บลูมเบิร์ก ตีข่าว "สยามพิวรรธน์" เล็งทำ IPO ครั้งใหญ่สุดของไทยในรอบ 2 ปี

21 มี.ค. 2567 | 07:59 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มี.ค. 2567 | 09:41 น.

สื่อใหญ่บลูมเบิร์ก รายงานอ้างแหล่งข่าว ระบุ "สยามพิวรรธน์" เจ้าของห้างสรรพสินค้าหรูหลายแห่งของไทย กำลังพิจารณาเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) มูลค่า 1.7-2.6 หมื่นล้านบาท นับเป็นการทำ IPO ครั้งใหญ่ที่สุดของไทยในรอบ 2 ปี

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (21 มี.ค.) อ้างอิงแหล่งข่าวว่า บริษัทสยามพิวรรธน์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าหรูหลายแห่ง เช่น สยามพารากอน และไอคอนสยาม กำลังพิจารณาที่จะ เสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) ซึ่งจะเป็นการทำ IPO ครั้งใหญ่ที่สุดของไทยในรอบ 2 ปี

แหล่งข่าวซึ่งไม่ประสงค์ออกนามเปิดเผยกับบลูมเบิร์กว่า สยามพิวรรธน์กำลังเจรจากับธนาคารพาณิชย์ต่างชาติเพื่อให้ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการทำ IPO ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นก่อนสิ้นปีนี้ พร้อมกับระบุว่า สยามพิวรรธน์มีเป้าหมายที่จะระดมเงินทุนมูลค่า 500-750 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.7-2.6 หมื่นล้านบาท จากการทำ IPO โดยขณะนี้บริษัทยังคงอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา และอาจตัดสินใจที่จะไม่ทำ IPO

ทั้งนี้ การพิจารณาทำ IPO ของสยามพิวรรธน์มีขึ้นในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเริ่มฟื้นตัว หลังจากการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบในช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด โดยข้อมูลของรัฐบาลไทยระบุว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยทะลุ 8 ล้านคนแล้วในปีนี้

บลูมเบิร์ก ตีข่าว \"สยามพิวรรธน์\" เล็งทำ IPO ครั้งใหญ่สุดของไทยในรอบ 2 ปี

สำนักข่าวบลูมเบิร์กเคยรายงานข่าวเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว (2566) ว่า สยามพิวรรธน์วางแผนที่จะขยายธุรกิจในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย โดยในเวลานั้น บริษัทได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด เป็นที่ปรึกษาด้านการขยายธุรกิจและการระดมเงินทุน ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ในการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย

ข้อมูลจากบลูมเบิร์กระบุว่า บริษัทของไทยที่เคยระดมทุนจากการทำ IPO ได้มากที่สุดในปี 2565 คือบริษัทไทยประกันชีวิต โดยระดมทุนได้มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของฐานเศรษฐกิจ พบว่า ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงแผนงานที่วางไว้ ปัจจุบันยังไม่มีรายละเอียดในการขออนุมัติจากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. และการแจ้งข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) แต่อย่างใด

รายงานข่าวแจ้งว่า ทางสยามพิวรรธน์เคยชี้แจงเมื่อเดือนกันยายน 2566 ว่ากำลังศึกษาความเป็นไปได้ สำหรับปัจจุบันนั้น คณะกรรมการบริษัท กำลังพิจารณาข้อเสนอต่างๆของที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป

ทั้งนี้ บริษัทสยามพิวรรธน์ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2502 โดยพลเอกเฉลิมชัย จารุวัสตร์  โดยใช้ชื่อในเวลานั้นว่าบริษัทบางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอล โฮเต็ลส จำกัด จากนั้นในปี 2509 ได้เปิดโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตอล โรงแรมห้าดาวระดับนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์แรกของบริษัท

ต่อมาในปี 2516 เปิดสยามเซ็นเตอร์ ศูนย์การค้ามาตรฐานนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทยและนำธุรกิจศูนย์การค้ามาสู่วงการค้าปลีกในประเทศไทย จากนั้นในปี 2540 ได้เปิดสยามดิสคัฟเวอรี่ ศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์แห่งแรกของประเทศไทย ควบคู่กับอาคารสำนักงานระดับหรู สยามพิวรรธน์ทาวเวอร์ 

ปี 2545 สยามพิวรรธน์ตัดสินใจปิดกิจการโรงแรม สยามอินเตอร์คอนติเนนตอลหลังดำเนินกิจการมาได้ 35 ปี และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดเพื่อเริ่มโครงการก่อสร้าง “ศูนย์การค้าสยามพารากอน” 

ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทสยามพิวรรธน์ในปีพ.ศ. 2546 และเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจค้าปลีกชั้นนำ เป็นเจ้าของและผู้บริหารจุดหมายปลายทางระดับโลก อย่าง สยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์, สยาม ดิสคัฟเวอรี, ไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ ถือเป็นผู้นำในตลาด Luxury Retail ในประเทศไทย ที่ได้รับความไว้วางใจจากแบรนด์ดังระดับโลก

ยอดขายลักชัวรีแบรนด์ที่สยามพารากอน และไอคอนสยาม ยังคงติดอันดับสูงสุดในเอเชีย และบางแบรนด์ติดอันดับระดับท็อปของโลก ทำให้ศูนย์การค้าของกลุ่มสยามพิวรรธน์ ยังครองแชมป์ส่วนแบ่งตลาดรวมกันสูงสุดในตลาด Luxury Retail ในประเทศไทย และยังเป็นศูนย์การค้าที่เป็น Preferred choice สำหรับแบรนด์ดังต่างๆ

ปัจจุบันสยามพารากอนและไอคอนสยาม มีลูกค้าทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้บริการกว่า 3.5 แสนคนต่อวัน 
 

ข้อมูลอ้างอิง