เน็ตในการให้บริการและดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อทำให้การทำงานของผู้สื่อข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

ผู้สื่อข่าวจะได้รับเอกสารการประชุมหลักฉบับอิเล็กทรอนิก ซึ่งจะช่วยให้ผู้สื่อข่าวไม่จำเป็นต้องต่อแถวยาวเพื่อรอรับเอกสารเหล่านี้ อีกทั้งจะมีการจัดเตรียมห้องสัมภาษณ์บริเวณพื้นที่รับรองของเจ้าหน้าที่สภาผู้แทนฯ และสมาชิกคณะกรรมการฯ เพื่อให้บริการที่สะดวกสบายแก่สื่อมวลชนที่เข้ามาสัมภาษณ์

ข้อมูลอ้างอิง