ชาวสวนยาง 5 ล้านไร่ เคว้ง เสี่ยงเจอกฎเหล็ก EU เล่นงานบุกรุกป่า

07 มี.ค. 2567 | 00:27 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2567 | 01:18 น.

สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางฯ บี้เร่งรัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรชาวยางพารา 5 ล้านไร่ อยู่ในพื้นที่เสี่ยงบุกรุกป่า เจอกฎเหล็ก EURD ของอียู ซึ่งจะมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่สิ้นปี 2567 เล่นงานหนัก

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้สมาคมฯ ต้องการให้รัฐบาลเร่งเข้ามาดูแลพื้นที่การปลูกยางพารา ประมาณ 5 ล้านไร่ ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงและอาจเข้าข่ายบุกรุกพื้นที่ป่า โดยเฉพาะในเขตป่าสงวน หลังจากกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR  ของสหภาพยุโรป (อียู) จะเริ่มมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีพื้นที่การปลูกยางพาราประมาณ 30 ล้านไร่ ซึ่งได้มีการลงทะเบียนที่สามารถนำมาใช้เป็นพื้นฐานรองรับมาตรการสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า EUDR แล้ว ประมาณ 25 ล้านไร่ ซึ่งเหลืออีก 5 ล้านไร่ ที่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนเข้าข่ายบุกรุกพื้นที่ป่า

“สมาคมฯ อยากรัฐบาลเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้โดยเร่งด่วน เพราะปัญหาสวนยาง 5 ล้านไร่ ถือว่าเป็นจุดบอดที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ายางพาราไปยัง EU โดยผู้ประกอบการค่อนข้างกังวล เพราะเขาใช้เหตุผลดังกล่าวในการกดราคายางพาราส่งออก”

นายอุทัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้เคยมีการยื่นเรื่องสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรสวนยางที่อยู่ในป่าสงวน โดยเปิดให้เกษตรกรกลุ่มนี้ทำการเช่าพื้นที่การปลูก เพื่อไม่ให้เข้าข่ายการบุกรุกพื้นที่ป่า หลังจากที่มีการยื่นเอกสารแล้ว อดีตนายกฯ ก็สั่งการไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือเวียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีความชัดเจน

ทั้งนี้ยอมรับว่า พื้นที่การปลูกสวนยางพาราที่อยู่ในเขตป่าสงวนถือว่าเป็นจุดบอดของประเทศไทย เพราะทำให้ EU สามารถกดราคาส่งออกยางพาราได้ โดยให้เหตุผลว่าประเทศไทยยังมีเกษตรกรที่ทำสวนยางอยู่ในป่าสงวน ซึ่งเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม และ EU อ้างข้อนี้มาตลอดเพื่อกดราคา

ดังนั้นหากรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้เรื่องของ EUDR ในเขตป่าสงวนของประเทศไทยได้เสร็จสิ้น ในอนาคตอาจจะส่งผลกระทบไปถึงแผนการขายคาร์บอนเครดิตในพื้นที่สวนยางพาราทั่วประเทศไทย มีอยู่กว่า 30 ล้านไร่ด้วย

“ประเทศไทยถือว่าเป็นแหล่งผลิตยางพาราที่มีคุณภาพ เราควรรักษามาตรฐานและปรับปรุงในส่วนที่เป็นจุดบอดเพื่อที่จะให้เขาไม่สามารถโจมตีเราได้ ซึ่งที่ผ่านมายางพารารวมผลิตรวมถึงผลิตภัณฑ์ยางในประเทศสามารถสร้างรายได้มากกว่า 500,000 ล้านบาทต่อปี เป็นรายได้ที่เข้าประเทศมากที่สุดในกลุ่มสินค้าเกษตรทุกชนิด”

สำหรับสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรไทย ภายใต้กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 และจะมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2567 โดยมาตรการ EUDR ครอบคลุม 7 กลุ่มสินค้า คือ โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โค และไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปของสินค้าเหล่านี้

โดยปี 2566 การส่งออกสินค้าภายใต้มาตรการ EUDR จากไทยไป EU มีมูลค่า 455.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 37.14% จากปีก่อนหน้า โดยเรียงตามมูลค่าการส่งออกสูงสุดคือ ยางพารา มีมูลค่า 386.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วน 84.85% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าภายใต้มาตรการ EUDR

สำหรับมาตรการ EUDR จะใช้กับผู้ประกอบการ (Operators) และผู้ค้า (Traders) ที่จะวางจำหน่ายสินค้าในตลาดอียู โดยสินค้าต้องผ่านเงื่อนไข 3 ข้อ คือ

  1. สินค้าต้องไม่มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า
  2. สินค้าต้องมีกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต
  3. ต้องมีการตรวจสอบและประเมินสินค้า

โดยการดำเนินการของไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้า ต้องจัดเตรียมข้อมูลตามเงื่อนไขของกฎหมาย EUDR ให้พร้อม เนื่องจากผู้ประกอบการและผู้ค้า EU จะซื้อสินค้าจากผู้ผลิตที่สามารถให้ข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด โดยข้อมูลสำคัญที่จะต้องเตรียมให้มี คือ ข้อมูลเพื่อยืนยันว่าสินค้าไม่ได้มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า