นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนจากกรุงปารีส ถึงภารกิจเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ซึ่งเป็นวันแรกของการเยือน สาธารณรัฐฝรั่งเศส ประเทศแรกในภูมิภาคยุโรปที่นายกฯและคณะเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการว่า ในการพบปะหารือภาคธุรกิจเอกชนในประเทศฝรั่งเศสทั้ง 12 รายนั้น ครอบคลุมทุกแขนงธุรกิจ ตั้งแต่ ยานยนต์ แฟชั่น โรงแรม เครื่องบิน อาหาร และโรงงานอุตสาหกรรม มีผลการหารือแต่ละราย ดังนี้
1. ACCOR group เป็นกลุ่มเชนโรงแรมใหญ่ที่สุดในโลก มีกว่า 100 โรงแรมในไทย บริษัทต้องการเข้ามาวางแผนการทำแผนการท่องเที่ยวร่วมกับรัฐบาล และอยากจะร่วมทุนกับกองทุนไทย เช่น pension fund เพื่อขยายธุรกิจ-การสร้างโรงแรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
2. บริษัท Michelin ผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ บริษัทใช้ยางพาราในไทยจำนวนมาก มีการตั้งโรงงานในประเทศไทยทำธุรกิจมานาน บริษัทขอให้รัฐบาลไทยช่วยในเรื่องการทำธุรกิจให้สะดวกง่ายดายมากขึ้น (Ease of Doing Business)
3. Federation Haute Couture สมาคมแฟชั่นชั้นสูง เป็นสมาพันธ์เพื่อส่งเสริมนักออกแบบรุ่นใหม่ ทางสมาพันธ์แสดงความต้องการอยากทำกิจกรรมร่วมกับไทย ทั้งอีเวนท์ แฟชั่นโชว์ และสร้างสถาบันให้ความรู้กับนักเรียนไทย นายกฯ ได้เชิญสมาพันธ์ฯ มาทำอีเวนท์ในไทยช่วงเมษายนนี้ โดยเสนอให้จัดกิจกรรมคล้าย Paris Fashion Show ในกรุงเทพฯ
4. Comité Colbert เป็นองค์กรที่พยายามผลักดันให้แบรนด์ต่างๆ ทั่วโลกได้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นองค์กรที่ให้ความรู้แก่แบรนด์และนักออกแบบทั่วโลก รวมทั้งในด้าน soft power ในการหารือครั้งนี้ นายกฯ ได้เชิญองค์กรดังกล่าวให้เข้ามาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและนักออกแบบไทย โดยผ่านความร่วมมือกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
5. Michelin guide บริษัทเห็นว่า ไทยมีศักยภาพมากด้านอาหาร และพร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศไทย เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาหาประสบการณ์ในด้านอาหารในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งไทยเองก็หวังที่จะยกระดับความร่วมมือกับ Michelin เพื่อช่วยส่งเสริมในการร่วมจัดงานอีเวนท์ต่างๆ ทั้งในไทย และต่างประเทศ เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทย โดยช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2567 นี้ Michelin guide จะมาจัดงานเทศกาลอาหารระดับโลกที่จังหวัดเชียงใหม่
6. บริษัท Richemont เป็นกลุ่มบริษัทฯที่เป็นเจ้าของแบรนด์ดังระดับโลก อาทิ Cartier, Van Cleef & Arpels และ IWC ถือบริษัทสินค้าหรู (luxury goods)รายใหญ่อันดับ 3 ของโลก โดยประเทศไทยมียอดการขายเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ในการหารือครั้งนี้ นายกฯ ได้ขอความร่วมมือจากบริษัท ในการทำ Collaboration กับแบรนด์ของไทย เพื่อส่งเสริมศักยภาพของนักออกแบบไทย รวมถึงวัตถุดิบไทย ที่มีคุณภาพ ตลอดจนเชิญชวนให้มาทำกิจกรรม อาทิ popup store, co-promotion กับกิจกรรมอื่นๆ ที่จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ฝ่าย Richemont ได้หารือประเด็นการคืนภาษีอากร (tax refund) โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมให้การสนับสนุน เป็นส่วนหนึ่งของ Ease of Doing Business ในประเทศไทย
7. บริษัท Valeo ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบและการผลิตส่วนประกอบ ระบบบูรณาการ และโมดูล สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ มีชื่อเสียงในด้านนวัตกรรมในการพัฒนาและการผลิตเทคโนโลยี สำหรับเครื่องยนต์สันดาปแบบดั้งเดิมและยานพาหนะไฟฟ้า โดยนายกฯ เชิญชวนบริษัท Valeo ให้มาขยายการลงทุนในประเทศไทย ผลักดันการสร้างระบบนิเวศน์ให้กับรถ EV เป็นอีกหนึ่งก้าวที่ขยับเข้าใกล้การเป็นศูนย์กลางยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) และต่อยอดการเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียของประเทศไทย
8. บริษัท Airbus กับนายกฯได้หารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเรื่องการเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของไทย โดยฝ่าย Airbus Group มีเทคโนโลยีด้านความมั่นคงทางอากาศ ส่วนไทยก็มีศักยภาพในการขยายศูนย์ความเป็นเลิศระดับภูมิภาคด้านการสนับสนุนและบริการปฏิบัติการบิน
9. บริษัท Forvia เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่มีการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ ซึ่งจะนำไปสู่การใช้พลังงานสะอาด สนับสนุนให้โรงงานผลิตที่ยังใช้ระบบ ICE ให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน
10. บริษัท Essilor Luxottica ผู้ผลิตเลนส์แว่นตา บริษัทมีการตั้งโรงงานในประเทศไทยและชื่นชมแรงงานฝีมือของไทย อีกทั้งยังมีแผนที่จะเพิ่มพนักงานจาก 6,000 คน เป็น 12,000 คน จึงหวังให้รัฐบาลไทยสนับสนุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ( human resource development) และขอให้ไทยเดินหน้าเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป (อียู) ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
11. บริษัท Stellantis ผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 4 ของโลก ได้มีการพูดคุยเพื่อให้เกิดความร่วมมือ ซึ่งบริษัทฯ สนใจจะลงทุนในไทย และรัฐบาลไทยก็พร้อมให้การสนับสนุน
12. บริษัท YouTube นายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญที่เป็น Global Head of Music ของ YouTube ซึ่งเป็นผู้ค้นพบและพัฒนาศิลปินชั้นนำ อาทิ Jay z ,Bon Jovi, Mariah Carey เเละเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องธุรกิจดนตรี โดยทาง YouTube เชิญชวนนายกฯ ให้มีช่อง YouTube เป็นของตัวเองโดยจะส่งหนังสือและส่งลิสต์มาให้ว่ามีผู้นำที่มีช่อง YouTube เป็นของตัวเองแล้วกว่า 20 คนมีใครบ้างและต้องทำอะไรบ้าง
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้พูดกันเกี่ยวกับเป้าหมายที่รัฐบาลไทยกำหนดให้ปีหน้า (2025) เป็นปีของมิวสิคเฟสติวัล หรือเทศกาลดนตรี มีการหารือเกี่ยวกับแนวทางที่จะจัดงานและการเชิญนักร้องระดับ A list มาร่วมงานเทศกาลดนตรีในไทย