อินโดฯ เร่งหาตลาดใหม่ทดแทนยุโรป หลังอียูออกกฎเหล็กอนุรักษ์ป่าไม้

24 มี.ค. 2567 | 23:30 น.

อินโดนีเซียต้องเบนเข็มพุ่งการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากไม้ มาที่ตลาดใหม่ในแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งรวมถึงอาเซียน และอินเดีย ทดแทนตลาดใหญ่ดั้งเดิมอย่างสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีกฎระเบียบเข้มงวดมากขึ้นเพื่อปกป้องทรัพยากรป่าไม้ของโลก

อินโดนีเซีย กำลังมองหา ตลาดใหม่ สำหรับ เฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่ทำจากไม้ หลังได้รับแรงกดดันจากกฎระเบียบใหม่ของ สหภาพยุโรป (อียู) ที่ออกมาเพื่อปกป้องทรัพยากรป่าไม้และต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ต้องเบนเข็มพุ่งการส่งออกมาที่ตลาดใหม่ในแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งรวมถึงอาเซียน และอินเดีย

ทั้งนี้ อียูเป็นตลาดใหญ่ที่นำเข้าเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม้ของอินโดนีเซีย แต่กฎระเบียบใหม่ที่มุ่งอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของโลก กำลังส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก ซึ่งจำเป็นต้องแสดงหลักฐานประกอบการส่งออกสินค้ามายังอียูว่า ผลิตภัณฑ์ทั้งหลายนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวโยงกับการตัดไม้ทำลายป่า

นิคเคอิ เอเชีย สื่อใหญ่ของญี่ปุ่นรายงานว่า กฎระเบียบว่าด้วยการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Deforestation Regulation: EUDR) กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันปาล์ม กาแฟ และโกโก้ ต้องจัดทำคำชี้แจงการตรวจสอบสถานะเพื่อพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์ของตนไม่ได้มาจากพื้นที่ที่ถูกตัดไม้ทำลายป่า หรือนำไปสู่การเสื่อมโทรมของป่า

นอกจากนี้ ผู้ค้าและองค์กรอื่นๆ ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆ ในอียู จะมีเวลาจนถึงสิ้นปี 2024 (พ.ศ.2567) ในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ EUDR อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดเล็กได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบสถานะดังกล่าวไปจนถึงกลางปีหน้า (​​2025)

ผู้ค้าและองค์กรอื่นๆ ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆ ในอียู จะมีเวลาจนถึงสิ้นปี 2024 ในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ EUDR

"ก่อนหน้านี้เราส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของเราไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป เช่น เยอรมนี แต่ปัจจุบันไม่ใช่อีกต่อไปแล้วเนื่องจากอียูมีกฎระเบียบที่มากขึ้น" เอสเตอร์ เซซิเลีย ตัวแทนฝ่ายการตลาดของบริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์และสินค้าหัตถกรรมจากไม้ ในเมืองยอกยาการ์ตารายหนึ่งกล่าวกับนิคเคอิ เอเชีย

เมืองยอร์กยาการ์ตานั้น ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตเฟอร์นิเจอร์ของอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ในภูมิภาคชวาตอนกลาง

บริษัทดังกล่าวเป็นผู้ผลิตและส่งออกเฟอร์นิเจอร์ขายส่งมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การผลิตสินค้าขนาดเล็ก เช่น เขียงและเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่ทำจากไม้ ป้อนให้กับร้านอาหารและโรงแรมต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ตอนนี้เรามุ่งเน้นไปที่ตลาดในเอเชีย เช่น ฮ่องกงและสิงคโปร์ เนื่องจากสิงคโปร์มีกฎระเบียบที่เข้มงวดน้อยกว่ายุโรป” เซซิเลียกล่าว

จากข้อมูลขององค์กรกรีนพีซ (Greenpeace) พบว่า ป่าของอินโดนีเซียเป็นถิ่นที่อยู่ของพืช สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และนกถึง 15% ของโลก แต่ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ป่าฝนอินโดนีเซียมากกว่า 74 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าประเทศเยอรมนีถึงสองเท่า ถูกตัดไม้ เผา หรือทำให้เสื่อมโทรม

ข้อมูลของ Greenpeace ชี้ว่า ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ป่าฝนของอินโดนีเซียมากกว่า 74 ล้านเฮกตาร์ ถูกตัดไม้ เผา หรือทำให้เสื่อมโทรม

รัฐบาลอินโดนีเซียมองว่า กฎใหม่ของสหภาพยุโรปมีผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยของประเทศอินโดนีเซียประมาณ 15 ล้านถึง 17 ล้านคน จากสินค้าโภคภัณฑ์ในประเทศ 7 ชนิด ได้แก่ ไม้ ปศุสัตว์ โกโก้ น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง และยางพารา

