ปูตินคว้าชัยชนะเลือกตั้งปธน. ขึ้นแท่นผู้นำครองอำนาจนานที่สุดของรัสเซีย

17 มี.ค. 2567 | 22:25 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มี.ค. 2567 | 00:13 น.

ประธานาธิบดี “วลาดิเมียร์ ปูติน” คว้าชัยชนะขาดลอยในการเลือกตั้งช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เขาได้ครองตำแหน่งต่ออีกอย่างน้อย 6 ปี และจะเป็นผู้นำที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัสเซียในรอบกว่า 200 ปี

 

ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายใน การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งในครั้งนี้มีการขยายระยะเวลาในการลงคะแนนเสียงทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วัน (15-17 มี.ค.) ซึ่งจากการทำเอ็กซิตโพลล์และผลการนับคะแนนเบื้องต้น พบว่า ปูตินในวัย 71 ปี ได้คะแนนเสียงไปเกือบ 88% และนั่นหมายความว่า เขาจะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียต่อไปอีกเป็นเวลาอย่างน้อย 6 ปี

ทั้งนี้ ปูตินก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี 1999 (พ.ศ.2542) ชัยชนะครั้งล่าสุดนี้จะทำให้เขาแซงหน้าโจเซฟ สตาลิน ในฐานะผู้นำที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดของรัสเซียในรอบกว่า 200 ปี

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คะแนนเสียง 87.8% ที่ปูตินได้รับ ยังถือเป็นตัวเลขสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการเลือกตั้งมาในรัสเซียหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตอีกด้วย

ปูติน ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

กระนั้นก็ตาม การนับคะแนนขั้นต้นเกิดขึ้นท่ามกลางการประท้วงของฝ่ายตรงข้ามหลายพันคนในกรุงมอสโก แต่ขณะเดียวกัน กล่าวได้ว่านี่คือการเลือกตั้งที่ประชาชนแสดงความสนใจและมาลงคะแนนอย่างคึกคักตั้งแต่วันแรกของเลือกตั้งซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันศุกร์ (15 มี.ค.) ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดตามคูหาเลือกตั้งต่าง ๆ โดยแทบไม่มีคู่แข่งสำคัญหรือผู้สมัครทางเลือกอื่นนอกเหนือจากปูติน หลังจากการเสียชีวิตของอเล็กเซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลรัสเซีย เมื่อเดือนที่แล้ว

สื่อต่างประเทศรายงานว่า ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียครั้งนี้ มีผู้ลงสมัครเพียง 4 คน ซึ่งนอกเหนือจากนายปูตินแล้ว ก็ยังมีอีก 3 คน ได้แก่ นายวลาดิสลาฟ ดาวานคอฟ จากพรรคประชาชนใหม่ นายลีโอนิด สลุตสกี จากพรรคเสรีประชาธิปไตย และนายนิโคไล คาริโตนอฟ จากพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งล้วนแต่เป็นคู่แข่งที่ถูกควบคุมในระบบการเมืองของรัสเซีย

แม้ยังไม่มีตัวเลขจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิครั้งล่าสุดนี้ออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ฝ่ายเครมลินตั้งเป้าว่าจะมีประชาชนจำนวนมากออกมาใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้

การเลือกตั้งปธน.รัสเซียครั้งนี้ มีผู้สมัครลงชิงชัย 4 คน

ผู้ให้การสนับสนุนถ่ายภาพกับสแตนดี้ของประธานาธิบดีปูตินหน้าห้างสรรพสินค้ากลางกรุงมอสโก

จากสถิติเดิมของการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียเมื่อปี 2561 ครั้งนั้นปูตินได้รับคะแนนเสียง 77.5% และมีประชาชนออกมาลงคะแนนเสียงในสัดส่วนถึง 67.5% แต่สำหรับการเลือกตั้งในปีนี้ คาดว่าจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์และลงคะแนนให้นายปูตินจะมีจำนวนมากกว่าสถิติเดิม

