นายแซม แบงค์แมน-ฟรีด อดีตมหาเศรษฐีโลกวัย 32 ปี ผู้ก่อตั้ง บริษัทเอฟทีเอ็กซ์ (FTX) แพลตฟอร์มเทรดเงินคริปโต ถูกตัดสินว่ามีความผิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 เขาต้องเผชิญกับเส้นทางชีวิตที่หักมุม จากที่เคยประสบความสำเร็จทางธุรกิจ เป็นที่ยอมรับจากคนดังในสังคม และเคยเป็นมหาเศรษฐีอันดับสองของโลก เขาถูกผู้พิพากษาลิวิส เอ เเคปแลน ผู้ซึ่งพิจารณาคดีนี้ที่ศาลในเเมนฮัตตันเมื่อ 4 เดือนก่อน ตัดสินการลงอาญาเมื่อวันพฤหัสบดี (28 มี.ค.) นั่นคือโทษจำคุก 25 ปี
ผู้พิพากษาเเคปแลนกล่าวว่า โทษจำคุกในครั้งนี้สะท้อนความเสี่ยงที่ว่า “ชายคนนี้อาจจะอยู่ในสถานะที่ทำสิ่งเลวร้ายมาก ๆ ในอนาคตได้"
ด้านอัยการระบุว่า แบงค์แมน-ฟรีด สร้างความสูญเสียมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ต่อนักลงทุน ลูกค้าและผู้ให้เงินกู้ ด้วยการ "นำเงินไปใช้อย่างผิด ๆ" เพื่อส่งเสริมความทรงอิทธิพลของตัวเขาเองในธุรกิจคริปโต รวมทั้งนำเงินไปใช้จ่ายส่วนตัวในการใช้ชีวิตหรูหรา
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ก่อนวันฟังคำตัดสินลงโทษ อดีตดาวรุ่งวงการคริปโตผู้นี้กล่าวว่า "ชีวิตที่ทำประโยชน์ได้ของผมน่าจะจบลงแล้ว มันเป็นเช่นนั้นมาสักพักหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ก่อนผมถูกจับ"
แบงค์แมน-ฟรีด เคยบอกกับศาลว่า เขาเองต้องการเพียงแค่ปฏิวัติวงการเงินดิจิทัลด้วยเเนวคิดใหม่ๆ และต้องการตอบเเทนสังคม โดยไม่เคยต้องการโกงเงินผู้ใด
นายแซม แบงค์แมน-ฟรีด เป็นผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ เอฟทีเอ็กซ์ (FTX) ซึ่งเป็นบริษัทซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีรายใหญ่ ที่ประสบปัญหาจนล้มละลาย เขาถูกจับกุมตัวในบาฮามาสเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2565 ตามคำขอของทางการสหรัฐ
อัยการสูงสุดของบาฮามาสออกแถลงการณ์ในช่วงเวลานั้นว่า การจับกุมตัวนายแบงค์แมน-ฟรีด เกิดขึ้นหลังจากทางการสหรัฐแจ้งว่าได้ยื่นฟ้องนายแบงค์แมน-ฟรีดในคดีอาญา โดยหน่วยงานสหรัฐและบาฮามาสได้ทำการตรวจสอบว่า นายแบงค์แมน-ฟรีดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้มละลายของ FTX ซึ่งได้ยื่นเรื่องต่อศาลสหรัฐตามมาตรา 11 เพื่อขอการพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลายเมื่อวันที่ 11 พ.ย.2565 โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นไม่นานหลังจากไบแนนซ์ (Binance) ซึ่งเป็นบริษัทซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีรายใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศยกเลิกข้อตกลงซื้อกิจการ FTX ในช่วงเวลานั้น
การล้มละลายดังกล่าวส่งผลให้ทั้ง FTX และนายแบงค์แมน-ฟรีดเผชิญกับการสอบสวนจากทั้งหน่วยงานของสหรัฐและบาฮามาสซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ FTX
ทั้งนี้ FTX ก่อตั้งเมื่อปี 2019 (พ.ศ.2562) โดยนายแซม แบงค์แมน-ฟรีด หรือที่รู้จักกันในวงการคริปโตในนาม SBF ร่วมกับนายแกรี หวัง (Gary Wang) เพื่อนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย MIT
นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) เคยจัดอันดับให้ SBF รวยที่สุดในอันดับ 2 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน ณ ขณะนั้น ที่ 24,000 ล้านดอลลาร์ ในฐานะมหาเศรษฐีคริปโตโลก โดยเวลานั้นเขามีอายุเพียง 30 ปี ส่วนบริษัท FTX เคยมีมูลค่าสูงกว่า 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ลูกค้าหลักของบริษัทเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่ซื้อขายในจำนวนมาก ๆ ต่อมาภายหลังเกิดปัญหาขึ้น โดยจุดเริ่มต้นการล้มละลายของ FTX เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ความตื่นตัวด้านสกุลเงินดิจิทัลของโลกที่ลดลง สะท้อนจากราคาบิตคอยน์ (BTC) ที่หดหายไปเกินกว่าครึ่งในช่วงเวลานั้น และการที่ FTX นำเหรียญดิจิทัลที่ตัวเองสร้างขึ้นภายใต้ชื่อ FTT ไปค้ำบริษัทในเครือของตัวเองที่ชื่อAlameda Research ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำรายได้ในการกินส่วนต่างการเทรดคริปโต ทำให้นักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจ
FTX ยื่นล้มละลายและขอฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 11 พ.ย.2565 เคราะห์กรรมไม่จบเพียงเท่านั้น ขณะที่นายแบงค์แมน-ฟรีด หรือ SBF ประกาศลาออก มีข่าวร้ายตามมา (12 พ.ย.65) ว่า FTX ถูกแฮกโดยคนร้ายฝังมัลแวร์และโทรจันไวรัสที่จะเข้ามาแบบไม่มีพิษภัย แต่จะแอบเปิดให้ไวรัสตัวอื่น ๆ เข้ามาจู่โจมระบบได้ด้วย หลังจากนั้น ผู้ใช้ FTX หลายคนพบว่าเงินในบัญชีของตัวเองกลายเป็น 0 ทั้งในเว็บและในแอปพลิเคชัน ทำให้เว็บไซต์ FTX ต้องแจ้งปิดการฝาก-ถอนเงินชั่วคราวในวันถัดมา
การล้มละลายของ FTX ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้แก่ นักลงทุนรายย่อยที่ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มของ FTX และส่งผลกระทบต่อไปยังนักลงทุนของสถาบันการเงินและกองทุนต่าง ๆ ทั้ง SoftBank ของญี่ปุ่น Temasek ของสิงคโปร์ และอีกหลายกองทุนในทวีปอเมริกาเหนือ
ข้อมูลอ้างอิง