นายซุลกิฟลี ฮาซัน รัฐมนตรีกระทรวงการค้าอินโดนีเซีย กล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ว่า กฎระเบียบดังกล่าวของอียู เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างมาก และเสริมว่า “เราจะโต้กลับ เจรจา และต่อสู้ต่อไป”

ก่อนหน้านั้น ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย และประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ซึ่งเคยเป็นนักธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ก่อนเข้าสู่แวดวงการเมือง ได้ยืนยันคำมั่นที่จะร่วมมือกันในการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศของตนเอง

ทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก ผู้นำทั้งสองประเทศเคยวิพากษ์วิจารณ์กฎระเบียบ EUDR ของอียู ว่าเป็นภัยคุกคามต่อเกษตรกรรายย่อยของทั้งสองประเทศ

อินโดนีเซียยังได้เปิดตัวระบบการรับประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ (SVLK) ของตนเอง ขอบคุณภาพจาก EIA

ข้อมูลจาก สมาคมอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และหัตถกรรมอินโดนีเซีย (HIMKI) ชี้ว่า อุตสาหกรรมดังกล่าว กำลังเผชิญกับความท้าทาย เนื่องจากภาคการส่งออกที่อ่อนแอลง ในไตรมาสที่สามของปี 2566 การส่งออกเฟอร์นิเจอร์และหัตถกรรมจากไม้ของอินโดนีเซีย มีมูลค่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 28% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากการเผชิญหน้าทางภูมิรัฐศาสตร์โลกและภาวะเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อตลาดทั่วโลก

อับดุล โซเบอร์ ประธานสมาคม HIMKI กล่าวในแถลงการณ์ว่า ทางกลุ่มกำลังพุ่งเป้าหมายไปที่ตลาดเกิดใหม่ หรือตลาดอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากตลาดดั้งเดิมอย่างยุโรปและสหรัฐอเมริกา สถานการณ์ในตลาดหลักสำหรับเฟอร์นิเจอร์ไม้และงานฝีมือของอินโดนีเซียที่ตกต่ำลง ทำให้สมาคมต้องเร่งดำเนินการรับมือในทันที โดยเรียกร้องให้ผู้ประกอบการขยายตลาดไปยังพื้นที่ใหม่ๆเพื่อทดแทน ซึ่งรวมถึงประเทศในอาเซียน และอินเดียซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็วมาก

“อินเดียจะยังคงเติบโตอย่างทวีคูณในทศวรรษหน้า พร้อมกับการขยายโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อเมืองใหญ่ ตลอดจนโครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่สนับสนุนการก่อสร้างที่พักอาศัยใหม่ๆ และพื้นที่อาคารสำนักงาน” โซเบอร์กล่าว

สมาคมฯ มองว่าตลาดแอฟริกา เช่น อียิปต์ มีศักยภาพสูง เช่นเดียวกับตลาดอาเซียน ซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขากล่าวด้วยว่า เขตการค้าเสรีอาเซียนหรือ AFTA ซึ่งมีเป้าหมายการลดกำแพงภาษีภายในชาติสมาชิก จะช่วยขยายฐานลูกค้าในภูมิภาคดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการขายเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม้ อินโดนีเซียยังได้เปิดตัวระบบการรับประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ (Timber Legality Assurance System: SVLK) ของตนเอง ซึ่งช่วยให้มั่นใจได้ว่า ไม้ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า มาจากแหล่งที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีแหล่งกำเนิดที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ระบบ SVLK ยังขาดการยอมรับในระดับสากล

“ความท้าทายคือจะทำให้ระบบ SVLK เป็นที่ยอมรับในฐานะส่วนหนึ่งของ EUDR ได้อย่างไร” นายคาดิน เบอร์นาร์ดิโน เวกา รองประธานฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของหอการค้าและอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย (Kadin Indonesia) ให้ความเห็น และว่า ทางหอการค้าฯ กำลังมองหาช่องทางขยายโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่ให้ความสำคัญกับแนวทางปฏิบัติทางการค้าที่ "ยุติธรรมและยั่งยืน" ร่วมกับพันธมิตรในตลาดรูปแบบใหม่ รวมถึงตลาดที่อยู่นอกสหภาพยุโรปด้วย

“นอกเหนือจากการดำเนินการตามกฎเกณฑ์ของ EUDR แล้ว เราเน้นย้ำว่า ความท้าทายทางเศรษฐกิจมหภาค เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักในการขยายการส่งออกของอินโดนีเซียสู่ตลาดใหม่ๆ นอกเหนือจากคู่ค้าเดิมที่มีอยู่”  เขายังย้ำด้วยว่า แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับกระแสโลก ที่ซึ่งศูนย์กลางของการเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังโยกย้ายจากประเทศที่พัฒนาแล้วไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา

ข้อมูลอ้างอิง