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่ออกมาลงคะแนนในกรุงมอสโก และนครเซนต์สปีเตอร์เบิร์ก โดยมีประชาชนหลายร้อยคนและอาจเป็นพันคนที่เข้าคิวยาวตามคูหาเลือกตั้งที่กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกัน ฝ่ายตรงข้ามของประธานาธิบดีปูตินและพันธมิตรของนายนาวาลนี แกนนำฝ่ายค้านที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานนี้ ต่างก็ออกมาปลุกระดมให้มวลชนร่วมชุมนุมตามคูหาเลือกตั้งทั่วประเทศเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเลือกคู่แข่งอีก 3 คนของปูตินหรือ “ไม่เลือกใครเลย” ภายใต้ชื่อการประท้วงว่า “Noon against Putin”

นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวชุมนุมต่อต้านปูตินภายใต้แคมเปญเดียวกันในต่างประเทศอีกด้วย 

ผู้ประท้วงในนาม “Noon against Putin” ในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี

ข้อมูลจากกลุ่ม OVD-Info ซึ่งติดตามการจับกุมผู้ต้องหาทางการเมืองในรัสเซีย ชี้ให้เห็นว่า มีผู้ถูกจับกุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (17 มี.ค.) จำนวนมากกว่า 50 คน ใน 14 เมืองทั่วรัสเซีย นอกจากนี้ ยังมีรายงานการประท้วงตามสถานทูตของรัสเซียในหลายประเทศอีกด้วย เช่นที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี นางยูเลีย นาวาลนายา ภรรยาหม้ายของนายนาวาลนี อดีตแกนนำฝ่ายค้านรัสเซียผู้วายชนม์  ได้ร่วมชุมนุมกับผู้ประท้วงที่หน้าสถานทูตรัสเซียในประเทศเยอรมนี

"อเล็กเซต่อสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐาน คือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การเลือกตั้งที่ยุติธรรม ประชาธิปไตย และสิทธิของเราในการมีชีวิตโดยไร้ซึ่งสงครามและการคอร์รัปชัน" นาวาลนายา กล่าวท่ามกลางบรรยากาศการชุมนุมเมื่อวันศุกร์ (15 มี.ค.) ท่ามกลางเสียงตะโกน"ปูตินไม่ใช่รัสเซีย และรัสเซียก็ไม่ใช่ปูติน"

สำหรับประวัติการดำรงตำแหน่งผู้นำรัสเซียของปูตินนั้น ถือได้ว่า เขาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีของรัสเซียมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 (ค.ศ.1999) ดังนี้ 

  • ปี 2542 ถึง 2543 เป็นนายกรัฐมนตรี
  • ปี 2543 ถึง 2551 เป็นประธานาธิบดี
  • ปี 2551 ถึงปี 2555 เป็นนายกรัฐมนตรี
  • ปี 2555 ถึงปัจจุบัน (2567) เป็นประธานาธิบดี 

การสลับตำแหน่งดังกล่าวเนื่องจากรัฐธรรมนูญรัสเซียไม่ให้เป็นประธานาธิบดีเกินสองสมัยติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายน 2564 ภายหลังการลงประชามติ ปูตินได้ลงนามในกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมถึงการอนุญาตให้ตัวเขาลงเลือกตั้งได้อีกสองสมัย ซึ่งอาจขยายเวลาการดำรงตำแหน่งของเขาไปถึงปี 2579 (ค.ศ. 2036) 

ถือได้ว่า วลาดิเมียร์ ปูติน เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีรัสเซียมาต่อเนื่องยาวนานถึง 25 ปี (นับตั้งแต่ปี 2542) และชัยชนะครั้งล่าสุดนี้ ก็จะทำให้เขาครองตำแหน่งอีกอย่างน้อย 6 ปี กลายเป็นผู้นำรัสเซียที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดในรอบกว่า 200 ปี โดยผู้ครองสถิติก่อนหน้านี้คือ โจเซฟ สตาลิน ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตเป็นเวลา 28 ปี

นอกจากนี้ ปัจจุบัน ปูตินยังเป็นประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดเป็นอันดับสองในภูมิภาคยุโรปรองจากนายอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ผู้นำเบลารุส ที่ครองอำนาจต่อเนื่องยาวนานถึง 30 ปี