1 เดือน “ฟรีวีซ่าถาวร" ไทย-จีน ยกระดับกระชับความสัมพันธ์หลากมิติ

04 เม.ย. 2567 | 18:57 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2567 | 03:07 น.

ความตกลงยกเว้นวีซ่าไทย – จีน มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2567 ผ่านมากว่า 1 เดือนแล้ว สื่อจีนเช่น สำนักข่าว Xinhua และ China News ได้เผยแพร่บทความภายใต้หัวข้อ “หนังสือเดินทางจีนได้รับความนิยมมากขึ้น จีน -ไทยเข้าสู่ยุคแห่งการยกเว้นวีซ่า” สรุปเป็นประเด็นน่าสนใจ ดังนี้

บทความภายใต้หัวข้อ "หนังสือเดินทางจีนได้รับความนิยมมากขึ้น จีน -ไทย เข้าสู่ยุคแห่ง การยกเว้นวีซ่า" ที่ตีพิมพ์โดยสื่อของทางการจีนอย่างสำนักข่าวซินหัว และไชน่า นิวส์ สรุปประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ไทย-จีน ในมิติต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจว่า  

  1. จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของไทย มีการลงทุนในไทยมากที่สุด และเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่สุดของไทย
  2. ไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่สามของจีนในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยสินค้าเกษตรของไทย เช่น ข้าวสาร ยางธรรมชาติ และผลไม้เขตร้อน ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดจีน
  3. นโยบายการยกเว้นวีซ่าระหว่างกันจะมีผลให้การทำธุรกิจ การศึกษา และการท่องเที่ยวของประชาชนทั้งสองฝ่ายมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
  4. ไทยมีมาตรการเตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวจีน เช่น การเปิดใช้งานอาคารผู้โดยสารใหม่ สนามบินสุวรรณภูมิ การเพิ่มจำนวนเที่ยวบินไทย-จีน รวมถึง กรุงเทพมหานคร-คุณหมิง/เฉิงตู และการเปิดบริการชำระเงินผ่าน Wechat Pay ของ BTS สายสีเขียวทั้งสองเส้น

ตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา จำนวนนักท่องเที่ยวจีนอายุ 55 ปีขึ้นไป เที่ยวต่างประเทศมากขึ้นซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19

ข้อมูลจาก บริษัท Qunar.com ชี้ว่า หลังเทศกาลหยวนเซียว ฝนและหิมะตกในหลายพื้นที่ของจีนได้หยุดตกและอากาศเริ่มอุ่นขึ้น และพบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2567 เป็นต้นมา จำนวนนักท่องเที่ยวจีนอายุ 55 ปีขึ้นไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ โซล โตเกียว โอซาก้า ฮ่องกง ภูเก็ต โคตาคินาบาลู และเมลเบิร์น

การบินพลเรือนจีน (CAAC) แถลงว่า ในช่วง 12 - 18 กุมภาพันธ์ 2567 บริษัทสายการบินจีนและต่างประเทศได้ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศกว่า 5 พันเที่ยว (ไป-กลับนับเป็น 1 เที่ยว) ซึ่งฟื้นตัวสู่ระดับร้อยละ 70.7 ของช่วงก่อนโควิด-19

ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 มีเที่ยวบินระหว่างไทย-จีนทั้งหมด 7,746 เที่ยว คิดเป็นร้อยละ 64 ของช่วงก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด

นอกจากนี้ จีนได้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายหลังยุคโควิด-19 และให้ความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2564 - 2568) ซึ่งได้เน้นย้ำแนวทางนโยบายเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น การผลักดัน high quality development, การส่งเสริมการปฏิรูปและการเปิดประเทศ และการพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งนี้ จีนยังมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ได้แก่

  1. เขตเศรษฐกิจสำคัญ การบูรณาการของกรุงปักกิ่ง – นครเทียนจิน – มณฑลเหอเป่ย (Beijing – Tianjin – Hebei Integration หรือ จิง – จิน – จี้)  ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์แรกระดับภูมิภาคที่ประธานธิบดี สี จิ้นผิง ผลักดันในช่วง 10 ปี (พ.ศ. 2557 – 2566) โดยมีผลงานเด่น เช่น การคมนาคม การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเชื่อมโยงทางธุรกิจ โดยปัจจุบันมีการเชื่อมโยงเมืองหลักในพื้นที่ด้วย “วงแหวนคมนาคม 1 – 1.5 ซม.”
  2. ความเป็นเมือง (Urbanization) ณ สิ้นปี พ.ศ. 2566 อัตราการพัฒนาความเป็นเมืองของจีนอยู่ที่ร้อยละ 66.16 ซึ่งถือว่าบรรลุเป้าหมายที่กำหนดในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2564 -2568) ล่วงหน้าถึง 2 ปี
  3. การพัฒนาระบบคมนาคม ในปี พ.ศ. 2566 จีนมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่เปิดให้บริการใหม่ 2,776 กิโลเมตร มีสนามบินการขนส่งทางอากาศทั้งหมด 259 แห่ง และระบบไปรษณีย์ได้เชื่อมโยงทุกหมู่บ้านในจีน ทั้งนี้ การคมนาคมของจีนได้เปลี่ยนผ่านสู่รูปแบบอัจฉริยะและสีเขียวมากขึ้น เช่น เครือข่ายสัญญาณเส้นทางรถไฟความเร็วสูงอัจฉริยะ ท่าเรืออัจฉริยะ และรถเมล์พลังงานไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 77.6 ของรถเมล์ทั้งหมด ทั้งนี้  เรือสำราญลำแรกของจีนและเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ C919 ได้เริ่มให้บริการในเชิงพาณิชย์แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น จีนจะผลิตขบวนตัวอย่างและเริ่มทดสอบรถไฟความเร็วสูงรุ่น CR450 ที่มีความเร็วสูงสุด 450 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2567

จากมาตรการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน ถือเป็นโอกาสอย่างสูงที่ไทยจะได้นำเสนอสินค้าและการบริการที่เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวจีน เช่น เรียนมวยไทย ชิมอาหาร Street Foods ดำน้ำ นวด ฯลฯ  และพัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นเพื่อมอบประสบการณ์ที่น่าประทับใจไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวชาวจีนแต่รวมถึงนักท่องเที่ยวจากชาติอื่น ๆ ด้วย

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพทางการใช้จ่ายที่ดี ททท. เผยว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนที่ไทยช่วงวันที่ 10-16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีจำนวนสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 244,000 คน และมากกว่าถึง 6 เท่าของปี พ.ศ. 2566 คิดเป็นปริมาณการใช้จ่ายรวมประมาณ 8,600 ล้านบาท หรือ 239 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2566 ที่มีมูลค่าการใช้จ่ายเพียง 1,300 ล้านบาทเท่านั้น 

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต เป็นความร่วมมือระหว่างฐานเศรษฐกิจ กับศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ / ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง